โครงการ “อุบลโมเดล” คือจุดเริ่มการทำงานด้วยกลไกตลาดนำการผลิต ซึ่งสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ดำเนินงานกับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ต.กู่จ่าน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร จำนวน 60 คน พื้นที่ปลูกรวม 354 ไร่ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพดี ซึ่งในปี 2565 สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 1.3 ล้านบาท จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 4 ตัน/ไร่ จากเดิม 3 ตัน/ไร่ แม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ด้วยราคารับซื้อมันสำปะหลังอินทรีย์ที่สูงและต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ในปี พ.ศ.2565 สวทช. ได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ภายใต้ “โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอำนาจเจริญ” หรือ “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม”

ภายใต้กลไกตลาดนำการผลิต สท. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต ทั้งการเลือกใช้สายพันธุ์ที่เหมาะสม การตรวจและวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจ Smart NPK การปรับปรุงบำรุงดิน การผลิตปุ๋ยหมักและการใช้ชีวภัณฑ์ การใช้ชุดตรวจโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังในภาคสนาม ขณะที่บริษัทฯ ร่วมติดตามการใช้เทคโนโลยีของเกษตรกรและสนับสนุนค่าใช้จ่ายตรวจประเมินมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยบริษัทฯ กำหนดราคารับซื้อมันสำปะหลังอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนปีแรกราคา 2.9 บาท/กก. ปีที่สองราคา 3.4 บาท/กก. และหากมีเปอร์เซ็นต์แป้งเกิน 25% บริษัทฯ จะรับซื้อเพิ่มอีกเปอร์เซ็นต์ละ 10 สตางค์/กก.

ด้วยพื้นฐานของเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์บวกกับราคารับซื้อของบริษัทฯ เป็นแรงจูงใจให้กลุ่มเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกมันสำปะหลังโดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น การตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การผลิตและใช้ปุ๋ยหมักคุณภาพ การใช้แอพพลิเคชั่นแนะนำการใส่ปุ๋ยตามหลักวิชาการ เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง

จากการดำเนินงานด้วยกลไกตลาดนำผลิต ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้ความรู้และเทคโนโลยี ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุนการผลิตและคุณภาพผลผลิต ขณะเดียวกันบริษัทผู้รับซื้อได้รับวัตถุดิบคุณภาพและตรงตามความต้องการ

เมื่อ ‘ตลาดนำการผลิต’ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์