คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครสักคนที่ใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสี เสียงและเงินทองในเมืองกรุงมาค่อนชีวิต จะหันหลังให้ความสุขสนุกแล้วมาลงแรงปลูกผักที่บ้านเกิด ที่แวดล้อมด้วยแสง สีและเสียงของธรรมชาติ

สุขใจ คือชื่อเล่นของ ภัทราพล วนะธนนนท์ ที่แม่ตั้งให้ด้วยหวังให้ชีวิตลูกมีความสุข จากเด็กน้อยที่เติบโตในชุมชนเล็กๆ ของต.วังทรายคำ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ก่อนไปใช้ชีวิตในเมืองเชียงใหม่และโลดแล่นในวงการบันเทิงที่กรุงเทพฯ  พลิกชีวิตช่วงวัยกลางคนสู่อาชีพ “เกษตรกร” ที่ไม่มีใครคิดว่าเขาจะทำได้ เพียง 3 ปีบนเส้นทาง “เกษตรอินทรีย์” ผลผลิตคุณภาพของ ‘สุขใจฟาร์ม’ เดินทางสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด และยังสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ

จากประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้จัดการร้านถ่ายภาพที่จับงานเองทุกขั้นตอนกว่า 8 ปี นำทางสู่สายงานภาพยนตร์กับบริษัทดังในหน้าที่จัดหานักแสดง ทิ้งทวนชีวิตวงการมายาด้วยบทบาทผู้กำกับภาพยนตร์ก่อนกลับคืนถิ่นที่บ้านเกิด

“เราทำงานในวงการบันเทิงห้อมล้อมด้วยแสงสี ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย กินดื่มเที่ยวสารพัด ไม่ได้ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีพอ พอเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ไม่มีใครดูแลเราเลย คนที่ดูแลเราคือแม่และคนในครอบครัว ตลอดระยะเวลาที่อยู่โรงพยาบาล 7 วัน น้ำเกลือหยดติ๋งๆๆ มันคิดได้ น้ำตาไหลพร้อมกับหยดน้ำเกลือ ที่เขาเรียกว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา จากวันนั้นจุดความคิดว่าต้องกลับมาดูแลตัวเองให้มากที่สุด ไม่มีใครรักเราเท่ากับตัวเราเอง ออกจากโรงพยาบาลก็ยังทำงานต่อ แต่ไม่เที่ยวไม่ดื่ม ตัดทิ้งทันที แล้วหันมากินอาหารที่ดีมีประโยชน์”

กินดี ทำเอง ขายเอง

การเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพ หากยังจุดประกายให้ สุขใจ พลิกชีวิตตัวเองสู่อาชีพเกษตรกรเต็มตัวเมื่อปี 2560

“ช่วงที่ดูแลสุขภาพ อาหารที่เรากินก็พวกผัก เราก็ได้ดูผักตามตลาดในซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็คิดว่าอยากทำบ้าง เรามีที่ดินอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจากไป ไม่ได้กลับมาดูแล ก็วางแผนว่าสักวันจะกลับมาทำ แต่จะไม่เอาเรื่องเคมี ต้องการให้สิ่งดีๆ กับชีวิต เราต้องการดูแลสุขภาพตัวเองและดูแลแม่ ถ้าทำเกษตร เราจะทำยังไงให้เราอยู่ได้ด้วย

ที่บ้านแม่ก็ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง เรื่องเกษตรอินทรีย์ไม่มีใครทำ เรามีที่ดินแต่ทำไม่เป็น ก็ใช้เวลาเตรียมตัวเกือบปี หาความรู้จากยูทูป จากกูเกิล ทั้งเรื่องการสร้างโรงเรือน เกษตรอินทรีย์เป็นยังไง วิธีการปลูก หาข้อมูลไว้ แล้วก็เก็บเงินเพื่อสำรองไว้ตอนมาทำเกษตร การทำเกษตรช่วงแรกจะยังไม่มีรายได้ ยังไม่รู้ว่าจะขายใคร ตลาดเป็นอย่างไร แต่ในชีวิตประจำวันยังต้องกินต้องใช้ เราก็ต้องสำรองเงินในส่วนนี้ไว้และอีกส่วนสำหรับการลงทุนเบื้องต้น”

