ท่องโลกออนไลน์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในยุคนิวนอร์มัล (New Normal)

โดย กองบรรณาธิการ


 

          ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปเที่ยวชมแหล่งเรียนรู้ในสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ ได้ตามปกติ ทำให้เด็กๆ และเยาวชนขาดโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพราะการที่เด็กๆ ได้เดินทางไปทัศนศึกษากับทางโรงเรียนหรือผู้ปกครอง เป็นการช่วยส่งเสริมและเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

          โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี นอกจากหน่วยงานภาครัฐหรือสถานศึกษาจะจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ขึ้นแล้ว ยังมีงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี มีกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ช่วยเปิดจินตนาการ สร้างความตื่นเต้น สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กๆ และเยาวชนทั่วประเทศ

          แต่ในยุคนี้ ถึงแม้เด็กๆ จะต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน แต่ก็ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจผ่านทางโลกออนไลน์ได้ โดยมีเว็บไซต์ของไทยและต่างประเทศมากมายที่เปิดให้ทุกคนได้เข้าไปเยี่ยมชม ค้นหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างสนุกสนานไม่แพ้การไปเยี่ยมชมในสถานที่จริง และยังมีข้อดีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราสามารถเข้าชมแหล่งความรู้ทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

          กองบรรณาธิการนิตยสารสาระวิทย์ได้รวบรวมเว็บไซต์แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจให้ทุกคนได้เข้าไปเยี่ยมชมและสนุกไปกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในยุคนิวนอร์มัลแล้วในบทความนี้ ถ้าพร้อมแล้วลุยกันเลย

  1. NST Fair Virtual Exhibition


นิทรรศการเสมือน 360 องศา

          สนุกไปกับนิทรรศการเสมือน 360 องศา (virtual exhibition) ที่ยกเอานิทรรศการ 7 โซนจากงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2563 มาแสดงที่เว็บไซต์ https://www.thailandnstfair.com/virtual

          เมื่อเราเลือกคลิกเข้าสู่โซนนิทรรศการที่สนใจ ก็จะปรากฏหน้าแสดงผลภาพพื้นที่นิทรรศการจริงแบบ 360 องศา โดยเราสามารถคลิกเลือกจุดวงกลมสีขาวเพื่อเข้าสู่พื้นที่การแสดงข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะปรากฏทั้งข้อมูลภาพ และคลิปวิดีโอ

นอกจากนี้บริเวณแถบด้านล่างของจอยังมีเมนูให้เลือกใช้งานอีก 5 เมนู ได้แก่

  • ข้อมูลนิทรรศการ
    เพื่อแสดงข้อความอธิบายเนื้อหาของนิทรรศการโดยย่อ
  • แบบทดสอบ
    เพื่อทำแบบทดสอบสั้นๆ ในเรื่องที่เข้าชม
  • นิทรรศการอื่นๆ
    เพื่อเลือกชมนิทรรศการอื่นๆ
  • แชร์          
    เพื่อแชร์ลิงก์เข้าชมนิทรรศการให้เพื่อนๆ บนเฟซบุ๊ก
  • หน้าหลัก          
    เพื่อกลับสู่หน้าแผนที่หลักของนิทรรศการ

  1. มิวเซียมสยาม

ระบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง

          มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Museum Siam: Discovery Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ ดำเนินการภายใต้ปรัชญา Play + Learn = เพลิน นำเสนอด้วยรูปแบบที่สร้างสรรค์และสนุกสนาน โดยใช้กิจกรรมต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

          สำหรับนิทรรศการถาวรชุดใหม่ที่มีจัดแสดงอยู่ที่มิวเซียมสยาม คือ “ถอดรหัสไทย” (Decoding Thainess)  ที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้พัฒนาการความเป็น “ไทย” ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จากบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผ่านนิทรรศการที่มีรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ เช่น เทคโนโลยีสื่อผสมเรื่องราวการพัฒนาชาติไทย ห้องครัวมีชีวิตที่จะพาไปเรียนรู้เรื่องราวของอาหารไทยผ่านโมชันกราฟิก และห้องเรียนเสมือนจริงที่พาย้อนไปยังห้องเรียนในยุคอดีต

          เข้าชมนิทรรศการเสมือนจริง 360 องศา “ถอดรหัสไทย” ได้ที่ลิงก์ https://www.museumsiam.org/virtualexhibition/DecodeThai_4


 

          3. การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (NAC2021)

          นิทรรศการออนไลน์ให้ข้อมูลความรู้เรื่องโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี หรือ BCG Economy Model ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (พ.ศ. 2564)

          สำหรับ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy Model) คือ รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทย ในด้านเกษตรและอาหาร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ, การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมให้แข็งแกร่ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน สร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง สร้างภูมิคุ้มกัน และสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว

          นิทรรศการ BCG Economy Model ครอบคลุม 8 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ดังนี้

  1. ด้านเกษตร
  2. ด้านอาหาร
  3. พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ
  4. เครื่องมือแพทย์
  5. ความหลากหลายทางชีวภาพ
  6. เศรษฐกิจหมุนเวียน
  7. ยาและวัคซีน
  8. ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

