ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (Technical Information Access Center - TIAC) หน่วยงานที่มีบทบาทในการให้บริการสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีและเป็นผู้นำแนวคิด การตลาดในการบริหารจัดการหน่วยงานบริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์ โดยไม่หวังกำไร ริเริ่มการพัฒนาฐานข้อมูลของประเทศไทย ได้แก่ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย (Thai Theses) กระตุ้นให้มีการใช้สารสนเทศเพื่อการทำงาน และส่งผลให้เกิดการศึกษา ค้นคว้า วิจัยต่อยอดงานวิจัยในหน่วยงานวิจัยขั้นสูงและสถาบันระดับอุดมศึกษาได้อย่าง เป็นรูปธรรม

ประวัติ

ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณเงินกู้และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าโดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี เพื่อริเริ่มบริการฐานข้อมูล และข่าวสารสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ธุรกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศไทย ในรูปเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยน และใช้ทรัพยากรร่วมกัน ลดต้นทุนสารสนเทศต่างประเทศ จึงเป็นหน่วยงานบริการสารสนเทศแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดบริการเชิงพาณิชย์ที่ไม่หวังผลกำไร สร้างเครือข่ายห้องสมุดและผู้ใช้บริการ สร้างสรรค์บริการและเทคโนโลยีใหม่ บริการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์จากต่างประเทศ พัฒนาฐานข้อมูลบรรณานุกรมร่วมกับภาคีสมาชิก สามารถสนองความต้องการสารสนเทศและเติมเต็มแก่สังคมสารสนเทศและความรู้ภูมิปัญญาให้แก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กำหนดเปิดบริการในเดือนมกราคม 2533

23 พฤษภาคม 2532 การประชุมโครงการศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี

ในปี พ.ศ. 2550 ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี ได้มีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น "ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS: Science and Technology Knowledge Services) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับฝ่ายสังกัดสำนักงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มีที่ตั้งที่ 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"

  • เครือข่ายศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี
  • บริการสารสนเทศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย

งานชิ้นแรก ปี 2533 บริการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์

สำนักงานแห่งแรกของศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี เริ่มบริการเมื่อปี 2533 หลังจากที่ดำเนินการก่อตั้งและกำหนดนโยบายบริหารจัดการเป็นเวลา 2 ปี ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตรและเทคโนโลยี (Science and Technology Development Board-STDB) บริการฐานข้อมูลออนไลน์จากต่างประเทศจาก Dialog และ BRS บริการฝึกอบรมและแนะนำฐานข้อมูลออนไลน์จากต่างประเทศ บริการที่ปรึกษากลยุทธ์การสัมภาษณ์ผู้ใช้บริการ การสืบค้นฐานข้อมูลและการจัดบริการเอกสารเรื่องเต็ม บริการแบบเชิงพาณิชย์ ระยะแรกบริการฟรี ต่อมาคิดค่าบริการแบบไม่มีกำไร อาคารสำนักงาน ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซนทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว 804 ถนนพหลโยธิน บางเขน กรุงเทพฯ10900 โทร 541 1704-6 โทรสาร 276 1326

  • ผู้ใช้วันเปิดบริการวันแรก สิงหาคม 2533

ศาสตราจารย์ ดร.กำจร มนุญปิจุ ท่านแรกติดต่อด้วยตัวเองใช้บริการทีสำนักงาน วันเดียวกันอาจารย์ดรุณา สมบูรณกุล(AIT)ใช้บริการทางโทรสาร

ขยายงาน ปี 2534 บริการเอกสารฉบับเต็ม

ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี ย้ายสำนักงานไปที่ อาคารวิทยพัฒนา ชั้น 6 ห้อง 602 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซอยจุฬาลงกรณ์ 12 ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร 216 8801-4 โทรสาร 216 8800 www.tiac.or.th บริการเอกสารจากฐานข้อมูลCD-ROM Fulltextครั้งแรกในประเทศไทย บริการซื้อหนังสือและฐานข้อมูลCD-ROMจากต่างประเทศ บริการสืบค้นวารสารและฐานข้อมูลสหวารสารออนไลน์ ห้องสมุดเสมือนครั้งแรก รับจัดทำฐานข้อมูลให้ต่างหน่วยงาน และร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยของ 3 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำเครือข่ายฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย

  • สนองนโยบาย สวทช. โดยเข้าร่วมพัฒนาฐานข้อมูลสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดทำCD-ROM ฉบับแรกที่รวมเนื้อหาและรูปภาพจากสารานุกรมฉบับพิมพ์ทุกเล่มในCD-ROM 1 แผ่น
  • วารสารปัญญาวุธ โครงการST-NET โครงการเรียนออนไลน์ Cybertools for Research ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและสวทช.(TGIST)
  • ผู้นำDublin Core Metadata ใช้ครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดทำโครงสร้างฐานข้อมูลงานวิจัยของประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งชาติ(สวรส.)และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคนโลยี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการมีส่วนจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้โปรแกรมที่พัฒนาโดยคนไทยจัดทำเป็นซีดี-รอม รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2

ฐานข้อมูลไทย - ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย

ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี ได้ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร.ถาวร วัชราภัย ชักชวนบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดทำฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทยเพื่อรวมแหล่งข้อมูลเพื่อการสืบค้นเป็น ฐานข้อมูลเดียวกัน

30 มีนาคม 2536 - การสัมมนาเรื่องฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย จัดโดยศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานในพิธีเปิด ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการ สวทช. การสัมมนาประกอบด้วยการบรรยายและสาธิตฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย โดยวิทยากร ศาสตราจารย์ดร.ถาวร วัชราภัย และดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี และการอภิปรายเรื่องความต้องการข้อมูลสำหรับงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ โดย ศาสตราจารย์ดร.ถาวร วัชราภัย รศ.ดร.กำพล ศรีวัฒนกุล(คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล)และดร.สัญชัย ตันตยาภรณ์ (กรมวิชาการเกษตร)

ผลการสัมมนานำไปสู่ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย 12 แห่ง จัดส่งข้อมูลและอนุญาตให้จัดทำฐานข้อมูลบรรณนุกรมพร้อมบทคัดย่อภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษ ทุกสาขาวิชา เริ่มปี 2517 บริการสืบค้นออนไลน์จากศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี สืบค้นได้จากชื่อผู้แต่ง ชื่อวิทยานิพนธ์ สาขาวิชา ปีการศึกษาที่จบ คำสำคัญในบทคัดย่อ และชื่ออาารย์ที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยที่ร่วมเครือข่าย 12 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

มิถุนายน 2540 ประกาศอย่างเป็นทางการในการนำเสนอบริการฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย แบบCD-ROM

รายชื่อผู้บริหาร

  • ดร. สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล พ.ศ. 2531 - 2541
  • รศ. ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ พ.ศ. 2541 - 2544
  • นายขวัญชัย หลำอุบล พ.ศ. 2544 - 2545
  • นางสาวประดิษฐา ศิริพันธ์ พ.ศ. 2545 - 2551

ผลงาน

  • พ.ศ. 2533 ฐานข้อมูลออนไลน์ต่างประเทศ บริการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์จากต่างประเทศ และบริการฝึกอบรมแนะนำฐานข้อมูล บริการที่ปรึกษาการสืบค้นข้อมูล
  • พ.ศ. 2534 บริการเอกสารฉบับเต็มจากฐานข้อมูล CD-ROM ครั้งแรกในประเทศไทย บริการซื้อหนังสือและฐานข้อมูล CD-ROM จากต่างประเทศ บริการสืบค้นวารสารและฐานข้อมูลสหวารสารออนไลน์ ห้องสมุดเสมือน
  • พ.ศ. 2539 ห้องสมุดวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • พ.ศ. 2540 ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย โดยความริเริ่มร่วมกันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ. 2545 ห้องสมุดเสมือน คลังความรู้ จดหมายเหตุดิจิทัล ศูนย์ประสานงาน APIN-Unesco Asia Pactific Information Network
  • พ.ศ. 2546 JournalLink
  • พ.ศ. 2547 ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKC)
  • พ.ศ. 2549 สารสนเทศวิเคราะห์ แผนที่ความรู้ แผนที่สิทธิบัตร

เปลี่ยนชื่อและดำเนินงานในนาม ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

  • พ.ศ. 2550 บริการความรู้แบบเปิด
  • พ.ศ. 2551 web2 ขยายเครือข่ายจัดการความรู้ดิจิทัล ทำงานแบบไร้กระดาษ wiki
  • พ.ศ. 2552 สารานุกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเสรี