เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานเกษตรอำเภอวังเหนือ และองค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำ เปิด “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน” ณ สุขใจฟาร์ม ต.วังทรายคำ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พร้อมกิจกรรมถ่ายทอดความรู้การผลิตกล้าคุณภาพและการเพาะต้นอ่อน โดยมี นางวณิชดา ไชยศิริ นายอำเภอวังเหนือ เป็นประธานเปิดงาน

“เราเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีองค์ความรู้เกษตรอะไรเลย ได้แต่ดูจากยูทูป กูเกิ้ล ซึ่งไม่สามารถให้องค์ความรู้กับเราได้ 100% จนได้ไปอบรมการผลิตผักอินทรีย์คุณภาพกับ สวทช.-ม.แม่โจ้ เป็นองค์ความรู้ตามหลักวิชาการ เอามาปรับใช้กับพื้นที่ของเรา ได้ลองผิดลองถูก จนปีนี้เข้าสู่ปีที่ 6 เราพร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้เผยแพร่ความรู้ให้คนในชุมชนได้ผลิตผักอินทรีย์มีคุณภาพ เราเชื่อว่าความรู้ที่ได้ทำให้คุณภาพของผักและคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นได้จริงๆ” นายภัทรพล วนะธนนนท์ เกษตรกรรุ่นใหม่และเจ้าของฟาร์ม “สุขใจฟาร์ม” สะท้อนความรู้สึกในวันที่ฟาร์มของเขากลายเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชน

ภัทรพล เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ร่วมอบรมหลักสูตร “การผลิตผักสดและการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้เอง” ของ สท. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อปี พ.ศ. 2562 และได้นำความรู้ที่ได้กลับไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่ตนเอง จนสามารถผลิตผักอินทรีย์คุณภาพจำหน่ายในตลาดชุมชนและโมเดิร์นเทรด นอกจากนี้ยังได้ส่งต่อทั้งความรู้ อาชีพและรายได้ให้กับชุมชนทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ (คลิกอ่านเพิ่มเติม https://bit.ly/3Z3YWxh) รวมทั้งสร้างเครือข่ายการผลิตผักอินทรีย์คุณภาพ จนเกิดเป็น “วิสาหกิจชุมชนคนรุ่นใหม่หัวใจอินทรีย์” โดยมี ภัทรพล เป็นประธานกลุ่มฯ

“หัวใจดวงเล็กๆ หลายดวงบนโลโก้ของกลุ่มฯ เป็นตัวแทนความตั้งใจของพวกเราคนรุ่นใหม่ที่รวมกันเป็นหนึ่ง ร่วมกันปลูกผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ”   

จากผืนนาราว 2.2 ไร่ของผู้เป็นแม่ ภัทรพล ได้ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือนและนอกโรงเรือน ทั้งผักตระกูลสลัดและมะเขือเทศ  

“หลายปีที่ผ่านมา เราเป็นหนูทดลองยา เอาผืนนามาผลิตผัก เราเชื่อว่าถ้าเราผลิตผักที่มีคุณภาพได้จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำนาได้ปีละครั้ง แต่เอามาผลิตผัก ทำให้มีรายได้ทั้งปี และมีความสุขทั้งสุขภาพกายและใจ ปลอดภัยทั้งผู้กินและผู้ผลิต”

นอกจากเป็นแหล่งผลิตผักอินทรีย์คุณภาพแล้ว กระบวนการได้มาชองผักคุณภาพยังถ่ายทอดผ่านจุดเรียนรู้ต่างๆ ภายในฟาร์มแห่งนี้ ทั้งฐานเพาะกล้าผัก ฐานผลิตต้นอ่อน ฐานปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง และฐานผลิตแหนแดง

“ต้นกล้าเปลี่ยนชีวิตเราได้ สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างอัศจรรย์ และสิ่งที่ได้มากกว่าเม็ดเงิน ก็คือ ความสุขทางใจ ได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ ได้ร่วมกันทำสวนผัก เป็นกำไรชีวิตของเรา”

ต้นกล้าผักที่สมบูรณ์ในฟาร์มแห่งนี้เติบโตจากความตั้งใจของแม่หล้า เม็ดดี วัย 94 ปี ผู้เป็นแม่ของภัทรพล ที่ใช้เวลาครึ่งวันเช้าเพลิดเพลินกับการเพาะกล้าที่ทำได้ถึง 10 ถาด/วัน นอกจากได้กล้าที่สมบูรณ์ให้ลูกชายแล้ว ถาดเพาะกล้าของแม่ยังส่งต่อให้ฟาร์มอื่นๆ ในราคา 100 บาท/ถาด เป็นรายได้เสริมให้ผู้สูงวัยอีกด้วย   

“การทำกล้าเอง ลดต้นทุนการผลิตผักได้ เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพทำให้ได้กล้าดีและผลิตผักได้คุณภาพ ผักที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ลูกค้า เราก็มีรายได้เพิ่ม อยู่บ้านนอกปลูกผัก ก็ทำให้เราอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีความสุข”

จากคนที่ไม่มีความรู้ด้านเกษตร มาวันนี้ ภัทรพล เป็นแกนนำของกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันฟาร์มของเขายังขยับสู่ “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน” โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากองค์การบริหารส่วนตำบลวังทรายคำ และสำนักงานเกษตรอำเภอวังเหนือ ที่ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมีความรู้และขยายผลสู่กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มยุวเกษตรและชาวบ้านในพื้นที่

นอกจากกิจกรรมเปิด “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน: สุขใจฟาร์ม” อย่างเป็นทางการแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ “กล้า: ความสำคัญของการเพาะกล้าผักและการเพาะต้นอ่อน” โดยมีอาจารย์ทวีป เสนคำวงศ์ จากสาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งมีทั้งเกษตรกรในพื้นที่ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) กลุ่มยุวเกษตรโรงเรียนอนุบาลวังเหนือ กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน สมาชิกชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อน และสมาชิกชมรมคนพิการสายใยรักตำบลร่องเคาะ

“ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน” เป็นหนึ่งในผลผลิตของโครงการ “การพัฒนาศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมด้านการผลิตพืชผักในระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระยะที่ 1” เพื่อเป็นต้นแบบจุดเรียนรู้การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักสดคุณภาพและขยายผลสู่ชุมชน

# # #

จาก ‘ศูนย์ (0)’ สู่ ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ระดับชุมชน: สุขใจฟาร์ม’