เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สำนักงานเกษตรอำเภอหัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ และบริษัท ข้าวดินดี จำกัด จัดกิจกรรม “งานวันเก็บเกี่ยวถั่วเขียว KUML และเปิดตัวศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML อินทรีย์ระดับชุมชน กลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง: จากงานวิจัยสู่แปลงผลิตด้วยความรู้และเทคโนโลยี” ณ กลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง ต.โพนเมืองน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ โดยได้รับเกียรติจาก ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานเปิดงาน กิจกรรมครั้งนี้ดำเนินงานภายใต้ “โครงการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวคุณภาพสายพันธุ์ KUML ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

ภายในงานมีกิจกรรมเสวนา “กว่าจะเป็นศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML อินทรีย์ระดับชุมชน: กลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง” กิจกรรมตามรอยการผลิตถั่วเขียว KUML อินทรีย์ และนิทรรศการจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอำนาจเจริญ บริษัท ข้าวดินดี จำกัด สหกรณ์การเกษตรเลิงนกทาและไทยเจริญ จำกัด และบริษัท บ้านต้นข้าวออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด

กลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้รับรองรับรองมาตรฐาน EU และมาตรฐาน COR ผลผลิตของกลุ่มฯ ส่งจำหน่ายในตลาดยุโรปและอเมริกา ด้วยวิถีการผลิตข้าวอินทรีย์ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สมาชิกกลุ่มฯ จึงปลูกพืชตระกูลถั่วหลังเก็บเกี่ยวข้าว สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานอินทรีย์สากลที่ปัจจุบันระบุให้ต้องปลูกพืชตระกูลถั่ว ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2564 สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิต “ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML” พร้อมทั้งเมล็ดพันธุ์ตั้งต้นจาก สท. จำนวน 250 กิโลกรัม ปลูกในพื้นที่ 50 ไร่ ได้ผลผลิต 3,000 กิโลกรัม ผลผลิตส่งจำหน่ายให้บริษัท ข้าวดินดี จำกัด เพื่อแปรรูปเป็นพาสต้าถั่วเขียว นอกจากนี้กลุ่มฯ ยังผลิตและบริหารจัดการธนาคาร “เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML อินทรีย์” เพื่อเป็นคลังเมล็ดพันธุ์ให้สมาชิกและเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์

คลิกอ่าน “ถั่วเขียว KUML อินทรีย์: คุณค่าที่มากกว่าพืชบำรุงดิน”

สวทช. จับมือหน่วยงานพันธมิตรจัดงานวันเก็บเกี่ยวถั่วเขียว KUML อินทรีย์ พร้อมเปิดตัวศูนย์เรียนรู้ระดับชุมชน