Headlines

ดาวศุกร์ ปริศนาใต้เมฆ (ตอนที่1)

โดย รวิศ  ทัศคร


          ดาวศุกร์ … ดาวที่มีแสงเจิดจรัสที่สุดบนท้องฟ้า ที่คนไทยรู้จักกันดีมาแต่ครั้งโบราณ จนมีชื่อเรียกแบบไทยว่า “ดาวประกายพรึก” หรือดาวรุ่ง ในยามเช้ามืดทางทิศตะวันออก หรือเรียกดาวประจำเมืองเมื่อเห็นในเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตก

          ดูเหมือนว่าดาวเคราะห์พี่น้องของโลกดวงนี้จะโดดเด่นเป็นที่สังเกตของคนทั้งในโลกตะวันออก และในโลกตะวันตกเหมือนกัน ด้วยความสว่างสุกใสของมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเทหวัตถุที่นับว่าสว่างที่สุดเจ็ดดวงบนท้องฟ้า ที่คนโรมันรู้จักเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า นั่นคือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้งห้าดวงที่สังเกตง่ายที่สุด จึงทำให้คนโรมันตั้งชื่อของมันตามชื่อ วีนัส เทวีแห่งความรักและความงดงามนั่นเอง

          แม้ว่าดาวศุกร์จะอยู่ใกล้เรามากกว่าดาวอังคาร แต่ด้วยความยากลำบากในการส่งยานลงพื้นเพื่อสำรวจ แม้ดาวศุกร์จะได้รับความสนใจในยุคสมัยที่มีการแข่งขันกันด้านโครงการอวกาศของสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาในยุคทศวรรษที่ 60 – 80 แต่ความสนใจของมนุษย์ดูจะเปลี่ยนไปยังดาวอังคารแทน เนื่องจากสามารถส่งยานลงไปสำรวจได้ง่ายกว่า และมนุษย์น่าจะไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารได้ง่ายกว่า เนื่องจากไม่มีอุปสรรคสำคัญในด้านอุณหภูมิ และความดันที่สูงเหมือนดาวศุกร์ ที่บรรยากาศเต็มไปด้วยชั้นเมฆหนาทึบที่ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ และกรดกำมะถันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่มีสมมติฐานว่า ครั้งหนึ่งดาวศุกร์ก็คงเย็นกว่านี้และมีมหาสมุทรเช่นเดียวกับโลกของเรายามที่ก่อกำเนิดมาไม่นานในช่วงต้นของระบบสุริยะ

ทำไมน้ำในมหาสมุทรของดาวศุกร์จึงหายไป

          กระบวนการที่ดาวศุกร์สูญเสียน้ำในมหาสมุทรในตอนเริ่มต้นของมันนั้น จริง ๆ แล้วมีความซับซ้อนกว่าแค่น้ำเกิดการสลายตัวในบรรยากาศชั้นบน ที่จริงแล้วเชื่อกันว่าดาวศุกร์เสียมหาสมุทรของมันไปเนื่องจากกระบวนการที่เรียกว่าภาวะเรือนกระจกชื้น (moist greenhouse effect) เหตุเกิดมาจากเมื่อนานแสนนานมาแล้ว ปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ที่เพิ่งเกิดมาไม่นานนั้นจะถูกควบคุมโดยอัตราการระเหยของมหาสมุทร

          แต่เนื่องจากไอน้ำนั้นเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพมาก จึงเกิดการสะสมตัวมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เรียกว่าเกิด positive feedback cycle ในความหมายนี้เพียงอุณหภูมิชั้นบรรยากาศสูงขึ้นเล็กน้อย ก็จะก่อให้เกิดการเพิ่มของอัตราการระเหยของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะทำให้มีไอน้ำเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ ซึ่งด้วยเหตุนี้ก็จะทำให้ชั้นบรรยากาศอุ่นมากขึ้น และเกิดผลต่อเนื่องสลับกันต่อไปเรื่อย ๆ จนเกิดการระเหยหายไปหมดของมหาสมุทรอย่างหยุดไม่ได้ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ร้อนและเต็มไปด้วยไอน้ำของดาวศุกร์ ท้ายที่สุด ไอน้ำจะแตกตัวออกโดยส่วนของไฮโดรเจนจะลอยหายไปในอวกาศระหว่างดาวเคราะห์จนท้ายที่สุดน้ำในชั้นบรรยากาศก็ค่อยๆ ลดลง

