เมล็ดใหญ่และสีสวยสดของถั่วเขียวในแพ็คสุญญากาศ สะดุดตานักช้อปสายสุขภาพให้หยิบจับ เมื่อบวกกับข้อความและตราสัญลักษณ์ “เกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล” ชวนให้หยิบจ่าย 40 บาท (ครึ่งกิโลกรัม) ได้ไม่ยากนัก ต้นทางของถั่วเขียวอินทรีย์นี้มาจากวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง ต.โพนเมืองน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพ และเริ่มหันมาจริงจังกับพืชหลังนาอย่าง “ถั่วเขียวพันธุ์ KUML” ได้ไม่นาน …เมื่อ “ถั่วเขียว” เป็นพืชหลังนาที่เกษตรกรคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่เหตุใดพวกเขาจึงให้ความสำคัญมากขึ้น และทำไมต้องเป็นถั่วเขียวพันธุ์ KUML

จากนาเคมีสู่นาอินทรีย์

“คนทำเคมีจะมองหญ้าเป็นศัตรู แต่ก่อนเราก็มองแบบนั้น ทำตามรุ่นพ่อรุ่นแม่ ทำนาให้ได้ข้าวเยอะๆ แต่ลืมนึกถึงสภาพแวดล้อม เป็นอันตรายไปหมด” วิรัตน์ ขันติจิตร สมาชิกวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง ย้อนความถึงวิถีการทำนาจากรุ่นสู่รุ่นที่พึ่งพิงสารเคมีเป็นหลัก จนเมื่อได้รับแนวคิดการทำนาที่ไม่ใช้สารเคมีจากการเข้าร่วมอบรมกับชุมชนสันติอโศก บวกกับราคาสารเคมีที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นแรงผลักสำคัญให้พวกเขาปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีการทำนา

“ปี 2542 เราก็รวมกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ หมักปุ๋ยกันเอง ช่วยกันทำแล้วแบ่งกันไปใช้ ข้าวที่ปลูกได้เมล็ดใหญ่ สวย เอาไปขายโรงสี เขาไม่เชื่อว่าปลูกเอง” บัวลี ขุมทอง อีกหนึ่งสมาชิกวิสาหกิจฯ เล่าจุดเริ่มของการรวมกลุ่ม หลังจากได้แนวคิดและแรงบันดาลใจจากที่ได้เห็นแปลงนาที่ไม่ใช้สารเคมี แม้การหักดิบไม่ใช้สารเคมีเลย จะทำให้ผลผลิตข้าวในช่วงแรกลดลง แต่พวกเขายังเชื่อมั่นที่จะเดินบนเส้นทางใหม่นี้  

“ถ้าเข้าใจอินทรีย์เหมือนที่พวกเราทำ มันง่ายกว่าเคมีเยอะเลย ปลูกข้าวแค่เตรียมดินให้ดีก็พอแล้ว และถ้าต้นกล้าแข็งแรง จะไม่มีแมลงมาทำลายหรือมีก็น้อย คนทำเคมีจะมองหญ้าเป็นศัตรู แต่ถ้าเราเข้าใจขั้นตอนการทำนาก็จัดการได้ อย่างนาหว่าน หญ้าขึ้นก็จริง พอเดือนสองเดือนมีน้ำมา เราตัดให้เสมอน้ำ มันก็จัดการได้ หรือเผาตอซัง เราจะเสียใจมากถ้าใครเผาตอซัง เพราะเรามองเป็นปุ๋ย ไถกลบก็ได้ปุ๋ยแล้ว” คำบอกเล่าของ วิรัตน์ สะท้อนถึงความคิดและความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังได้ลงมือทำ

เมื่อวิถีการผลิตข้าวปรับเปลี่ยน ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพขึ้น แม้ปริมาณจะไม่มากเท่าเดิม แต่ส่งจำหน่ายที่ตลาดชุมชนสันติอโศกและโรงสีข้าวในพื้นที่ จนเมื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่งในปี พ.ศ. 2546 ทำให้พวกเขารู้ว่า ทำอินทรีย์ต้องมีตลาดอินทรีย์ และถ้าจะขายก็ต้องมีมาตรฐานรับรอง เป็นจุดเริ่มให้พวกเขาเรียนรู้และรับรองมาตรฐาน IFOAM ร่วมกับกลุ่มข้าวคุณธรรม จังหวัดยโสธร ก่อนที่ปี พ.ศ. 2559 จะแยกมารับรองมาตรฐานในนามของวิสาหกิจฯ เอง โดยได้รับรองมาตรฐาน EU และมาตรฐาน COR ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง มีสมาชิก 35 คน มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 750 ไร่ ชนิดข้าวที่ปลูก ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวมะลิแดง

คุณประมวล ขันธ์เพชร ประธานวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง
คุณนิลน้ำค้าง โคลนพันธ์ บริษัท บ้านต้นข้าวออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด
พืชหลังนา ทำไมต้อง ‘ถั่วเขียว’

“เกษตรกรจะมีความคิดว่าพืชไหนไม่ได้ขาย ไม่ต้องทำอินทรีย์ก็ได้ ซึ่งก็เสี่ยงที่เขาจะไม่ทำตามมาตรฐานและตกมาตรฐานอินทรีย์ เราก็เริ่มเข้ามาส่งเสริมพืชหลังนาและรับรองให้เขา” นิลน้ำค้าง โคลนพันธ์ อดีตสมาชิกวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง ที่ผันตัวมาจัดตั้งบริษัท บ้านต้นข้าวออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด และเป็นแนวร่วมการทำงานกับวิสาหกิจฯ ย้อนความถึงจุดเริ่มการส่งเสริมพืชหลังนาอินทรีย์

“แต่ก่อนมาตรฐาน EU แค่แนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่ว แต่ปัจจุบันบังคับให้ปลูก การทำเกษตรอินทรีย์ ต้องไถกลบฟางกันอยู่แล้ว ดังนั้นการปลูกถั่วเพิ่ม ไม่ได้เป็นภาระของเขา ต้นทุนของเขาคือ ได้ปุ๋ยใส่นา ผลผลิตถั่วที่ได้เป็นกำไรของเกษตรกร”

จากเดิมที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เกษตรกรมักปล่อยที่นาทิ้งไว้ หรือบ้างก็หว่านถั่ว บ้างก็ปลูกแตงโม แต่หลังจากที่ นิลน้ำค้าง เข้ามาส่งเสริม รับรองมาตรฐานและหาตลาด ทำให้เกษตรกรเริ่มปลูกพืชหลังนาจริงจัง ทั้งหอมแดง กระเทียม มันเทศญี่ปุ่น แตงโมและถั่วเขียว

“เราดูว่าเกษตรกรแต่ละโซนถนัดปลูกอะไร ก็จะส่งเสริมตัวนั้น ไม่เปลี่ยนวิถีเขา ที่โนนค้อทำถั่วเขียวได้ ก็ให้ทำ แต่ก่อนปลูกแตงโม ทุกวันนี้เป็นถั่วเขียว เพราะแตงโมดูแลยากกว่า ปลูกถั่วเขียวแล้วได้บำรุงดิน แปลงที่ทำถั่วเขียว ทำนาข้าวรอบต่อไปจะใส่ปุ๋ยน้อยลง แล้วยังขายผลผลิตถั่วได้ด้วย เกษตรกรจึงแฮปปี้กับถั่วเขียว”

นอกจากถั่วเขียวจะช่วยบำรุงดินแล้ว ยังช่วยตัดวงจรโรคและแมลงศัตรูในนาข้าวได้ ด้วยถั่วเขียวเป็นพืชใบกว้าง ข้าวเป็นพืชใบแคบ มีศัตรูพืชคนละกลุ่ม การปลูกถั่วเขียวสลับข้าวจึงลดความเสี่ยงโรคและแมลงศัตรู

ในหมวกของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและดูแลด้านตลาด นิลน้ำค้าง มองว่า ถั่วเขียวตอบโจทย์บำรุงดินและเก็บเมล็ดขายได้ ขณะที่ถั่วชนิดอื่น เช่น ถั่วพร้าขายไม่ได้ บำรุงดินอย่างเดียว ถั่วลิสงต้องใช้น้ำและปลูกไม่ได้ทุกพื้นที่ หรือถั่วดำ ทำตลาดยาก

ถั่วเขียว KUML ตอบโจทย์ตลาด โดนใจคนปลูก

จากการทำงานถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเกษตรอินทรีย์ของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับมูลนิธิสังคมสุขใจ (สามพรานโมเดล) และสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) เกิดการสร้างเครือข่ายการทำงานและเชื่อมโยงให้ สท. ได้รู้จักกับวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง และขยายผลการปลูกถั่วเขียวพันธุ์ KUML ในระบบเกษตรอินทรีย์

