เทคโนโลยีหลากหลายอย่างทั้งที่มีอยู่เดิมและอุบัติใหม่ ได้ปรากฏโฉมออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น OpenURL, Open Search, Web 2.0, Social Networking, Metadata, OAI-PMH โดยเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับการบริการห้องสมุด การจัดการเรียนการสอน และหลากหลายกิจกรรม ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา เลือกใช้ และให้แนวทางการประยุกต์ใช้ต่อหน่วยงานเครือข่ายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การจัดหลักสูตรฝึกอบรมสัมมนา การจัดทำเอกสารเผยแพร่ทั้งที่เป็นรูปเล่มและสื่อออนไลน์

National Open Source for Library

STKS ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือภายใต้ชื่อ NOSM - National Open Source for Library เพื่อหาแนวทางการคัดเลือก พัฒนา ต่อยอดการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สสำหรับห้องสมุดอย่างเป็นรูปธรรม ในปีงบประมาณ 2553 ได้เลือกซอฟต์แวร์ 2 ตัว ได้แก่ Koha สำหรับการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติแบบบูรณาการ (ILS - Integrated Library System) และ DSpace สำหรับการพัฒนาคลังความรู้ดิจิทัลของสถาบัน (Institutional Repository) เนื่องจากเป็นซอฟต์แวร์ที่ให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สูง (ทดแทนการจัดซื้อจัดหาซอฟต์แวร์ราคามากกว่า 100,000 บาทต่อระบบต่อหน่วยงาน) แต่มีความต้องการการพัฒนาปรับปรุงระบบ STKS จึงได้ร่วมกับเครือข่ายประชุมแนวทางการพัฒนา ปรับปรุงความสามารถของโปรแกรมทั้ง 2 และกำหนดแนวทางสร้างความยั่งยืน เช่น การส่งเสริมให้เกิดบริษัทที่สามารถรับช่วงการพัฒนาเพื่อการบริการต่อหน่วย งานที่สนใจใช้งาน อันเป็นการสร้างฐานเศรษฐกิจอีกแนวทางหนึ่ง
 

โดยประเด็นสำคัญจากการประชุมได้แก่ การศึกษาแนวทางร่วมกันในการพัฒนา ปรับปรุง Koha และ DSpace โดยเฉพาะการพัฒนาปรับปรุงในส่วนภาษาไทยทั้งการจัดเก็บ การแสดงผล การสืบค้น รวมทั้งการพัฒนาระบบเพื่อการใช้ในการเรียนการสอน เช่น การจัดทำ Live CD หรือชุดติดตั้งพร้อมใช้สอน/ใช้งานบนระบบปฏิบัติการ Linux นอกจากนี้จะมีการสนับสนุนให้เกิดบริษัทร่วมดำเนินการเพื่อรับต่อยอดการพัฒนาปรับปรุงให้กับผู้สนใจในอนาคต โดยมีบริษัทสนใจในเบื้องต้นจำนวน 4 บริษัท ได้แก่

  1. บริษัท Open Dream โดย นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา
  2. บริษัท ทริปเปิ้ล ไอที เซอร์วิส จำกัด โดย นายเศวต ศรีตลานุกต์
  3. บริษัท IT Bakery Co.,Ltd. โดย นายสว่างพงศ์ หมวดเพชร
  4. บริษัท SCP Group of Companies โดย ดร.รัชนี อึ้งรังษี

รวมทั้งได้กำหนดแผนศึกษาซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่มีการทำงานลักษณะเดียวกับ DSpace, Koha เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม โดยจากการทำงานร่วมกับบริษัท OpenDream สามารถพัฒนาความสามารถของซอฟต์แวร์จัดการห้องสมุดอย่าง OpenBiblio ได้เป็นผลสำเร็จ เรียกว่า OpenBiblio รุ่นหอไตร รวมทั้งการศึกษา Drupal ที่เป็นซอฟต์แวร์ทางเลือกในการพัฒนาฐานข้อมูลคลังความรู้ดิจิทัลบนฐานของ OAI-PMH และนำไปใช้ได้อย่างสมบูรณ์ใน สวทช. และ สกว.