การพัฒนาสื่อดิจิทัลรูปแบบต่างๆ เป็นที่ยอมรับและจำเป็นมากขึ้นทุกขณะ ประกอบกับกระแสการจัดการความรู้ ทำให้เกิดคลังความรู้ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น หากสื่อดิจิทัลได้รับการออกแบบ สร้างโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ไม่ได้มาตรฐาน ย่อมส่งผลต่อคุณภาพโดยรวมของสื่อดิจิทัลนั้นๆ และสาระเนื้อหาที่มากับสื่อดิจิทัล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบ สร้างสื่อดิจิทัลที่มีมาตรฐานทุกรูปแบบ และถ่ายทอดความรู้ให้กับเครือข่ายและผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประกาศใช้เป็นแนวปฏิบัติหนึ่งในกระบวนการจัดการความรู้ของ สวทช. อย่างเป็นรูปธรรม

โดยการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานสื่อดิจิทัล บุคลากรของฝ่ายฯ ได้รับนโยบายตลอดทั้งแนวปฏิบัติ และคำแนะนำจาก ผพว. (ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล) ให้จัดทำร่างนโยบายเอกสารสิ่งพิมพ์ สวทช. ร่างนโยบายเอกสารสิ่งพิมพ์ สวทช. เพื่อใช้ในการพัฒนาเอกสารสิ่งพิมพ์ สวทช. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้มาตรฐาน และสนับสนุนกิจกรรมการจัดการความรู้ของ สวทช. เนื่องจากการจัดการความรู้ของ สวทช. ตลอดทั้งการดำเนินงานต่างๆ มักจะอยู่ในรูปแบบของสื่อดิจิทัล เพื่อให้การสร้างสรรค์ ใช้งาน จัดเก็บ สืบค้น เรียกใช้งานภายหลังเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่สร้างภาระให้กับบุคลากรของ สวทช.

ฝ่ายฯ จึงได้จัดทำข้อกำหนดการพัฒนาสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพ อันเป็นแนวทางขยายผลจากร่างโนบายเอกสารสิ่งพิมพ์ สวทช. ที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เอกสารดิจิทัลของ สวทช. ฟอร์แมตต่างๆ สามารถจัดเก็บและนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้องในอนาคต อีกทั้งยังช่วยให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดิจิทัลเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เหมาะสม ช่วยลดเวลาในการทำงานที่ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ได้เผยแพร่ทั้งในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์ตัวเล่ม เนื้อหาผ่านเว็บไซต์ และกิจกรรมสัมมนาภายใน สวทช.

นอกจากการส่งเสริมภายใน สวทช. ฝ่ายฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการรณรงค์ส่งเสริมกับหน่วยงานภายนอก สวทช. โดยเฉพาะเครือข่ายความร่วมมือซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ดังเช่นการจัดให้กับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การจัดให้กับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทั้งสองหน่วยงานได้นำไปปรับและพัฒนาเป็นข้อกำหนดสื่อดิจิทัลของหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม