“ผมไม่ได้มองว่าต้องประสบความสำเร็จที่รุ่นผม แต่ทำเพื่อสร้างพื้นฐานให้รุ่นต่อไป การทำเกษตรทุกวันนี้สาหัสทั้งจากการใช้ยาเคมี ปัจจัยการผลิตและภูมิปัญญาที่หายไป แล้วก็คนไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นต้นเหตุด้วย …อาชีพเกษตรยังต้องอยู่กับประเทศ ความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีจะสร้างความยั่งยืนให้เกษตรได้”

ชนะพล โห้หาญ อดีตพนักงานบริษัทที่หันมาทำสวนผลไม้ตั้งแต่ปี 2543 บนพื้นที่ 16 ไร่ของภรรยา ในตำบลตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี เริ่มต้นทำสวนมังคุดด้วยความรู้ที่เท่ากับศูนย์ อาศัยขอความรู้และทำตามเกษตรกรเพื่อนบ้าน แต่ผลผลิตกลับได้ไม่เท่าเขาและยังเสียหายมากกว่า

“ช่วง 3-4 ปีแรกยังใช้สารเคมี ทำสวนแบบไม่มีความรู้ ทำตามเขา ใช้ยาเคมี ก็ใช้ไม่เป็น จนมีช่วงที่เกษตรกรตื่นตัวเรื่องน้ำหมักชีวภาพ ได้ไปอบรม ก็รู้สึกว่าตรงจริตเรา ไม่ต้องซื้อ ใช้วัตถุดิบในสวนมาใช้ได้”

ชนะพล เริ่มใช้น้ำหมักชีวภาพในสวนโดยลดสัดส่วนการใช้สารเคมี เพื่อตอบโจทย์ “ทำอย่างไรให้ได้ผลผลิต” ซึ่งเขาก็ไม่ผิดหวัง และเห็นคล้อยตามเกษตรกรคนอื่นที่ว่า “ผลผลิตดีขึ้นเพราะน้ำหมัก” แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 8 ผลผลิตลดลงเหลือ 1.5 ตัน/ไร่ และพบคำตอบว่าน้ำหมักมีจุลินทรีย์ที่ไปย่อยธาตุอาหารในดิน และตลอดเวลาที่เขาใช้น้ำหมัก เขาไม่ได้บำรุงดินเพิ่มเลย เขาจึงหาทางออกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาเสริม หมดปัญหาเรื่องความสมบูรณ์ของดิน แต่สิ่งที่ยังค้างคาใจคือ ยังต้องใช้ยาเคมีกำจัดศัตรูพืช แม้ลดปริมาณแล้วก็ตาม

“ใจอยากทำให้เป็นอินทรีย์ 100% แต่ตอนนั้นยังมองไม่เห็นว่าอะไรจะมาแทนยากำจัดศัตรูพืชได้ ใช้สมุนไพรช่วยคุมและช่วยไล่ แต่เวลามาหนักๆ ก็เอาไม่อยู่”

ด้วยนิสัยที่เรียนรู้ ทดลอง เก็บข้อมูลแปลง และลงมือทำอย่างจริงจัง เป็นสิ่งที่ ชนะพล เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการแมลงวันผลไม้กับหน่วยงานวิจัยแห่งหนึ่ง และเกิดเป็น “ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตรอกนอง” ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นประธานศูนย์ฯ เขาเริ่มเรียนรู้การผลิตบิวเวอเรียและเมตาไรเซียมจากหน่วยงานภาครัฐเมื่อปี 2557 โดยมองว่า บิวเวอเรียและเมตาไรเซียมน่าจะทดแทนยากำจัดศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยไฟและไรแดงได้

ชนะพล ทดลองใช้บิวเวอเรีย เมตาไรเซียม และสมุนไพร ร่วมกับสารเคมี โดยค่อยๆ ลดสัดส่วนสารเคมีลงเรื่อยๆ จนเลิกใช้ในที่สุด ขณะเดียวกันเขายังเปรียบเทียบการใช้บิวเวอเรียอย่างเดียวภายใต้เงื่อนไข “ฉีดพ่นเมื่อเจอแมลง” กับแปลงที่ใช้บิวเวอเรียร่วมกับสมุนไพร ผลปรากฏว่า แปลงที่ใช้บิวเวอเรียอย่างเดียว ผลผลิตถูกทำลาย 60% ขณะที่อีกแปลงใช้บิวเวอเรียร่วมกับสมุนไพรได้ผลผลิต 80% ทำให้เขามั่นใจการใช้สารชีวภัณฑ์ร่วมกับสมุนไพรและวิธีการใช้ ซึ่งเขาสรุปว่า ต้องใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา และสภาพแวดล้อมได้ด้วย

“ผมใช้บิวเวอเรียคู่กับสมุนไพร สลับเวลาฉีดพ่น โดยจะสุมควันไล่แมลงก่อน เพื่อลดแมลงศัตรูพืช และจะฉีดพ่นบิวเวอเรียในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนที่จะขึ้นตาดอก หรือที่เรียกว่าช่วงปากนกแก้ว เป็นการฉีดป้องกันไว้ก่อน”

แม้ ชนะพล จะเริ่มจับทางการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชในสวนมังคุดของเขาได้แล้ว แต่การปนเปื้อนและลักษณะเชื้อราบิวเวอเรียเป็นก้อน เมื่อนำมาขยาย ได้เป็นเส้นใย แต่ไม่มีสปอร์ ส่งผลถึงประสิทธิภาพการใช้งาน

“ผมรู้ว่าต้นทางผลิตหัวเชื้อบิวเวอเรียอยู่ที่ สวทช. ผมก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ สวทช. เข้ามาที่นี่ให้ได้” ชนะพล เล่าถึงความตั้งใจที่จะใช้บิวเวอเรียจากต้นทาง เขามีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. แสดงความต้องการและความพร้อมของ “ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตรอกนอง” ที่มีสถานที่และงบประมาณส่วนหนึ่งจากโครงการ 9101 ของภาครัฐ “เป็นไปได้มั้ยที่จะให้ห้องของที่นี่เป็นแล็บชุมชน” คำขอจากเขาที่ส่งถึงเจ้าหน้าที่ สท.

ปลายปี 2560 ชนะพล ได้รับการประสานจาก สท. เพื่อจัดอบรม “การผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย” ให้เขาและสมาชิกทั้ง 35 คน โดยมีทีมเจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เป็นวิทยากร ซึ่งเขาบอกว่า เปิดโลกทัศน์กว้างขึ้นให้ผมเลย รู้ว่าต้องทำแบบไหนและทำอย่างไร

หลังการอบรมครั้งนั้น ชนะพล และสมาชิกได้รวมกลุ่มผลิตบิวเวอเรีย แต่ก็ยังพบการปนเปื้อน พอเริ่มต้นใหม่บ่อยครั้งเข้า หลายคนเริ่มถอดใจ และลงท้ายความคิดที่ว่า “วิธีการผลิตยาก ซื้อใช้ง่ายกว่า”

“ตอนนั้นมาช่วยกันเยอะ จัดการเรื่องความสะอาดไม่ได้ ซึ่งการทำบิวเวอเรีย ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ ไม่อย่างนั้นเชื้อปนเปื้อน ก็ไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองทำผิดพลาด พอเอาไปใช้ กลายเป็นว่าใช้บิวเวอเรียไม่ได้ผล บิวเวอเรียกลายเป็นแพะไป ทั้งที่จริงแล้วมาจากการทำที่ไม่ถูกต้องของสมาชิกภายในกลุ่ม แต่เขาไม่ได้มองตรงนี้”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ชนะพล ปรับเปลี่ยนการผลิตเชื้อบิวเวอเรีย นำสมาชิก 3-4 คน ฝึกผลิตให้เกิดความชำนาญ โดยได้รับหัวเชื้อรูปแบบน้ำจาก สวทช. ซึ่งตัวเขาเองมุ่งมั่นที่จะทำอย่างถูกวิธีและนำไปใช้งานให้เห็นผล

แม้ผ่านการอบรมจาก สวทช. มากว่า 2 ปี มีสมาชิกที่ผลิตบิวเวอเรียได้อย่างจริงจัง 5 คน แต่การเรียนรู้และสื่อสารกับทีมวิจัยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดย ชนะพล ยังวางแผนที่จะชวนสมาชิกมาเรียนรู้ร่วมกันใหม่อีกครั้ง

“จากที่มีความรู้พื้นฐาน พอมาอบรมกับ สวทช. ผมมองว่าเป็นขั้นสูงขึ้น มองเชื้ออย่างชำนาญ คือรู้ว่าความสมบูรณ์ของเชื้อเป็นอย่างไร เชื้อเดินดีไม่ดี เป็นสปอร์น้อยเพราะอะไร เจ้าหน้าที่ให้ความรู้และสอนให้ดูเป็น พอทำแล้วเจอปัญหา ก็จะถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่ดู เขาก็จะให้คำตอบ อย่างเช่นเชื้อเดินไม่ทั่ว เพราะอุณหภูมิที่ใช้นึ่งข้าวไม่พอ หรือแม้แต่สัดส่วนการผลิต ซึ่งที่ตรอกนองความชื้นสัมพัทธ์อากาศสูงถึง 96% ถ้าใช้สัดส่วนที่แนะนำคือ น้ำ 60 มิลลิลิตร/ข้าว 200 กรัม บิวเวอเรียที่ได้กลายเป็นก้อน เป็นเส้นใย ไม่เดินสปอร์ เจ้าหน้าที่ สวทช. ก็ให้ปรับสูตรใช้น้ำเป็น 40 มิลลิลิตร”

ช่วงปลายปี 2562 ชนะพล ยังได้ร่วมงานกับ สท. ต่อ โดยใช้พื้นที่ 1 ไร่ของสวนมังคุด เป็นแปลงทดลองและสาธิตการใช้บิวเวอเรีย โดยวางกับดักแมลงก่อนและหลังเพื่อพยากรณ์การระบาดของแมลงในแปลงว่าระบาดมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในช่วง 4 เดือน เขาพบเพลี้ยไฟและเพลี้ยจักจั่นมากสุด แต่หลังจากใช้บิวเวอเรียที่มีคุณภาพ พบว่าแมลงศัตรูพืชลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 “จากประสบการณ์ตัวผมเอง การทำไม่สำเร็จและปนเปื้อนอยู่ที่ตัวเกษตรกรเองด้วย แก้ไขยากกว่า เพราะเป็นเรื่องพฤติกรรม สารชีวภัณฑ์พวกนี้ดีอยู่แล้ว เอาศัตรูพืชอยู่จนผมมั่นใจ ช้าแต่ชัวร์ การผลิตไม่ได้ยาก ประสิทธิภาพเห็นผลแน่ๆ ถ้าเราใช้ถูกที่ ถูกเวลา สภาพแวดล้อมเหมาะสม ได้ผลเหมือนกัน”

# # #

ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตรอกนอง
ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี

รู้จัก “บิวเวอเรีย” อย่างเข้าใจ จัดการศัตรูพืชด้วยความรู้