โรงเรือนปลูกผักหลังคาโค้งขนาดย่อมเป็นเครื่องมือแรกที่ สุขใจ ลงมือสร้างตามความรู้ที่ได้จากยูทูป เพื่อปลูก ผักกาดจ้อน พืชผักที่นิยมบริโภคในท้องถิ่น

“เป็นเพราะความไม่รู้และความโง่ เราเข้าใจว่าทำเกษตรอินทรีย์ต้องไม่ใช้ดินเดิม เราปูพื้นด้วยพลาสติก แล้วไปซื้อดินมาใส่ในแปลง คิดว่าดินที่เขาขายมันดีแล้ว ปลูกคร็อปแรกไม่ได้อะไรเลย ความร้อนด้านบนในโรงเรือนลงมา ไอร้อนจากด้านล่างก็มี ผักตายหมด เราดูจากยูทูปแล้วก็คิดว่าทำได้ ไม่ได้ไปดูงานหรือศึกษาจากพื้นที่จริง ดูแต่ในสื่อ มันมีหลายๆ อย่างที่เราไม่รู้ พอคร็อปแรกพัง ใจก็ยังสู้ รื้อพลาสติกออก ปรุงดินใหม่ ใส่ขี้วัวขี้ควายเข้าไป คร็อปสองเริ่มมีคำว่า “อ๋อ” เริ่มเห็นผลและก็ได้เรียนรู้ ผลผลิตออกมาสวย ต้นอวบ ได้เต็มแปลง ตอนนั้นได้ประมาณ 1,000 ต้น ก็ตัดไปขายในตลาดชุมชน”

ด้วยเป็นผักท้องถิ่นที่ชาวบ้านนิยม พ่อค้าแม่ค้าในตลาดวางขายผักกาดจ้อนมัดละ 5 บาท ขณะที่มือใหม่หัดปลูกและหัดขายตั้งราคาที่มัดละ 10 บาท พร้อมกับตั้งป้ายแนะนำ “สุขใจฟาร์ม ผักเกษตรอินทรีย์”

“แต่ก่อนเราเป็นผู้บริโภคที่ซื้อผักอินทรีย์ เราก็คิดว่าราคาขายต้องมีมูลค่าจากการดูแลที่ยากกว่า เราขายมัดละ 10 บาท มี 4-5 ต้น ราคาและปริมาณเท่านี้ก็น่าจะเหมาะสมกับต้นทุนที่เราผลิต แล้วเราตั้งใจบอกผ่านป้ายว่าเราปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ ใช้โรงเรือนแบบนี้ นานๆ ทีก็มีลูกค้าเข้ามาซื้อ อาจจะเห็นผักของเราต้นอวบกว่าร้านอื่น บางคนก็อยากชิมว่ารสชาติเป็นยังไง วันนั้นก็คิดว่าขายไม่หมด แต่อาจเป็นความโชคดี มีข้าราชการที่เกษียณแล้ว เห็นป้ายเรา ก็มาพูดคุย แล้วเด็ดผักเรากิน แล้วก็ให้เรากิน ถ้าเป็นอินทรีย์จริง คนปลูกก็ต้องกล้ากิน เราไม่ลังเลที่จะกิน เขาก็เลยมั่นใจและถามถึงวิธีการปลูก แล้วก็เหมาหมดเลย… ใจเราฟูขึ้น มีคนอย่างนี้จริงๆ ที่แสวงหาผักแบบนี้ เราเองต้องการทำเรื่องสุขภาพ ลูกค้าที่ต้องการแบบนี้ก็มีอยู่จริง เราก็ต้องทำให้ตอบสนองกลุ่มนี้”

