จากเวทีสัมมนา “STEM ศึกษากับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์” ในงานโครงการประชารัฐภักดี เกษตรอินทรีย์ตามรอยพ่อ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 จัดโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลางและเครือข่ายพันธมิตร ณ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลาง คุณกัลยารัตน์ รัตนะจิตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. คุณพเยาว์ พรหมพันธ์ใจ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 4 กรมวิชาการเกษตร คุณบุญถม กุมพล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี กรมพัฒนาที่ดิน และคุณแขลดา จิตปัญญา ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมสุขภาพ บริษัท สังคมสุขภาพ จำกัด

สะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และบูรณาการศาสตร์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง พัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต

“วิทยาศาสตร์ (Science) เป็นกระบวนการค้นหาความจริงที่ยึดหลักเหตุผล เทคโนโลยี (Technology) ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยให้เข้าถึงความรู้ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดกระบวนการผลิตที่ก้าวหน้าทันสมัย วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) เป็นการวางแผนและออกแบบที่เป็นระบบ การวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะใช้แก้ปัญหา และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เรื่องของตัวเลขและการคำนวณที่เกี่ยวข้อง” คุณกัลยารัตน์ รัตนะจิตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. ได้ขยายความศาสตร์ทั้งสี่ของสะเต็มศึกษา

“หลักการสะเต็มศึกษาใช้ได้กับทุกอาชีพ เพียงแต่ต้องหยิบเอาหลักการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือของเรา สิ่งที่ได้จากสะเต็มศึกษา คือ การทำงานที่เป็นระบบ” คุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลาง พูดถึงความสำคัญของสะเต็มศึกษา และได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลางที่ได้นำแนวคิดสะเต็มศึกษามาใช้กับการทำเกษตรอินทรีย์ ดังเช่น การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องดิน ซึ่งคนทำเกษตรอินทรีย์ต้องเรียนรู้ เมื่อรู้จักดินอย่างลึกซึ้ง จะรู้การบริหารจัดการดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช ใช้การจดบันทึกตัวเลขเป็นข้อมูลเพื่อวางแผนและออกแบบการปลูกและแก้ปัญหา รวมถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์มาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาสภาพดินและโรคพืชต่างๆ

“ความรู้สำคัญกับมนุษย์ ถ้ารู้อย่างเดียวไม่วิเคราะห์หรือสังเคราะห์ จะเป็นคนโง่ แต่ถ้าวิเคราะห์และสังเคราะห์จะเป็น “ปัญญา” แล้วลงมือทดลองทำก่อน พิสูจน์แล้วว่าถูก จึงจะเชื่อและส่งต่อคนใกล้เคียง อย่างเรื่องดิน ถ้ามีปัญหาปลูกแล้วผักไม่งาม เราก็ตรวจวัดค่าความเป็นกรดด่าง ความสมบูรณ์ของฮิวมัส เมื่อรู้ก็เติมอินทรีย์วัตถุเข้าไป เป็นหลักการวิทยาศาสตร์ แล้วใช้เทคโนโลยีจัดการดิน เอาพด.1 พด.2 มาเติม ปลูกไปมีโรคแมลง ก็ใช้น้ำหมักจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและเติมเต็มด้วยเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ เช่น ไส้เดือนฝอย บิวเวอเรีย ไวรัสเอ็นพีวี”

ขณะที่ คุณบุญถม กุมพล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี กรมพัฒนาที่ดิน หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่พัฒนาดินได้เน้นย้ำความสำคัญการทำเกษตร ไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเกษตรที่ควรทำความเข้าใจ คือ ดิน ต้องศึกษาเรื่องดินก่อน รู้จักดิน รู้จักปรับปรุงดินให้เหมาะสม โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อหยุดการใช้สารเคมีแล้วจะมีวิธีไหนที่จะทำให้ดินดีขึ้นได้บ้าง เป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องมีความรู้ ซึ่งการที่จะทำอะไร ความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ ต้องได้รับความรู้ที่ถูกต้องและไปทดลองปฏิบัติจนเห็นผล”

การส่งเสริมให้ทำปุ๋ยพืชสดโดยใช้พืชตระกูลถั่ว เช่น ปอเทือง หรือการส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักจากวัสดุการเกษตรในพื้นที่ควบคู่กับการใช้สารเร่ง พด. 1 ของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นความรู้และเทคโนโลยีที่กรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเสริมให้เกษตรกร ควบคู่ไปกับการให้บริการตรวจความเหมาะสมของดิน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เรื่องดินผ่านการพัฒนาความรู้ นวตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับ “หมอดินอาสา” ที่จะเป็นตัวแทนนำความรู้เรื่องดินไปสู่เกษตรกรให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง

ด้าน คุณพเยาว์ พรหมพันธ์ใจ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 4 กรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่กษตรกรต้องมีความรู้และเทคโนโลยีโดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปุ๋ยชีวภาพปรับปรุงดิน การป้องกันกำจัดศัตรูพืชรวมถึงการกำจัดโรคโดยเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ ไส้เดือนฝอยและเชื้อราไตรโครเดอม่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความรู้และเทคโนโลยีที่กรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรได้นำไปใช้

ขณะที่ คุณแขลดา จิตปัญญา ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมสุขภาพ บริษัท สังคมสุขภาพ จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม เลมอนฟาร์ม คู่ค้าที่ทำงานร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลางมาเกือบสิบปี ได้สะท้อนถึงการทำเกษตรอินทรีย์ว่า การทำเกษตรอินทรีย์เป็นการปลดล็อคให้ชีวิตมีอิสระ อิสระตั้งแต่เริ่มบอกตัวเองว่าจะพึ่งตนเอง ไม่เสพยาเคมีที่ทำให้เป็นหนี้ การทำเกษตรอินทรีย์จะไม่ยาก ถ้ามีเพื่อนมีกระบวนการที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดถ่ายทอดความรู้ ปัจจุบันเลมอนฟาร์มและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลางได้ทำกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee System) โดยใช้ระบบกลุ่มตรวจสอบรับรองกันเองเป็นการกำหนดมาตรฐานตรวจรับรองระหว่างเกษตรกร ผู้บริโภค หรือหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับรอง และยังมีการทำงานแบบกระบวนการกลุ่มซึ่งจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ในกลุ่มด้วย

“เมื่อไหร่ที่เกษตรกรลุกขึ้นมาเรียนรู้ เอาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ตัวเลข การตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณจะอยู่ได้ และอยู่อย่างเอาโลกยุคทุนนิยมเป็นเครื่องมือคุณ ไม่ใช่คุณเป็นเครื่องมือของทุนนิยม จากประสบการณ์ของตัวเอง อยากจะบอกเกษตรกรว่าถ้าจะทำเกษตรอินทรีย์ ทำได้แน่นอนโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หลักการทางวิศวกรรม และใช้ตัวเลขมาวิเคราะห์ จะตอบโจทย์การทำเกษตรอินทรีย์ได้”  คุณปิยะทัศน์ กล่าวทิ้งท้ายพร้อมสรุปการเรียนรู้สะเต็มศึกษาสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ ไว้ดังกลอน

ดินดีมีชัยไปเกือบครึ่ง                           ต้องนึกถึงทุกครั้งจำฝังจิต
ปรับดินให้เหมาะกับพืชยืดชีวิต        ใช้สักนิดกันผิดคิดก่อนทำ
น้ำดีมีส่วนควรตระหนัก                         เป็นตัวหลักจับตัวได้ไม่ถลำ
น้ำไม่ดีต้องแก้ไขไม่ฝืนทำ                 โปรดจงจำน้ำต้องดีถึงมีชัย
พันธุ์ดีชี้ชะตาว่าไปได้                           อย่ามักง่ายมองข้ามตามนิสัย
สักแต่ปลูกลูกเดียวเดี๋ยวก็ตาย          ผลสุดท้ายไม่ต้องทายตายแน่เลย
จัดการดีมีวิชาเงินตราพร้อม               สิ่งแวดล้อมพร้อมตายใจไม่นิ่งเฉย
ทั้งแรงงานการตลาดอย่าขาดเลย   จะสะเบยสูตรสำเร็จเกษตรไทย
เมื่อปลูกข้าวย่อมได้ข้าว…เจ้าจำไว้ ได้มากมั้ยอยู่ที่ใครใฝ่ศึกษา
สั่งสมเหตุพกพร้อมหลอมรวมมา     ในไม่ช้าพาเกิดผลได้ยลกัน
เร่งเรียนรู้คู่ฝึกตนผลจึงเกิด                เร่งเรียนเถิดเกิดมาคิดชีวิตสั้น
สวรรค์ให้ชีวิตเราเท่าเทียมกัน          คือหนึ่งวันทุกคนมียี่สิบสี่ชั่วโมง

# # #

เสวนา “สะเต็มศึกษากับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์”