ที่มา
ที่มา
ด้วยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีพันธกิจในการสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม (RDDE) การพัฒนากำลังคน (HRD) และโครงสร้างพื้นฐาน (INFRA) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็น และการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์ (TT) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก ด้วยการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม เป็นพันธกิจหลักของ สวทช. การดำเนินงานวิจัยอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามแนวทางจริยธรรมการวิจัยจึงเป็นสิ่งส่งเสริมให้ผลงานวิจัยมีความน่าเชื่อถือและได้รับเชื่อมั่น ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น ความสามารถในการทำซ้ำผลงานวิจัย (Reproducibility) อาจมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ ทั้งในกระบวนการวิจัย ตั้งแต่การออกแบบการวิจัย การดำเนินการวิจัย ตลอดจนถึงการวิเคราะห์ผล และการรายงานผลการวิจัย อีกทั้งการบันทึกข้อมูล การเก็บรักษาข้อมูล และความสามารถในการเรียกคืนข้อมูลงานวิจัย ยังมีความสำคัญต่อการนำข้อมูลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการเป็นหลักฐานการดำเนินงานวิจัย นอกจากนี้ ความประพฤติที่รับผิดชอบด้านการวิจัย (Responsible Conduct of Research) ซึ่งหมายถึงการวิจัยอย่างซื่อสัตย์สุจริต มีสำนึกที่ดีในการทำงานวิจัย ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของงานวิจัยเช่นกัน โดยครอบคลุมถึง ความร่วมมือเชิงวิชาการ (Collaborative Science) การให้คำปรึกษา (Mentoring) การบริหารจัดการข้อมูล (Data Management) (ซึ่งรวมถึงการได้มาและการแบ่งปันข้อมูล) การคุ้มครองอาสาสมัคร (Human Research Protections) สวัสดิภาพสัตว์ทดลอง (Lab Animal Welfare) การตรวจทานงานวิจัย (Peer Review) การรับผิดชอบต่อการนิพนธ์ (Responsible Authorship) การไม่ขัดกันของผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และการไม่ประพฤติมิชอบทางการวิจัย (Research Misconduct)
สวทช. จึงได้จัดตั้งฝ่ายพัฒนาคุณภาพการวิจัย (R & D Quality Management Division; RQM) ขึ้นเมื่อปีงบประมาณ 2560 (ธันวาคม 2559) ด้วยเห็นว่า สวทช. ควรมีระบบ นโยบาย กระบวนการ และการจัดการกลาง ด้านการบริหารคุณภาพงานวิจัย สำหรับนักวิจัย สวทช. นักวิจัยในสถาบันเครือข่าย และนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช. เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินการวิจัยของ สวทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นไปในแนวทางมาตรฐาน ผลงานวิจัยมีความน่าเชื่อถือ
บทบาทหน้าที่
บทบาทหน้าที่
เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพการวิจัย การดำเนินงานวิจัยเป็นไปตามหลักจริยธรรม กฎหมาย และการทำงานที่มีมาตรฐาน ผลงานวิจัยสามารถทำซ้ำได้ ฝ่ายพัฒนาคุณภาพการวิจัยซึ่งดำเนินงานภายใต้การบริหารของคณะทำงานพัฒนาระบบคุณภาพการวิจัย มีบทบาทหน้าที่ดังตอไปนี้
- จัดทำนโยบายด้านคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย
- ติดตามสถานะมาตรฐานคุณภาพการวิจัย
- พัฒนากลไกการจัดการกลางสำหรับการบริหารคุณภาพการวิจัย
- สร้างความตระหนักและเผนแพร่ความรู้ด้านคุณภาพการวิจัยและกระบวนการทำวิจัยที่ดี (Good Practice of Research) ให้แก่บุคลากรวิจัย โดยการสื่อสาร ให้ความรู้ ยกตัวอย่างข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเรียนรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมรูปแบบต่างๆ
- พัฒนาแนวทางการดำเนินงาน (Guideline) สำหรับการพัฒนาคุณภาพการวิจัยตลอดกระบวนการวิจัย
- เสนอแนวทางการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาคุณภาพการวิจัย
- บริหารจัดการความรู้ด้านมาตรฐานคุณภาพสากล เช่น ISO, GLP, GMP, GCP เป็นต้น
- พัฒนากลไกการตรวจสอบคุณภาพ ความสามารถในการทำซ้ำผลงานวิจัย ก่อนการเผยแพร่หรือถ่ายทอดผลงาน
- จัดให้มีระบบประสานงานสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับระเบียบข้อบังคับและมาตรฐาน ได้แก่ อย. สมอ. มาตรวิทยา เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์