Headlines

“UNAI” เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง เสริมแกร่งธุรกิจจัดงานอีเวนต์

เรื่องโดย วีณา ยศวังใจ


          ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันทางการตลาดสูง “ข้อมูล” คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจผู้บริโภค ไม่เว้นแม้แต่ในธุรกิจการจัดงานอีเวนต์ ทั้งงานแสดงสินค้า นิทรรศการ และการประชุมนานาชาติ หรือเรียกว่า อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทและกำลังเติบโตในประเทศไทย และล่าสุดทีมนักวิจัยไทยได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเสริมศักยภาพธุรกิจไมซ์ของไทยให้ก้าวไกลระดับนานาชาติ


ภาพแสดงการทำงานของระบบ UNAI

          เทคโนโลยีที่ว่านี้คือ ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคาร หรือ “แพลตฟอร์มอยู่ไหน” (UNAI platform) ผลงานวิจัยพัฒนาของทีมวิจัยที่นำโดย ดร.ละออ โควาวิสารัช หัวหน้าทีมวิจัยระบบระบุตำแหน่งและบ่งชี้อัตโนมัติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก “อยู่ไหน 3 มิติ” แพลตฟอร์มสำหรับให้บริการข้อมูลตำแหน่งหรือข้อมูลเส้นทางการเคลื่อนที่ของคนหรือวัตถุสิ่งของภายในอาคารแบบออนไลน์

          ดร.ละออให้ข้อมูลว่า เริ่มแรกทีมวิจัยได้พัฒนาระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารขึ้นสำหรับใช้ติดตามหรือระบุตำแหน่งของพัสดุต่างๆ ภายในอาคารสำนักงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารงานพัสดุของสำนักงาน และปัจจุบันกำลังพัฒนาต่อยอดเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้จัดงานจะเก็บข้อมูลผู้เข้าชมงานทั้งในรูปแบบการลงทะเบียนหน้างาน หรือการสแกนคิวอาร์โคดด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งวิธีนี้ยังไม่สามารถบอกได้ถึงความหนาแน่นของผู้เข้าชมงานในบริเวณต่างๆ หรือแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าชมงานให้ความสนใจบริเวณใดเป็นพิเศษ


การใช้งานระบบ UNAI ในงานแสดงนิทรรศการ

          ทีมวิจัยจึงนำต้นแบบระบบ UNAI มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ประกอบด้วยธุรกิจการจัดประชุมสัมมนาองค์กร (Meetings) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) การประชุมนานาชาติ (Conventions) และการจัดนิทรรศการหรืองานแสดงสินค้า (Exhibitions) ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้พัฒนาและทดสอบระบบ UNAI ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์และปรับเทคนิคให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น


อุุปกรณ์รับสัญญาณ (anchor) และอุุปกรณ์ส่งสัญญาณ (tag) ของระบบ UNAI

          “ระบบ UNAI จัดอยู่ในกลุ่มของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things) ประกอบด้วยอุปกรณ์ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ อุปกรณ์ส่งสัญญาณไร้สาย หรือ แท็ก (tag) ทำหน้าที่เป็นป้ายระบุตำแหน่งโดยใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวขนาดเล็ก อุปกรณ์รับสัญญาณไร้สาย หรือ แองเคอร์ (anchor) ซึ่งออกแบบให้มีแถวสายอากาศ (antenna array) มีระบบสื่อสารไร้สายมาตรฐานบลูทูทพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy: BLE) และใช้เทคนิค AoA (Angle of Arrival) ในการหาตำแหน่งของแท็ก และส่วนสุดท้ายคือ ระบบสื่อสารสำหรับส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ซึ่งรองรับการใช้เครือข่ายทั้ง 3G/4G Cellular Network และ 5G

          “การทำงานของระบบระบุตำแหน่ง แท็กจะส่งสัญญาณไปยังสายอากาศของแองเคอร์ 3 ตัวที่ใกล้ที่สุด  แองเคอร์แต่ละตัวจะคำนวณมุมตกกระทบของสัญญาณที่แท็กส่งมากับแถวสายอากาศ ซึ่งจะมีความต่างเฟสที่ได้รับในแต่ละสายอากาศ และส่งข้อมูลมุมเหล่านี้ไปยังเซิร์ฟเวอร์ โดยเซิร์ฟเวอร์จะคำนวณหาตำแหน่งของแท็กได้อย่างแม่นยำและส่งข้อมูลตำแหน่งไปแสดงผลที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน UNAI แบบเรียลไทม์”


ระบบ UNAI แสดงข้อมูลความหนาแน่นของผู้คนภายในงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ

          ดร.ละออ กล่าวว่า ระบบ UNAI จะช่วยให้ผู้จัดงานหรือผู้ประกอบการได้ทราบข้อมูลภาพรวมและข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ เช่น จำนวนผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่อยู่ที่ไหน ผู้เข้าชมงานสนใจกิจกรรมใดบ้าง นิทรรศการหรือสินค้าประเภทใดได้รับความสนใจมากที่สุด ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น หรือนำเสนอบริการเสริมนอกเหนือจากระบบอำนวยความสะดวกที่มีอยู่แล้ว เช่น เพิ่มระบบนำทางไปยังบูทที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเดินหา ทำให้มีเวลาเลือกสินค้าหรือเจรจาธุรกิจได้มากขึ้น รวมถึงประยุกต์ใช้เพื่อค้นหาตำแหน่งของผู้เข้าร่วมงานที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุที่อาจพลัดหลงจากผู้ดูแล


Plug UNAI

          ในส่วนของข้อมูลการใช้พลังงาน ทีมวิจัยได้นำระบบ UNAI ไปพัฒนาต่อยอดเป็น Plug UNAI (ปลั๊กอยู่ไหน) โดยเชื่อมต่อกับระบบปลั๊กไฟเพื่อติดตามตำแหน่งและวัดอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคาร สามารถเก็บข้อมูลตำแหน่งการใช้งาน ชั่วโมงการใช้งาน และอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้นำข้อมูลที่ได้ไปใช้วางแผนการบำรุงรักษาอุปกรณ์และการใช้พลังงานในอาคาร

          การนำระบบระบุตำแหน่งในอาคาร UNAI ไปประยุกต์ใช้ในการจัดงานนิทรรศการและงานแสดงสินค้า นอกจากช่วยเพิ่มความสะดวกในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้จัดงานและสร้างประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้เข้าชมงานแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการนำเทคโนโลยีไปเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยที่กำลังเติบโตให้มีศักยภาพที่แข็งแกร่งและแข่งขันได้ในระดับโลก

About Author