ทำเกษตรให้อยู่ได้

แม้จะมั่นใจแล้วว่ามีลูกค้าที่ต้องการผักอินทรีย์ แต่การจัดการผลผลิตให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าและตอบโจทย์การทำเกษตรอินทรีย์จากครัวเรือนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เราไม่ได้เพาะต้นกล้าสำรองไว้ พอตัดขายก็หมด ทำให้ไม่มีต้นกล้าปลูกต่อเนื่อง ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะวางแผนปลูก แล้วก็เพิ่มโรงเรือนอีกหลังเพื่อปลูกผักชนิดอื่น เช่น ผักกาดหอม ขึ้นฉ่าย ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว ผักชี การไปออกตลาดทำให้เรียนรู้มากขึ้น ถ้ามีผักชนิดเดียว เราก็ขายได้เท่านั้น แต่ถ้าเรามีผักหลากหลายชนิด ตัวเลือกมากขึ้น นั่นก็หมายถึงรายได้มากขึ้น จากที่มีรายได้วันละ 100-200 บาท จากผักกาด 20 มัด ก็เพิ่มเป็น 300-400 บาท จากของที่หลากหลายขึ้น แม้จะเป็นของที่ราคา 5 บาท 10 บาท แต่รวมๆ กันแล้วมันก็ได้เยอะ

เราทำในครัวเรือน มีแม่ช่วยปลูก เพาะกล้า ถอนหญ้า เป็นงานที่แม่ชอบทำอยู่แล้วและได้ออกกำลังกาย แม่อายุ 91 ปี กำลังพอไหว ที่เรากลับบ้านคือตั้งใจมาดูแลแม่ ไม่ว่าจะอาหารการกินหรือสุขภาพ เมื่อก่อนเราเลี้ยงได้แต่อาหารกาย แต่อาหารใจ เราห่างหายไป เรากลับมาดูแลทั้งอาหารกายและอาหารใจ เราให้สุขภาพที่ดีคือ การให้กินผักที่ดีที่ปลูกเองกับมือ ไม่ปนเปื้อนสารเคมี เราปลูกเพื่อตัวเราและคนที่เรารักในครอบครัวได้กินก่อน สิ่งที่เห็นเพิ่มคือ รายได้ การอยู่บ้านนอกก็มีค่าใช้จ่ายนะ เราจะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายและรายได้บาล๊านซ์ (balance) ให้ได้ ก็คือ ปลูกกินแล้วก็เพิ่มการผลิตเพื่อขาย ให้มีรายได้กลับมาครัวเรือน”

นอกจากการเพิ่มชนิดพืชที่ปลูกและวางขายที่ตลาดแล้ว การใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก สื่อสารเรื่องราวการปลูกผักที่มาจากสองแรงในครัวเรือนและทำโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ช่วยสร้างการรับรู้และเพิ่มลูกค้าให้ ‘สุขใจฟาร์ม’

ลองและทำเรียนและรู้

เพราะไม่มีพื้นฐานการทำเกษตร การแสวงหาความรู้มาเติมเต็มจึงเป็นเรื่องที่ สุขใจ ให้ความสำคัญ จนเมื่อเขาได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมอบรม “การผลิตผักสดและการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้เอง” จัดโดย สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำให้เขาพบว่า สิ่งที่ไม่รู้ ได้รู้ สิ่งที่เป็นปัญหา มีทางแก้

“เป็นสิ่งที่ดีมากๆ จากที่เราไม่เคยมีพื้นฐาน จากที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้ เราได้ความรู้ครบทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่เพาะกล้าไปจนถึงเก็บเมล็ดพันธุ์ รู้จักแมลงตัวดีตัวร้าย เราถึงบางอ้อ มีแมลงตัวดีด้วยเหรอ แล้วที่เราใช้กาวดักแมลง เราไปกำจัดแมลงตัวดีตัวร้ายด้วย หรือแม้แต่เรื่องปุ๋ย เราไม่รู้ว่าต้องทำปุ๋ยหมักเอง ไปซื้อดินปลูกเขามาก็ไม่รู้ว่าเขาผสมอะไรบ้าง ไปดูการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองในวงตาข่าย …อ้าว มันทำง่ายแค่นี้เองเหรอ ที่บ้านฉันฟางก็มี หญ้าก็มี ขี้วัวขี้ควายก็มี ไปดูโรงเรือนเพาะกล้า วิธีการเพาะก็เอาดินใส่ตะกร้าแล้วก็เกลี่ยๆ โรยเมล็ด รดน้ำ จบ สามวันเมล็ดงอก ห้าวันแยกจากตะกร้า เลือกต้นที่แข็งแรงลงถาดเพาะ ได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์ พร้อมลงแปลงปลูกได้สวยงาม… โอ้ มันง่ายแค่นี้เองเหรอ ฉันต้องใช้คัตเตอร์บัดกับไม้จิ้มฟัน แหย่ลงไปทีละเมล็ด วันนึงได้แค่ 3 ถาด เสียเวลาไปตั้งเท่าไหร่ ที่ไหนได้มันง่ายแค่นี้เองเหรอ”

การอบรมสองวันเปลี่ยนความไม่รู้เป็นความรู้ที่จุดติดพลังให้ สุขใจ เดินหน้าปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตผักอินทรีย์ภายใต้บริบทพื้นที่ของตัวเอง

“ความรู้ที่ได้มามันตอบสนองเรา กลับมาทำเลย เพาะกล้าตามแบบอาจารย์ ทำปุ๋ยหมัก ต่อไปไม่ต้องซื้อดินปลูก อาจารย์พูดถูก ถ้าเราทำปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพจะลดต้นทุนให้เกษตรกรได้มาก แล้วเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เราทำเอง ได้คุณภาพที่ดี ปุ๋ยหมักที่เราทำเอามาเพาะกล้าได้ เราก็คิดอัตราส่วนของเรา ก็อย่างที่อาจารย์บอก ‘บ้านใครบ้านมัน สภาวะอากาศ น้ำ มีความแตกต่างกัน ถึงแม้คุณจะก๊อปปี้ของม.แม่โจ้มา 100% แต่พื้นที่ของคุณมีความต่างของอุณหภูมิ อากาศ มันก็จะไม่เหมือน 100% เพราะฉะนั้นคุณต้องไปประยุกต์ ไปปรับใช้ในพื้นที่ของคุณ’ เราก็เรียนรู้และปรับปรุงเป็นสูตรของเราเอง อย่างดินเพาะกล้าปัจจุบันก็ใช้ไบโอชาร์ ขุยมะพร้าว และปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 1:2:3 แต่ถ้าในแปลงปลูกก็ไม่ใส่ขุยมะพร้าว”

ความรู้จากการอบรมครั้งนั้นเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรอินทรีย์และเพิ่มรายได้ให้ ‘สุขใจฟาร์ม’ จากที่วางถาดเพาะกล้าบนพื้น เจอปัญหาหอยทากกัดกิน ขยับเป็นโรงเรือนเพาะกล้าต้นทุนต่ำที่ลงแรงสร้างเอง วิธีการเพาะที่ถูกต้อง ทำให้ได้ต้นกล้าสมบูรณ์ ย้ายลงปลูก ผักโตสวยงาม

“ความรู้ที่ได้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ เป็นวิชาที่เราต้องการและตอบโจทย์ได้ ต้นกล้าที่เราเพาะ คนก็เห็นจากในเฟซบุ๊ก ต่อยอดให้เราขายต้นกล้า เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างอัศจรรย์เลย จากเดิมคนที่นี่ปลูกผักสลัดต้องไปซื้อกล้าจากเชียงใหม่ เขาก็มาซื้อที่เรา ถาดละ 100 บาท ขายได้ 30-40 ถาด/เดือน เป็นเงิน 3,000-4,000 บาท แม่ก็มาช่วยทำ เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความใจเย็น แต่เป็นงานเบาๆ ที่ผู้สูงวัยสามารถทำได้ ตอนนี้เซียนล่ะ ทำได้สบาย เวลามีคนมาซื้อ แม่ก็ยิ้ม คือได้ตังค์ มีรายได้เข้ามา”

“เกษตรอินทรีย์” การันตีที่ “คนทำ”

3 ปีบนเส้นทางการทำเกษตรอินทรีย์ที่ลองผิดลองถูก ขยับขยายพื้นที่ผลิตจาก 1 งานในบ้านสู่แปลงนา มีพี่สาวพี่เขยมาช่วยงาน มาวันนี้ สุขใจ บอกว่าเข้าที่เข้าทางแล้ว และเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์การกลับมาอยู่บ้านนอกได้ นั่นคือ มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ปัจจุบัน ‘สุขใจฟาร์ม’ มีตลาดท้องถิ่นเป็นฐานหลักและขยายสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดที่เซ็นทรัล ลำปาง

