Headlines

World Space Week: Women in Space

เรียบเรียงโดย วิวัฒน์ จ่างตระกูล
ผู้ประสานงานประเทศไทย สัปดาห์อวกาศโลกปี 2021


          ปีนี้คนไทยอาจตื่นตัวเรื่องอวกาศมากขึ้นเพราะเห็นข่าวอวกาศบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวอวกาศโดยบริษัทเอกชนสามรายคือ Virgin Galactic, Blue Origin และ SpaceX ซึ่งได้ร่วมสร้างสถิติส่งมนุษย์อายุน้อยสุด อายุมากสุด รวยสุด ขึ้น-ลงที่เดียวกัน หรือลูกเรือที่เป็นพลเรือนล้วนทั้งยานไปอวกาศ และยังมียานอวกาศไปไกลถึงดาวอังคารไล่ๆ กันถึงสามชาติทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และยูเออี รวมทั้งจีนที่เริ่มสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ และที่น่าตื่นเต้นสำหรับชาวไทยคือการเปิดตัวโครงการดาวเทียมและยานอวกาศของพันธมิตร Thai Space Consortium (TSC) โดยหน่วยงานของรัฐสามแห่งที่จับมือกันพัฒนาโครงการมาหลายปี อีกทั้งข่าวการร่าง พรบ.กิจการอวกาศไทย ที่ทำให้หลายคนสงสัยว่าไทยเราจะมีองค์การอวกาศ จะส่งคนและยานอวกาศเมื่อไหร่อย่างไร (และทำไมด้วย)


ดาวเทียมสปุตนิก-1 วัตถุแรกที่มนุษย์สามารถส่งขึ้นโคจรรอบโลกสำเร็จเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2497

         ก็เป็นเรื่องดีที่ตื่นตัวเรื่องอวกาศมากขึ้น จะได้รู้ว่าโลกเราอยู่ในสภาวะการแข่งขันทางอวกาศ (space race) รอบสองและไม่ได้เป็นการแข่งขันทางการเมือง และการทหารเหมือนเมื่อรอบแรกเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อนระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต (หรือรัสเซียในอดีตที่เป็นระบบอบคอมมิวนิสต์ผนวกกับอีกหลายรัฐ) ที่ก่อให้เกิดสงครามเย็น (อาจเป็นศัพท์ที่เยาวชนยุคนี้ไม่คุ้น อธิบายง่ายๆ ว่าเขาแข่งกันสร้างกำลังอาวุธแต่ไม่ได้รบกันจริงๆ) แล้วสงครามเย็นก็ปะทุขึ้นตอนโซเวียตสามารถส่งยานอวกาศขึ้นโคจรรอบโลกได้ก่อนใครเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2497 และทำให้ชาวอเมริกันหวาดกลัวว่าถ้าโซเวียตสามารถส่งวัตถุขึ้นอวกาศได้ หากวัตถุนั้นเป็นระเบิดนิวเคลียร์แทนจะเป็นอย่างไร สหรัฐอเมริกาจึงเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อให้ทันกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันทางด้านอวกาศที่ทำให้โลกได้เห็นมนุษย์ขึ้นโคจรรอบโลกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 ผู้นั้นคือ ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) จากโซเวียต ซึ่งผลักดันให้สหรัฐอเมริกาตั้งเป้าหมายให้ไกลขึ้นเป็นดวงจันทร์ ซึ่งก็สำเร็จได้ในปี พ.ศ. 2512


