สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ร่วมกับศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด และปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อใน 5 จังหวัดพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ สุรินทร์ ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ด้วย 3 กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีด้านการพัฒนาพันธุ์และการดูแลโคเนื้อ กลุ่มเทคโนโลยีด้านอาหารโคเนื้อ และกลุ่มเทคโนโลยีด้านมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อและการเพิ่มมูลค่าโคเนื้อ หลังจากเมื่อกลางเดือนมกราคมได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีปฏิบัติการตามโปรแกรมการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมโคเนื้อให้แม่พันธุ์โคเนื้อจำนวน 100 ตัวแรก ใน 5 จังหวัดพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ นักวิชาการ สท. พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานเครือข่ายได้ลงพื้นที่อีกครั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อถอด CIDR (CIDR: Controlled Internal Drug Release) และฉีดฮอร์โมน PG (Prostaglandin F2 Alpha) ให้แม่พันธุ์โคเนื้อและผสมเทียมตามโปรแกรมการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมโคเนื้อ ทั้งนี้ นวัตกรชุมชนด้านการผสมเทียมทั้ง 5 จังหวัดที่ผ่านการอบรมเป็นนักผสมเทียมชุมชนได้ร่วมเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติและเพิ่มทักษะวิธีการถอด CIDR การฉีดฮอร์โมน PG และการผสมเทียม จนเกิดความมั่นใจและสามารถปฏิบัติงานอาสาผสมเทียมให้ชุมชนต่อไปได้ เทคโนโลยีการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมโคเนื้อเป็นอีกเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับจัดการฝูงแม่พันธุ์โคให้ผลิตลูกโคเนื้อได้จำนวนมากในรุ่นเดียวกัน นำไปสู่ระบบการเลี้ยงและการขุนโคเนื้ออย่างเป็นระบบ ลดค่าใช้จ่ายการจัดการฟาร์ม เพิ่มรายได้จากการเสียโอกาสที่แม่โคทิ้งช่วงท้องว่างนาน และช่วยแก้ปัญหาแม่พันธุ์โคเนื้อผสมติดยาก ซึ่งภายใต้การดำเนินงานโครงการฯ ได้กำหนดแผนการผสมเทียมเพื่อยกระดับสายพันธุ์โคเนื้ออย่างน้อย 400 ตัว ให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด สท. ผนึกหน่วยงานเครือข่าย เดินหน้ายกระดับผลิตโคเนื้อในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ตั้งเป้าผสมเทียมโคคุณภาพ 400 ตัว Post Views: 417 Tagged on: ทุ่งกุลาร้องไห้ ผสมเทียมโค เทคโนโลยีเหนี่ยวนำการตกไข่ โคเนื้อ