“ใบรับรองการทำเกษตรอินทรีย์ ถ้าขอได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่มาตรฐานอีกอย่างที่มองไม่เห็นคือ การตรวจสารพิษตกค้างในห้องแล็บ เพราะมองด้วยตาเปล่าไม่รู้ ผักทุกชนิดจากสวนเราก่อนขึ้นห้างต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บ การขอใบรับรองต่างๆ บางทีใช้เวลา แต่สิ่งที่น่าจะเป็นตัวการันตีที่ดีก็คือ ตัวเกษตรกร ที่ต้องจริงใจต่อลูกค้า บริสุทธิ์ใจ ถ้าเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้าก็เหมือนหยิบยื่นสิ่งที่อาบยาพิษให้ลูกค้า เราทำเพื่อตัวเราและคนที่เรารัก และเราก็แผ่ความสุขเหล่านี้ให้คนภายนอก คือ ลูกค้าที่มาซื้อผักจากเรา ซึ่งลูกค้าตรวจสอบได้ มาดูที่สวนหรือดูจากเฟซบุ๊กเราได้ มีเรื่องราวกระบวนการผลิตผักที่เราทำ”

เมื่อมีตลาดที่แน่นอน มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ปริมาณผลผลิตและความต่อเนื่องของสินค้าจึงเป็นสิ่งที่ สุขใจ ต้องบริหารจัดการ

“ตอนนี้ปลูกที่สวนเราที่เดียวไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เราก็ต้องหาเครือข่าย คนที่จะทำต้องมีใจรักและมีความจริงใจ เงื่อนไขคือ ต้องทำอินทรีย์ 100% เอาต้นกล้าจากเรา ส่วนการเตรียมดินและวิธีปลูกเป็นแบบเขา เราจะไม่ชี้นิ้วสั่งว่าต้องทำแบบนี้ ทำตามแบบสวนใครสวนมันนั่นแหละ จะดีไซน์สวนยังไงก็แล้วแต่ ไม่บังคับ แต่ห้ามใช้สารเคมี เอากระบวนการที่เรียนรู้จากเราไปผลิต ถ้าทำได้และผ่านการตรวจสอบสารพิษตกค้างจากห้องแล็บ เราก็รับซื้อและส่งขายในนามสุขใจฟาร์ม”  

พี่รินนางพิมพกานต์ ทารักษ์ เป็นหนึ่งในเครือข่ายของ ‘สุขใจฟาร์ม’ จากจุดเริ่มที่ซื้อต้นกล้าไปให้แม่ปลูก นำมาสู่การสร้างอาชีพให้ “ชมรมคนพิการสายใยรักตำบลร่องเคาะ”

“พี่รินพิการแต่ใจสู้และรักสุขภาพ พี่เขาตัดผักไปขายที่ตลาด เราไม่ได้มองว่าพี่รินเป็นคู่แข่ง แต่เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีเลยที่คนพิการเขายังต่อสู้แบบนี้ มีอยู่ช่วงนึงพี่รินไปรักษาตัว ผักไม่ได้อยู่รอพี่รินมาตัดขาย ผักก็โตงาม เราก็เข้าไปช่วยดูและซื้อผักล็อตนั้นทั้งหมด เอาไปขายในตลาดท้องถิ่นและแบ่งไปส่งตรวจสารพิษตกค้าง ผลตรวจผ่าน ผักรอบต่อไปของสวนพี่ริน เราก็รับซื้อจากแม่พี่รินและส่งขึ้นห้างด้วย ซึ่งเขาได้ราคาเยอะกว่าไปขายที่ตลาด แม่พี่รินก็มีความสุข ตั้งใจปลูกผักส่งให้เรา และพี่รินไม่ต้องเหนื่อยไปขายที่ตลาด แม่อยู่บ้านคอยดูแลผัก ก็มีรายได้ ผักโต เราก็ไปตัดและคัดเกรดส่งขายห้างหรือตลาดท้องถิ่น คนพิการดูแลตัวเองไม่ได้ จะต้องมีผู้ช่วย ซึ่งเขาต้องเสียเวลาดูแลคนพิการ อยู่เคียงข้างตลอด ถ้าเราไปส่งเสริมให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น จุนเจือครอบครัวได้ คนที่ดูแลคนป่วยคนพิการ เขาก็มีรายได้ตรงนี้ เราอยากส่งเสริมแบบนี้มากกว่า ไม่ใช่แค่คนพิการ แต่ยังมีคนที่ต้องดูแลคนพิการ”