“พันธุ์ดี สุกแก่พร้อมกัน เก็บเกี่ยวง่าย เมล็ดโต สีสวย” คือนิยามที่สมาชิกวิสาหกิจฯ พูดถึงถั่วเขียว KUML หลังจากได้ลองปลูกมาสองฤดูกาล โดยในปีแรกได้รับเมล็ดพันธุ์ตั้งต้น 250 กิโลกรัม มีสมาชิกอาสา 10 คน พื้นที่ปลูกรวม 50 ไร่ ได้ผลผลิตรวมกว่า 3,000 กิโลกรัม และในปีที่สองเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็นเท่าตัว

“ช่วงปี 2564 สวทช. มานำเสนอพันธุ์ KUML สุกแก่ไล่เลี่ยกัน เก็บเกี่ยวง่าย ทนโรค เกษตรกรได้ฟังก็อยากลอง เมล็ดตั้งต้นที่ให้แทบจะไม่พอ ปีแรกก็เก็บเกี่ยวด้วยมือกัน พอปีที่สองกลุ่มฯ มีรถเกี่ยว ก็สะดวกขึ้น เก็บผลผลิตแล้วก็มาส่งที่บริษัทฯ ให้จัดการด้านตลาดต่อ” นิลน้ำค้าง เล่าถึงการเข้ามาของถั่วเขียว KUML ซึ่งผลผลิต 80% จะส่งเข้าโรงงานแปรรูปผลิตเป็นเส้นพาสต้า และอีก 20% จะบรรจุถุงสุญญากาศจำหน่ายออนไลน์และวางขายที่ร้านค้าเกษตรอินทรีย์

KUML เมล็ดใหญ่ แพ็คถุงวางขาย ลูกค้าเห็นก็ชอบ ตลาดแปรรูปต้องการถั่วเขียวมากโดยเฉพาะที่เป็นอินทรีย์ ต้องการปีละ 50 ตัน ส่วนมากเป็นตลาดส่งออก ซึ่งมีมาตรฐานกำหนดและให้ความสำคัญที่สีของเมล็ด อย่างโรงงานพาสต้าที่เราส่งให้ เขาเลือกรับจากเราเพราะ KUML สีสวย เขาพร้อมรับซื้อได้ปีละ 10-20 ตัน แต่ปีแรกเราส่งให้ได้เพียง 2 ตัน”

ในบทบาทพาร์ทเนอร์ด้านการตลาด นิลน้ำค้าง รับซื้อผลผลิตถั่วเขียว KUML กิโลกรัมละ 30-35 บาท ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งเข้าโรงงานแปรรูปพาสต้าของบริษัท ข้าวดินดี จำกัด ที่รับซื้อกิโลกรัมละ 40 บาท อีกส่วนนำมาแพ็คจำหน่ายกิโลกรัมละ 80 บาท

“แพ็คถุงขายได้ราคาดีก็จริง แต่ถั่วเขียวไม่ใช่อาหารหลักที่กินทุกวัน จึงไม่สามารถขายได้ครั้งละมากๆ เราขายไม่เกิน 200 กิโลกรัม และคัดผลผลิตจากเกษตรกรที่เก็บด้วยมือ”

จากที่เคยนำเข้าวัตถุดิบถั่วเขียวอินทรีย์จากประเทศจีน แต่หลังจากเกิดการเชื่อมโยงตลาดกับ นิลน้ำค้าง ปัจจุบัน บริษัท ข้าวดินดี จำกัด ผู้ผลิตพาสต้าอินทรีย์ได้รับซื้อถั่วเขียว KUML อินทรีย์จากวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่งเป็นหลัก แม้ปริมาณที่ได้จะยังไม่เพียงพอก็ตาม แต่การได้ช่วยเกษตรกรเป็นสิ่งที่บริษัทฯ คำนึงถึง