การลงนามสนธิสัญญาอวกาศเมื่อต้นปี พ.ศ. 2507

          แต่การแข่งขันทางด้านอวกาศยุคแรกนั้นไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับชาวโลก เพราะประเด็นด้านการทหาร หรือคิดง่ายๆ ว่าถ้าส่งยานอวกาศน้ำหนักเท่าไรไปอวกาศได้ก็สามารถส่งระเบิดนิวเคลียร์น้ำหนักเท่ากันได้ นานาชาติจึงพยายามดับไฟด้วยวิธีทางการทูต โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อการนี้ และชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันแสดงเจตนาในการรักษาสันติภาพด้วยการออกสนธิสัญญาว่าด้วยหลักกำกับดูแลกิจกรรมของรัฐต่างๆ ในการสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศห้วงลึก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหวัตถุอื่นๆ อย่างสันติ หรือเรียกสั้นๆ ว่าสนธิสัญญาอวกาศ (Outer Space Treaty) มีการลงนามเมื่อต้นปี พ.ศ. 2507  โดยประเทศต่างๆ ถึง 63 ชาติรวมทั้งประเทศไทย และมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น

          ปัจจุบันสนธิสัญญานี้มีภาคี 111 ประเทศ ส่วนการแข่งด้านอวกาศของสองประเทศมหาอำนาจสมัยนั้นยุติลงด้วยกิจกรรมในอวกาศที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว นั่นคือภารกิจอะพอลโล-โซยูซ (Apollo-Soyuz ทางโซเวียตเรียกว่าภารกิจโซยูซ-อะพอลโล) ที่มนุษย์อวกาศจากสหรัฐอเมริกาและโซเวียตจับมือกันกลางอวกาศเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

          ถึงแม้การแข่งขันด้านอวกาศได้ยุติไปแต่ผลจากการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศตลอดเวลาหลายสิบปีนั้น ก็ได้สร้างความเจริญทางวิทยาการอย่างมหาศาลที่ให้ประโยชน์ต่อประชากรทั้งโลก จวบจนปี พ.ศ. 2542องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ฉลองความมุ่งมั่นของมนุษย์ในการพัฒนาวิทยาการเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย “สัปดาห์อวกาศโลก” (World Space Week) โดยอิงกับสองวันสำคัญด้านอวกาศคือ 4 กับ 10 ตุลาคม

          นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมาก็มีการฉลองสัปดาห์อวกาศโลก ประกอบด้วยงานกิจกรรมเผยแพร่และการศึกษาด้านอวกาศ ซึ่งจัดโดยองค์การอวกาศ เอกชนอุตสาหกรรมอวกาศ โรงเรียน สถาบันการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์ และชมรมดาราศาสตร์ ทั่วโลก โดยจัดกิจกรรมกันในช่วงเวลาเดียวกัน การประสานให้มีการจัดงานกิจกรรมด้านอวกาศพร้อมๆ กันมีพลังในการดึงดูดความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนได้ดีกว่า

          ตัวอย่างเช่นใน พ.ศ. 2560 สัปดาห์อวกาศโลกได้ทำสถิติจำนวนงานกิจกรรมถึงกว่า 4,000 งาน ใน 82 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมากว่า 2 ล้านคน และมีผู้ชมทางสื่อสารมวลชนต่างๆ กว่า 500 ล้านคน

          สัปดาห์อวกาศโลกมีการประสานงานโดยองค์การสหประชาชาติ ด้วยการสนับสนุนจากสมาคมสัปดาห์อวกาศโลก (World Space Week Association: WSWA) โดย WSWA เป็นแกนนำในการทำงานร่วมกับผู้ประสานงานระดับประเทศ (National Coordinators) ซึ่งเป็นผู้โปรโมตและประสานงานกิจกรรมฉลองสัปดาห์อวกาศโลกในแต่ประเทศ

          เป้าหมายของงานสัปดาห์อวกาศโลกคือ

          – ช่วยต่อยอดกิจกรรมการศึกษาและเผยแพร่ด้านอวกาศ

          – ส่งเสริมความรู้ว่าการสำรวจอวกาศให้ประโยชน์กับเราได้อย่างไร

          – ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

          – แสดงการสนับสนุนของประชาชนต่อโครงการอวกาศต่างๆ

          – จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้สนใจในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์