‘สุข’ ในแบบ “สุขใจฟาร์ม”

โลโก้ ‘สุขใจฟาร์ม” เป็นรูปหัวใจล้อมด้วยต้นผัก สื่อความหมายถึง “ให้ผักเธอด้วยใจ คนให้มีความสุข คนรับได้รับสิ่งที่ดี”

เราทำด้วยความเป็นตัวเรา ทำด้วยใจปรารถนาที่อยากจะทำ …ฉันจะทำผักอินทรีย์ทำยังไงให้มันดี ให้มันเริ่ด ให้มันสวยงาม ให้คนมากินผักเราแล้วติดใจ… พยายามคิดและพัฒนาตรงนี้ อะไรที่มันฝืนตัวเรา ทำให้ทุกข์  เราก็ไม่เอา ทุกวันนี้สุขใจแน่นอน เพราะเราอยู่กับผักที่มีแต่ความสดชื่น ความบริสุทธิ์ ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ดินทุกก้อน ผักทุกต้น ทุกลมหายใจ เราสูดด้วยอากาศบริสุทธิ์ เราก็มีความสุข และที่สำคัญ ปลูกผักอินทรีย์แล้วขายได้ อาชีพเกษตรกรถ้าเราเลือกเส้นทางที่ถูกต้อง มันก็เป็นเส้นทางที่ดีงามนะ อยู่ได้อย่างมีความสุข ทำให้ชีวิตเราอยู่สบาย มันเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของเรา เป็นตลาดสดของเรา จะกินผักก็ไปตัดกินสดๆ สะอาด อร่อยกว่า”

เกือบค่อนชีวิตที่อยู่กับความเย้ายวนของแสง สี เสียงในเมืองใหญ่ ความสนุกที่ต้องแลกกับสุขภาพกายและใจ เป็นจุดพลิกให้กลับมาอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบมากว่า 3 ปี ทุกวันนี้ความสนุกครื้นเครงจากเมืองใหญ่ก็ไม่อาจดึงให้ สุขใจ เดินกลับไปเส้นทางเดิม  

“แต่ก่อนติดอยู่กับโคลนตมที่ลึกถึงเอว ตอนนี้เราหลุดพ้น ล้างตัวสะอาดแล้ว เรื่องอะไรจะกลับไปเกลือกขี้ตมอีก ฉันก็เฉิดฉายไปทางอื่นสิ ให้สิ่งดีๆ กับตัวเรา ร่างกายสังขารมันก็เสื่อมโทรมอยู่แล้วล่ะ แต่เราอย่าไปเร่งมัน อยู่กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ดูแลให้ดีที่สุด จะทำให้เรามีกำลังไปไหนต่อไหนและมีความสุขได้

ที่มีทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการจาก สวทช. นะ ที่จัดโครงการให้เกษตรกรตัวเล็กๆ เด็กบ้านนอกคนนึง ไม่รู้ภาษีภาษา อยู่ในวงการแสงสีเสียง แล้วจู่ๆ ฉันโดดมาทำแบบนี้ โดยไม่มีพื้นฐาน แต่พอเราได้โอกาสจาก สวทช. ร่วมกับม.แม่โจ้ ร่วมกับนักวิชาการที่มีความรู้ถูกต้อง เราไปอบรมแล้วเอามาทำ ทำให้เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มันเป็นสิ่งที่ดี

คลิกชมคลิปวิดีโอ “ชีวิตสุขใจ”

หลักสูตร “การผลิตผักสดและการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้เอง” เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้โครงการการพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และผู้ผลิตผักสดและเมล็ดพันธุ์ในชุมชน ผ่านกระบวนการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางด้านเกษตรอินทรีย์ เรื่องการผลิตผักสดคุณภาพและการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ไว้ใช้เอง และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักสดคุณภาพ

‘กล้า’ สร้างสุข กับ ‘สุขใจฟาร์ม’