สวทช. ได้ดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ ภายใต้นโยบายการใช้ความรู้เพื่อการจัดการที่ดีกว่า โดยการดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้นั้น สวทช. ได้กำหนดการจัดการความรู้เข้าไปอยู่ในกลยุทธ์ขององค์กร โดยเฉพาะกลยุทธ์การดำเนินการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม เป็นกิจกรรมหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของประเทศ พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำเป็นไปพร้อมกัน ผ่านระบบการจัดการที่สามารถรวบรวมความรู้และสามารถต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนางานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มีการผลักดันนโยบายการจัดการความรู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Balance Scorecard ในแผนที่กลยุทธ์ สวทช. ในมุมมองของความสามารถขององค์กร คือ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการความรู้ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญ โดยภายใน 5 ปี จะมีระบบฐานข้อมูลและระบบจัดการความรู้ (Knowledge Inventory) โดยเชื่อมโยงกับระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร ระบบบริหารงานบุคคล และระบบ Enterprise Content Management เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในการจัดทำแผนกลยุทธ์ ติดตามการปฏิบัติงาน ประเมินผลของ สวทช. และในมุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย/ลูกค้า การสั่งสม และบริหารจัดการความรู้และทรัพย์สินทางปัญญาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น คณะกรรมการการจัดการความรู้และทุนทางปัญญา สวทช. ได้ประกาศนโยบายการใช้ความรู้เพื่อการจัดการที่ดีกว่า เพื่อประกาศถึงวัตถุประสงค์ของนโยบาย แผนดำเนินงาน กลยุทธ์ และเป้าหมายที่ต้องการให้บรรลุตามนโยบายที่ตั้งไว้

NSTDA KM

สวทช. ได้มอบหมายให้ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเลขานุการคณะกรรมการจัดการจัดความรู้ สวทช. โดยมุ่งเน้นการรณรงค์ส่งเสริมให้บุคลากร สวทช. รายงานผลงานวิชาการของตนเองผ่านทางระบบ myPerformance การดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในกิจกรรมการจัดการความรู้ ทั้งการกำหนดนโยบาย การส่งเสริมประชาสัมพันธ์กิจกรรมการจัดการความรู้ สวทช.

NSTDA KM Roadmap
รูปแสดง Roadmap การจัดกิจกรรม KM ของ สวทช.

 

การดำเนินการนี้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. ได้ให้แนวทางการจัดการความรู้ของ สวทช. ไว้หลายส่วน โดยเฉพาะประเด็นวัฒนธรรมความรู้ สวทช. อันจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้คณะทำงานการจัดการความรู้ของ สวทช. กำหนดกลยุทธ์และวิธีการดำเนินงานได้สะดวก สอดรับกับแนวทางที่ผู้บริหารวางไว้ ทั้งนี้วัฒนธรรมความรู้ของ สวทช. มีรายละเอียดดังนี้

NSTDA KM

การดำเนินการในกิจกรรม KM มีกิจกรรมเสริมหลากหลาย เช่น การกำหนดมาตรฐานเอกสารดิจิทัลเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการจัดการความรู้ สวทช. การวิเคราะห์/ประเมินผลการดำเนินการ โดยบุคลากร STKS ได้ร่วมเป็น KM Auditor ร่วมตรวจสอบผลงานวิชาการพร้อมให้คำแนะนำการลงทะเบียนเพื่อการเลื่อนตำแหน่งของบุคลากร สวทช. และร่วมประชุมคณะกรรมการวิชาการ ส่วนงานกลาง นอกจากนี้บุคลากรของฝ่ายฯ ยังมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจจากหลากหลายหน่วยงานที่ติดต่อขอเข้าชมกิจกรรมการจัดการความรู้ สวทช. และเชิญบุคลากรของฝ่ายฯ ไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรม KM ของ สวทช. และแนวทางการประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการจัดการความรู้ เช่น

  • วันที่ 10 สิงหาคม 2554 กรมส่งเสริมสุขภาพจิตได้เชิญบุคลากรของฝ่ายฯ เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ "การจัดการความรู้กับระบบสารสนเทศในอนาคต" แก่บุคลากรของกรมฯ เนื่องในงานตลาดนัดความรู้สู่สุขภาพจิตดีครั้งที่ 6 ในระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2553 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร
  • วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จำนวน 20 คน เยี่ยมชมศึกษาดูงานกิจกรรมการจัดการความรู้
  • วันที่ 19 กรกฎาคม 2553 คณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 24 คน เยี่ยมชมศึกษาดูงานกิจกรรมการจัดการความรู้
  • วันที่ 22 มิถุนายน 2553 สำนักพัฒนาบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 50 คน เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร เพื่อนำไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
  • วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 21 คน เยี่ยมชมศึกษาดูงานกิจกรรมการจัดการความรู้
  • วันที่ 9 ตุลาคม 2552 คณะทำงานวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 30 คน เยี่ยมชม ศึกษาดูงานด้านการจัดการความรู้

นอกจากนี้ STKS ยังได้จัดทำเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมการจัดการความรู้ของ สวทช. ผ่านเว็บไซต์ สวทช. ภายใต้เมนู “กิจกรรมการจัดการความรู้” โดยมีเนื้อหาหลากหลาย ที่สำคัญได้แก่ กลยุทธ์ของ สวทช. ในส่วนของการจัดการความรู้ นโยบายนำทางกิจกรรม KM สวทช. นโยบายการจัดการความรู้ที่ดีกว่า วัฒนธรรมความรู้ สวทช. ข้อกำหนดการพัฒนาสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพ และการจัดการความรู้ด้วย OSS & Freeware เป็นต้น