          – ส่งเสริมความร่วมมือในกิจกรรมการศึกษาและเผยแพร่ด้านอวกาศระดับนานาชาติ

          สำหรับปีนี้ได้มีการกำหนดธีมพิเศษคือ “สตรีในอวกาศ” (Women in Space) ซึ่งมิได้หมายถึงผู้หญิงที่ได้ไปอวกาศอย่างเดียวแต่รวมถึงผู้หญิงในทุกด้านที่มีส่วนขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และวิทยาการไปถึงอวกาศได้ และก็เป็นธีมที่เหมาะกับยุคสมัยนี้ที่ประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่สำหรับสตรีเอง แต่ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับทั้งโลกของเรา ก่อนจะไปถึงประเด็นขอหยิบยกตัวอย่าง Women in Space เด่นๆ ให้รู้จักกันดีกว่า


มีมี ออง หัวหน้าทีมวิศวกรเฮลิคอปเตอร์ดาวอังคารของนาซา

          ปีนี้มีภารกิจไปสำรวจดาวอังคารถึงสามรายการ แล้วสองภารกิจมีผู้หญิงเป็นตัวเอกด้วย ภารกิจของนาซา (NASA) ที่ชื่อว่า Mars 2020 (เพราะออกเดินทางปี ค.ศ. 2020) มีการนำเฮลิคอปเตอร์ไปทดลองบินที่นั่นด้วยคือยานอินเจนิวอิตี (Ingenuity) แล้วก็ทำการบินได้สำเร็จและบินได้มากกว่าเป้าหมายด้วย โดยหัวหน้าทีมวิศวกร Ingenuity เป็นสตรีชื่อ มีมี ออง (Mimi Aung) เป็นชาวพม่าที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาแต่เด็ก  ส่วนภารกิจของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี ที่ชื่อ Emirates Mars Mission นั้นเป็นผลงานของสตรีอย่างเต็มเปี่ยม เริ่มจากหัวหน้าองค์การอวกาศยูเออี ซึ่งเป็นรองหัวหน้าภารกิจ และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เป็นผู้หญิงชื่อ ซารา อัล อะมีรี (Sarah Al Amiri) ด้วยวัยเพียง 34 ปี คุณซาราเองเคยอยู่ในทีมสร้างดาวเทียมดวงแรกๆ ที่สร้างในยูเออี และทีมวิศวกรยานอวกาศโฮป (Hope) ที่ไปสำรวจบรรยากาศดาวอังคารส่วนมากก็เป็นผู้หญิงชาวยูเออีและอายุเฉลี่ยเพียง 28 ปีเท่านั้น


ซารา อัล อะมีรี หัวหน้าองค์การอวกาศยูเออีผู้ส่งยานอวกาศไปดาวอังคาร

          นอกจากนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าภารกิจอาร์ทีมิส (Artemis) ไปดวงจันทร์ที่นำโดยนาซา (ต้องบอกว่านำโดยนาซา เพราะนาซาต้องอาศัยความร่วมมือจากอีกหลายประเทศ) แค่ชื่อภารกิจก็เป็นหญิงแล้วคือตามตำนานกรีก Artemis เป็นฝาแผดกับอะพอลโล (Apollo) ชื่อของโครงการไปดวงจันทร์เมื่อค่อนศตวรรษก่อนหน้า อีกทั้งเมื่อสองปีก่อนในการเปิดตัวชุดมนุษย์อวกาศรุ่นใหม่ก็ได้ให้วิศวกรหญิงมาใส่สาธิต กอปรกับปัจจุบันสหรัฐอเมริกาก็มีตัวเลือกนักอวกาศหญิงมากกว่าใคร เริ่มจากสองคนที่มีประสบการณ์ทำงานบนสถานีอวกาศมาแล้วเมื่อมานานมานี้และอายุยังไม่มาก บวกกับอีกหลายคนที่อยู่ในกลุ่มฝึกหัดอยู่ตอนนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่มนุษย์คนแรกในรอบกว่า 50 ปี (หลังภารกิจอะพอลโล 17 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2525 ก็ไม่มีใครได้ไปดวงจันทร์อีกเลย) จะเป็นผู้หญิงอเมริกัน