“ปริมาณวัตถุดิบไม่พอ เราก็ทำตลาดเท่าที่มีวัตถุดิบ ได้ช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งถั่วเขียว KUML จะมีขนาดเมล็ดคงที่ เมื่อนำมาบดเป็นแป้ง สีไม่เปลี่ยนแปลงมาก จะแตกต่างจากถั่วเขียวที่นำเข้าจากจีนที่คุณภาพเมล็ดและสีต่างกัน หากในช่วงราคาถั่วแพง ได้ถั่วขนาดเล็กเมื่อบดเป็นแป้งสีเข้ม แต่ถ้าเมล็ดโตสีอ่อน ทำให้สีของพลาสต้าที่ได้ค่อนข้างแตกต่างมาก”  วัชรากร กิจตรงศิริ ผู้บริหารบริษัท ข้าวดินดี จำกัด บอกเล่าถึงการเลือกใช้ถั่วเขียว KUML

คุณวัชรากร กิจตรงศิริ ผู้บริหารบริษัท ข้าวดินดี จำกัด
ผลิตภัณฑ์พาสต้าจากถั่วเขียว KUML อินทรีย์

ฟากของสมาชิกวิสาหกิจฯ แม้จะมีตลาดใหญ่รอรับผลผลิตถั่วเขียวอินทรีย์ปีละ 20 ตัน แต่กลับไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง

“มีโครงการถั่วเขียว KUML เข้ามา ทำให้มีกำลังใจที่จะทำ แต่ก่อนหว่านธรรมชาติ ไม่ได้ดูแล ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ก็ไปเก็บ แต่พอเราได้ความรู้จากโครงการก็เอาใจใส่มากขึ้นและมีรายได้เพิ่ม ถึงจะไม่ได้ขายผลผลิต เราก็ได้เมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ต่อและได้ปุ๋ยที่ดีสำหรับนาข้าว” ประมวล ขันธ์เพชร ประธานวิสาหกิจฯ สะท้อนความคาดหวังจากถั่วเขียว KUML ซึ่งในฤดูการทำนาปี 2565/2566 แม้ผลผลิตถั่วเขียวลดน้อยลง เนื่องจากสภาพอากาศเย็น ต้นถั่วชะงักการเจริญเติบโต แต่ผลผลิตข้าวของประมวลเพิ่มขึ้นเป็น 450 กิโลกรัม/ไร่ จากเดิม 300-320 กิโลกรัม/ไร่ ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย จากที่เคยใช้ 2-3 กระสอบ/ไร่ เหลือใช้เพียง 1 กระสอบ/ไร่

“วิธีดูแลจัดการถั่วเขียวไม่ยาก อยู่ที่สภาพอากาศอย่างเดียว ถ้าหว่านแล้วเจอหนาว ต้นถั่วก็จะชะงัก ส่วนโรคและแมลงก็มี แต่ไม่ถึงกับเป็นปัญหา ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ถ้าเห็นก็ถอนทิ้ง” วิรัตน์ ให้ข้อมูลการจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืชของถั่วเขียวอินทรีย์ เมื่อปลูกสลับกับข้าว ซึ่งเป็นพืชต่างตระกูลกัน จึงเลี่ยงปัญหาโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลผลิตปี 2566/2567 สมาชิกประสบปัญหาหนอนเข้าทำลาย ซึ่ง นิลน้ำค้าง ได้แนะนำให้สมาชิกใช้ชีวภัณฑ์กำจัดหนอน 

การปลูก “ถั่วเขียว” ของวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง ได้ตอกย้ำถึงคุณค่าของพืชหลังนาที่ช่วยบำรุงดินและส่งผลสำคัญต่อผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ผลผลิตถั่วเขียวยังเป็นรายได้เสริม ที่สำคัญยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้เอง สร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกร และยิ่งเมื่อผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ด้วยแล้ว มูลค่าและความต้องการทั้งข้าวอินทรีย์และถั่วเขียวอินทรีย์จึงทวีสูงขึ้น ย้อนกลับเป็นรายได้ที่งดงามให้เกษตรกร แต่สำหรับสมาชิกวิสาหกิจฯ พวกเขากลับมองว่า ความร่ำรวยหาใช่เป้าหมายที่ต้องไขว่คว้า

“ทำแล้วไม่คิดว่าจะรวย เป็นความมั่นคงของเกษตรกรที่อยู่ได้ด้วยตนเอง คนทำ คนกินและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยเป็นกำไรที่เยอะกว่า” ประธานวิสาหกิจฯ กล่าวทิ้งท้าย

ถั่วเขียว KUML อินทรีย์: คุณค่าที่มากกว่าพืชบำรุงดิน