Headlines

ม.มหิดล ผลักดันสตาร์ทอัพผลิต RT-LAMP เวอร์ชัน 3 ครอบคลุมตรวจ OMICRON ผ่านการรับรองจาก อย.

          ตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฝ่าฟันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกเปิดมิติใหม่โดยแทนที่จะผลักดันนักศึกษาให้เป็นสตาร์ทอัพทีละราย สู่การส่งเสริมให้เกิดกลุ่มสตาร์ทอัพต่อยอดเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ได้จริงแบบบูรณาการ ก่อนการก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพใน scale ที่ใหญ่ขึ้นหลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งจะเป็นการร่วมผลักดันประเทศไทยให้สามารถก้าวสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมได้ทัดเทียมนานาประเทศต่อไป

          ตัวอย่างที่นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ กลุ่มสตาร์ทอัพ จากกลุ่มนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย นายกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ ที่ได้ต่อยอดพัฒนาชุดตรวจ RT-LAMP ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนปัจจุบันได้พัฒนาสู่เวอร์ชัน 3 ที่สามารถตรวจครอบคลุมสายพันธุ์ OMICRON และสายพันธุ์อื่นๆ ที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เฝ้าระวัง ได้แก่ DELTA, ALPHA และ BETA ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ คณะวิทยาศาสตร์ ประกอบกับการสนับสนุนจาก สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล

          “สายพันธุ์ OMICRON เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 จนทำให้สามารถเข้าไปจับกับเซลล์ในร่างกายได้ง่ายขึ้น ซึ่งการกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของเชื้อไวรัสโดยทั่วไป สำหรับชุดตรวจ RT-LAMP เวอร์ชัน 3 นี้นอกจากผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว ยังมีจุดเด่นที่ความไว และเวลาที่ใช้ตรวจที่สั้นกว่าสองเวอร์ชันแรก โดยมีความไวถึงร้อยละ 96.51 และใช้เวลาตรวจเพียง 30 นาที จากการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก (Nasal Swab) หรือการป้ายลำคอ (Throat Swab) สามารถดูผลการติดเชื้อได้จากการเปลี่ยนสีของน้ำยา ผลลบจะเป็นสีชมพูเหมือนเดิม แต่ผลบวกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ชุดตรวจ RT-LAMP นี้ใช้ตรวจเฉพาะในห้องปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งให้ความแม่นยำกว่าการตรวจด้วย ATK” นายกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ กล่าว

          อาจารย์ แพทย์หญิงรพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความห่วงใยประชาชนถึงการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ OMICRON ว่าสามารถทำได้ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างน้อย 2 เข็ม ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการที่อาจเกิดขึ้นจนถึงกับต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ได้ โดยควรปฏิบัติตามสูตรการฉีดวัคซีนต่อเนื่องที่ประกาศโดยกรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

          “การเตรียมพร้อมร่างกายก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ด้วยการควบคุมเบาหวาน ไขมัน ความดัน และน้ำหนักตัว จะทำให้เมื่อได้รับวัคซีนแล้วร่างกายจะแสดงปฏิกิริยาน้อยลง และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ดูแลสุขภาพไปด้วย ซึ่งการฉีดวัคซีนควรทำเมื่อพร้อม และในรายที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์” อาจารย์ แพทย์หญิงรพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด กล่าวทิ้งท้าย


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author