วาเลนตินา เทเรชโควา นักอวกาศหญิงคนแรกของโลก

          หากย้อนไปในอดีต นักบินอวกาศหญิงคนแรกก็มาจากชาติแรกที่ส่งยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกไปโคจรรอบโลกสำเร็จ นั่นคือสหภาพโซเวียต แถมยังมีพื้นเพคล้ายกันกับยูริ ตรงที่เป็นชาวบ้านชนชั้นแรงงานมาก่อน โดยคุณวาเลนตินา เทเรชโควา (Valentina Tereshkova) ก่อนสมัครเป็นนักบินอวกาศเธอเป็นเพียงสาวโรงงานทอผ้า แต่ด้วยจิตใจของนักผจญภัย เธอชอบแอบออกจากบ้านไปฝึกโดดร่มได้ดีจนกลายเป็นนักแข่งขันดิ่งพสุธาสมัครเล่นตั้งแต่วัย 22 โดยที่บ้านไม่รู้เรื่อง เธอใช้คุณสมบัติอย่างหลังนี้สมัคร จากผู้ผ่านเกณฑ์ 400 คนเธอผ่านการทดสอบหลายด่าน และอบรมจนขึ้นถึงกลุ่มว่าที่นักอวกาศหญิงกลุ่มแรกของประเทศ 5 คน และแล้ววาเลนตินาก็ได้รับเลือกให้ขึ้นบินอวกาศเดี่ยวกับยานวอสตอก-6 (Vostok-6) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 ได้โคจรรอบโลก 48 รอบเป็นเวลาเกือบ 3 วันเต็ม ขากลับสู่โลกเธอต้องเปิดประตูของแคปซูลยานอวกาศแล้วโดดร่มออกมาที่ความสูงถึง 6 กิโลเมตร

          เนื่องตอนนั้นยานอวกาศยังไม่มีระบบการลงจอดอย่างปลอดภัย เธอได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเมื่อถึงพื้นโลกกลางทะเลทราย มีชาวบ้านวิ่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ให้น้ำกับอาหารเธอกินจนกระทั่งเจ้าหน้าที่มารับตัว นอกจากวาเลนตินาจะได้เป็นสตรีคนแรกที่ขึ้นไปโคจรรอบโลกสำเร็จ เธอยังเป็นสตรีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 26 ปี และเป็นคนเดียวที่บินอวกาศเดี่ยวรอบโลกได้จวบจนทุกวันนี้ หลังได้รับการยกย่องเป็นฮีโรหญิงและออกทัวร์ประชาสัมพันธ์ทั่วโลกถึง 42 ประเทศ  วาเลนตินายังได้ทำหน้าที่เป็นทูตสันติภาพแก่ทั้งโซเวียตและรัสเซียจวบจนทุกวันนี้ เธอเรียนต่อจนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมการบินอวกาศและสอบผ่านหลักสูตรนักอวกาศอีกครั้ง แต่ไม่มีใครยอมให้เธอเสี่ยงขึ้นบินอวกาศอีก วาเลนตินาได้ขยับไปเล่นการเมืองซึ่งเธอยังคงมีบทบาทในสภาจนถึงทุกวันนี้ด้วยวัย 84 ปี