          เข้าชมนิทรรศการออนไลน์ที่จะให้ข้อมูลเนื้อหา ภาพ และคลิปวิดีโอได้ที่ลิงก์ https://www.nstda.or.th/nac/2021/exhibition/bcg/


  1. The British Museum (อังกฤษ)

          British Museum กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นพิพิธภัณฑ์เก่าแก่ที่จัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุกแขนง จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2296 และเปิดให้คนจากทั่วโลกเข้าชมได้ฟรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2302 จนถึงปัจจุบัน ของสะสมถาวรของพิพิธภัณฑ์มีจำนวนราวแปดล้านชิ้น ถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีของสะสมมากที่สุดในโลก

          แม้ในช่วงนี้จะไปเยี่ยมชมถึงสถานที่จริงไม่ได้ แต่เราก็ยังสามารถเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ The Museum of the world ของ British Museum ซึ่งทำออกมาได้น่าสนใจมาก มีรูปแบบการแสดงผลลำดับตามช่วงเวลา ตั้งแต่ยุคปัจจุบันย้อนกลับไปจนถึงช่วงก่อนคริสตกาล โดยแบ่งข้อมูลนิทรรศการออกเป็น 5 ทวีป ได้แก่ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปโอเชียเนีย

          เมื่อคลิกเลือกข้อมูลของสะสมที่ต้องการดูก็จะปรากฏภาพและข้อความอธิบาย นอกจากนี้ยังสามารถเลือกให้เล่นไฟล์เสียงคำอธิบายได้อีกด้วย และมีข้อมูลของสะสมชิ้นอื่นที่มีความเชื่อมโยงกันให้เลือกเข้าไปชม


 

         5. Smithsonian Institution National Museum of Natural History (สหรัฐอเมริกา)

          Smithsonian Institution National Museum of Natural History เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ บริหารงานโดยสถาบันสมิธโซเนียน ตั้งอยู่ที่วอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้เข้าเยี่ยมชมหลายล้านคน

          ในส่วนของการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ก็ทำได้น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้การเข้าชมสถานที่จริง เมื่อเราเข้าสู่เว็บไซต์ https://naturalhistory2.si.edu/vt3/NMNH/ แล้วก็จะเจอ “เฮนรี (Henry)” ช้างแอฟริกา ยืนรอต้อนรับผู้เข้ามาเยี่ยมชม

          เราสามารถเลือกจุดเยี่ยมชมได้จากแผนที่ของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่มุมขวาบนของจอภาพ และในระหว่างที่กำลังเดินดูพิพิธภัณฑ์สามารถคลิกปุ่มลูกศรที่บริเวณพื้นทางเดินเพื่อขยับไปในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ระบบยังรองรับการใช้แว่นตาประเภท VR (virtual reality) ช่วยเพิ่มอรรถรสในการเดินชมเหมือนเข้าไปอยู่ในสถานที่จริง


 

7. Google Art & Culture
https://artsandculture.google.com/

          แพลตฟอร์มออนไลน์ Google Arts & Culture ของ Google เปิดให้ทุกคนเข้าถึงผลงานที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กว่า 1,200 แห่งทั่วโลก โดยรวมถึงพิพิธภัณฑ์และองค์กรด้านศิลปะของไทยด้วย

          Google ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ผู้ชมสามารถดูรายละเอียดของผลงานที่จัดแสดงได้ลึกมากกว่าการเข้าชมของจริงที่พิพิธภัณฑ์ ด้วยเครื่องมือการซูมภาพที่ทำให้เราเห็นถึงพื้นผิว เห็นถึงรอยแตกของสี รายละเอียดเล็กๆ บนผลงานของศิลปินที่ยากจะมองด้วยตาเปล่า และวิดีโอ 360 องศา พร้อมคำบรรยายที่เสมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ สามารถเลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่ https://artsandculture.google.com/ และสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Arts & Culture ได้ทั้ง Google Play และ App Store อีกด้วย


 

  1. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

          ปิดท้ายกันด้วยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่คลองห้า จังหวัดปทุมธานี เปิดตัวเว็บไซต์โฉมใหม่ที่ปรับเป็น virtual tour เต็มรูปแบบ ในมุมมองกราฟิกแบบ 360 องศา เพื่อเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือ Futurium แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งอนาคต โดยเข้าชมได้ที่ลิงก์ https://nsm.or.th/Introduction.html

          ภายในหน้าเว็บไซต์ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต ที่เมนูแรกด้านล่างเราจะพบกับข้อมูลการแนะนำสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมด้วยรูปแบบภาพ 3 มิติ ที่เราคลิกหมุนภาพดูได้โดยรอบ พร้อมข้อความอธิบาย

          ส่วนเมนูถัดมาจะให้ข้อมูลแนะแนวอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 20 อาชีพ ที่คลิกเข้าไปดูรายละเอียดแต่ละอาชีพได้ พร้อมแอปพลิเคชันแนะนำสำหรับอาชีพนั้นๆ

 

          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ที่มีอยู่มากมายบนอินเทอร์เน็ต หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชนที่แม้จะต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวชมแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ในช่วงนี้ แต่เราก็ยังมีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่สนุกและได้ประโยชน์มาให้ได้ค้นคว้า หาความรู้ เข้าชมเพลินๆ ให้หายเบื่อได้ในยุคนิวนอร์มัลนี้

About Author