Dr. Elisabeth ผู้เชี่ยวชาญด้าน ไมโครไบโอม (MICROBIOME) และเจ้าของเว็บไซต์ Science Integrity Digest (https://scienceintegritydigest.com/) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมบทความเกี่ยวกับ Research Integrity มีบทความหนึ่งที่น่าสนใจ ที่เกิดจากข้อสังเกตของเธอ ที่เธอพบว่า Journal of Biological Regulators & Homeostatic Agents (JBRHA)  Volume 30, No. 2 ปี 2016 มีบทความวิชาการกว่า 20 บทความ ที่มีชื่อผู้นิพนธ์ 12 คน ซ้ำกัน และที่น่าแปลกคือไม่สามารถเข้าถึงบทความเหล่านั้นได้ในเว็บไซต์ของวารสาร ส่วนใหญ่ชื่อเรื่องของบทความมีความใกล้เคียงกัน มีความเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรรักษาโรคผิวหนัง โดยเนื้อหาอธิบายถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงินและโรคผิวหนังที่มีชื่อทางการค้าว่า Dr. Michaels® โดยเอกสารทั้งหมดได้รายงานผลการทดลองไปในทิศทางเดียวกันว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถรักษาอาการของโรคได้ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้นิพนธ์มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการวิจัย (Conflict of Interest, COI) หรือไม่ แต่ทั้งนี้บทความทั้ง 20 ฉบับ มีการเปิดเผยไว้ว่า ผู้นิพนธ์ทุกคนไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในบทความวิชาการนี้ (“Disclosure: All authors report no conflict of interest relevant to this article.”)

รูปที่ 1 รายชื่อบทความวิชาการ 20 บทความ ที่มีชื่อผู้นิพนธ์ซ้ำกันกว่า 12 คน

     บริษัท Frankl Pharma เป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Dr. Michaels® ภายใต้ชื่อ Soratinex, Zitinex และ Eczitinex มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นิพนธ์มีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับผลิตภัณฑ์ Dr. Michaels® อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น

  • ผู้นิพนธ์ Tirant และ Dr.Lotti มีชื่อปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของบริษัท Soratinex ซึ่งกล่าวว่า ผู้นิพนธ์ทั้ง 2 นี้ ทำงานและได้รับเงินจากบริษัท โดย Dr.Tirant มีรายชื่ออยู่ในฐานะผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาของทางบริษัท
  • เว็บไซต์ของบริษัท Frankl Pharma ในประเทศอิตาลี สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ระบุว่าบริษัท Frankl Pharma เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Tirant
  • ผู้นิพนธ์ Dr.Wollina Dr. Hercogová Dr. Lotti และ ผู้นิพนธ์อีก 3 ท่าน ได้ถูกอ้างถึงในเว็บไซต์ของ Frankl Pharma เช่นกัน

     จากข้อมูลข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้นิพนธ์อย่างน้อย 2 ท่าน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผลิตภัณฑ์ Dr. Michaels® จริง และมีผลประโยชน์ทับซ้อนจำนวนมากเกิดขึ้นกับการตีพิมพ์บทความวิชาการกว่า 20 บทความ

     นอกจากนี้ยังพบว่า มีบทความ 19 ฉบับ ที่ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการอนุมัติจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB Approval) ถึงแม้จะมีรายงานว่า อาสาสมัครได้ลงนามในแบบฟอร์มยินยอมเพื่อร่วมทดสอบ รวมถึงยังไม่ชัดเจนว่า อาสาสมัครอนุญาตให้ใช้ภาพถ่ายผิวหนังและใบหน้าในบทความวิชาการเหล่านี้หรือไม่

     ทั้งนี้อาจสรุปได้ว่า บทความวิชาการกว่า 20 บทความนี้ ไม่ได้รับการตรวจสอบ (Review) ที่ดี ผู้นิพนธ์มีความอคติหรือไม่เป็นกลางในการเขียนบทความ รวมถึงไม่มีความชัดเจนในการคัดเลือกอาสาสมัครเข้าร่วมทดสอบ และที่สำคัญผู้นิพนธ์ยังไม่เปิดเผยความสัมพันธ์ที่มีกับผลิตภัณฑ์ Dr. Michaels® อย่างไรก็ตาม Dr.Elisabeth ได้แสดงความคิดเห็นต่อบทความวิชาการทั้ง 20 ฉบับนี้ ลงในเว็บไซต์ PubPeer (เว็บไซต์ PubPeer คืออะไร.. อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลิก) ว่าผู้นิพนธ์ทุกคนควรเปิดเผย จำนวนเงินหรือสิ่งตอบแทนที่ได้รับจากบริษัท Frankl Pharma วิธีการคัดเลือกอาสาสมัคร และความสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครและบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ทดสอบ

     อย่างไรก็ตาม เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการวิจัยอาจยังถูกกล่าวถึงน้อยในประเทศไทย ทั้งนี้การที่ผู้วิจัยมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นยังไม่ใช่ความผิด แต่ต้องมีวิธีการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนที่เหมาะสม เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการวิจัย โดยวิธีการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ และร่วมพิจารณาถึงวิธีการจัดการที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามปัจจุบันการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ จะกำหนดให้ผู้นิพนธ์ทุกคนเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีในการวิจัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเงิน (Financial COI) และผลประโยชน์ทับซ้อนที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-financial COI) ซึ่งผู้นิพนธ์ทุกคนควรเปิดเผยให้วารสารและผู้อ่านรับทราบ เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาความเหมาะสมในการนำข้อมูลไปใช้หรือเผยแพร่ต่อไป

สามารถดาวโหลดเอกสารความรู้ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ได้ที่ คลิก

เอกสารอ้างอิง 

  1. A. eliesbik, “Conflict of Skinterest,” Science Integrity Digest, Oct. 09, 2020. https://scienceintegritydigest.com/2020/10/09/conflict-of-skinterest/ (accessed Jun. 28, 2021).
  2. U. Wollina et al., “A multi-centred open trial of Dr Michaels® (also branded as Soratinex®) topical product family in psoriasis”, Accessed: Jun. 28, 2021. [Online]. Available: https://pubpeer.com/publications/77714E938C6B27893381AFBAA27755
  3. “ICMJE | Disclosure of Interest.” http://www.icmje.org/disclosure-of-interest/ (accessed Mar. 12, 2021).