แคเทอรีน จอห์นสัน ผู้คำนวณวิถีส่งยานอวกาศไปและกลับได้สำเร็จ

          ทั้งนี้ความก้าวหน้าด้านการสำรวจอวกาศก็มีผู้หญิงเป็นแกนนำหลายคน ถึงแม้ว่าในสมัยโครงการ Apollo ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 นาซาจะมีพนักงานหญิงในสัดส่วนที่น้อยเพียงไม่เกิน 16 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นผลจากความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา และการงานสำหรับผู้หญิงในสมัยนั้นก็ยังมีตัวอย่างที่โดดเด่นอย่างคุณแคเทอรีน จอห์นสัน (Katherine Johnson) หนึ่งในทีมคณิตกร (computer – สมัยก่อนนั้นใช้เรียกคนจริงๆ ที่เป็นผู้ทำการคำนวณ) ที่สามารถคำนวณวิถีในการส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์ขึ้นโคจรรอบโลกได้สำเร็จ รวมทั้งการคำนวณหาช่วงเวลาการยิงจรวดและวิถีการกลับสู่โลกได้สำเร็จ อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณต่างๆ ของภารกิจอวกาศให้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ด้วยความเป็นทั้งผู้หญิงและผิวดำในสมัยนั้น เธอและคณิตกรหญิงอีกจำนวนมากที่ NASA กลับไม่ได้รับการยกย่อง

          จนกระทั่งปี พ.ศ. 2558 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama) ได้มอบเหรียญเชิดชูเกียรติขั้นสูงสุดให้แก่คุณแคเทอรีน ร่วมกับสตรีผิวดำท่านอื่นๆ จากทีมเดียวกัน เรื่องราวของเธอและทีมคณิตกรหญิงผิวดำได้รับการถ่ายทอดเป็นนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures เมื่อปี พ.ศ. 2559 และส่งผลให้นาซาตั้งชื่ออาคารศูนย์วิจัยคอมพิวเตอร์ที่สร้างใหม่ตามชื่อเธอในปีเดียวกัน และยังเปลี่ยนชื่อถนนหลักกลางศูนย์นาซาเป็น Hidden Figures Way ในอีกสองปีต่อมา


เฮนรีเอตตา เลวิตต์ ผู้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างคาบกับความสว่างที่ผันแปรของดาวฤกษ์ชนิด Cepheid variable

          แต่กว่ามนุษยชาติเราจะส่งคนขึ้นอวกาศได้ก็อาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หลายแขนงที่มีสตรีหลายท่านร่วมสร้างเอาไว้ในอดีต เช่น เฮนรีเอตตา เลวิตต์ (Henrietta Leavitt, 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2411–12 ธันวาคม พ.ศ. 2464) เธอได้เริ่มเป็นอาสาสมัครที่หอดูดาวของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเมื่อปี พ.ศ. 2438 อาศัยความละเอียดละออ ความช่างสังเกตและคิดวิเคราะห์ จนริเริ่มพัฒนามาตรฐานการหาความสว่างของดวงดาว และใน พ.ศ. 2455 เธอได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างคาบกับความสว่างที่ผันแปรของดาวฤกษ์ชนิด Cepheid variable จนนำไปสู่การคำนวณระยะห่างของดาวฤกษ์ระหว่างกาแล็กซีได้

          โดยเฉลี่ยครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเราเป็นชายและอีกหนึ่งเป็นหญิง แต่ผู้หญิงกลับมีสัดส่วนในงานการโดยเฉพาะด้านอวกาศน้อย อย่างที่นาซา ถึงจะเพิ่มอัตราส่วนพนักงานหญิงจาก 16 เปอร์เซ็นต์ ในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ขึ้นเท่าตัวในปัจจุบัน ก็ยังไม่สอดคล้องต่ออัตราส่วนผู้หญิงในประเทศ ในหลายประเทศอัตราส่วนน้อยกว่านี้มาก หากจะมองด้วยความเป็นกลางแล้ว สังคมใดที่อัตราส่วนหญิง-ชายในวงการงานไหนๆ สอดคล้องกันกับสัดส่วนประชากรถึงจะถือว่าได้ประโยชน์ทรัพยากรบุคคลอย่างเต็มที่และยั่งยืน ซึ่งจะเป็นไปได้หากสังคมนั้นมีการส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงทั้งการศึกษาและงานการอย่างเป็นระบบ

          สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของคนไทยที่เข้าร่วมสัปดาห์โลกปีนี้ ติดตามได้ทางเพจ World Space Week Thailand https://www.facebook.com/worldspaceweekthailand แล้วคุณจะได้ทราบว่าเยาวชนไทย โดยเฉพาะผู้หญิงไทยก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว

About Author