ศิลปินสร้างภาพในจินตนาการถึงดาวศุกร์ในยุคอนาคต หากมนุษย์ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าปรับสภาพดาวเคราะห์ ให้ดาวศุกร์มีสภาพเหมือนโลก
(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Terraforming_of_Venus#/media/File:TerraformedVenus.jpg)

          ประเด็นสำคัญมากประเด็นหนึ่งที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในมหาสมุทรของดาวศุกร์ในสมัยที่ยังเกิดขึ้นใหม่ ๆ นั้นคือ มหาสมุทรของดาวศุกร์ใช้เวลานานเท่าใดกว่าที่จะเดือดหายไป ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีหลายกลุ่มตีพิมพ์ค่าประมาณออกมา โดยงานที่น่าสนใจคืองานของศาสตราจารย์แอนดรูว์ อินเจอร์ซอลล์(Andrew Ingersoll) แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ แคลเทค ที่เมืองแพซาดีนา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้ตีความข้อมูลจากภารกิจของยาน Venus Express ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งโคจรรอบดาวศุกร์และส่งข้อมูลมายังโลกนานหลายปี ในช่วงปี 2006 – 2014 ก่อนสัญญาณขาดหายไป ซึ่งเสนอว่ามหาสมุทรที่เกิดขึ้นบนดาวศุกร์ในตอนแรก น่าจะต้องใช้เวลาในการระเหยประมาณหนึ่งพันล้านปี ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมากที่จะให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ได้สั้นเกินไปที่จะไม่มีโอกาสเกิดมีสิ่งมีชีวิตขึ้นมาเลย

หากปรับสภาพดาวศุกร์ให้เหมือนโลก จะใช้น้ำเพียงร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำในมหาสมุทรของโลกเนื่องจากระดับความสูงของพื้นดินที่สูงแตกต่างจากส่วนพื้นทะเลไม่มากเท่ากับของโลก ในภาพแสดงรูปร่างของทวีปต่าง ๆ และมหาสมุทรที่จะเกิดขึ้นบนดาวศุกร์ สักวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อมนุษย์มีเทคโนโลยีและทรัพยากรเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนดาวดวงนี้
(ที่มา https://ahstat.github.io/Topography/)

          เดวิด กรินสพูน(David Grinspoon) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์เดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ได้เคยกล่าวแย้งเอาไว้ในประเด็นนี้ว่า มหาสมุทรบนดาวศุกร์น่าจะอยู่ได้ราวสองพันล้านปี ซึ่งจะเอื้อให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการบนดาวศุกร์ได้ในสเกลเวลาใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นบนโลกเรา ซึ่งกรินสพูนกับเพื่อนนักวิจัยของเขาที่ชื่อมาร์ค บูลล็อค (Mark Bullock) จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ในเมืองโบลเดอร์ โคโลราโด ได้ชี้ให้เห็นว่าอาจใช้การทดสอบเพื่อกำหนดหาว่ามหาสมุทรบนดาวศุกร์จะคงอยู่ได้นานเท่าใดได้ ด้วยการหาหินแร่ในกลุ่มแร่ใยหินชนิดหนึ่ง คือแร่ ทรีโมไลท์ (Tremolite) ซึ่งเป็นหินแปรซิลิเกตที่มีปริมาณแคลเซียม และแมกนีเซียมมาก ที่จะก่อตัวได้ในสภาพที่มีน้ำ (แร่ชนิดนี้ในอุตสาหกรรมบนโลกจะมีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาว ยืดหยุ่นได้น้อย แต่ทนต่อกรดและความร้อน มีประโยชน์ใช้สอยค่อนข้างน้อยเนื่องจากปั่นทอได้ยาก)

          เนื่องจากมันมีอัตราการผุกร่อนที่ไวต่ออุณหภูมิ จึงสามารถใช้เป็นนาฬิกาทางเคมีเพื่อหาว่ามหาสมุทรหายไปเมื่อไรแน่ ซึ่งสามารถทดสอบภายในตัวยานหุ่นยนต์สำรวจลงพื้นดาวศุกร์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เคยมียานสำรวจลงพื้นดาวได้สำเร็จอีกเลยนอกจากยานสำรวจในตระกูลวีเนอราหลายลำ (ยานลงพื้นของวีเนอรา 8 – 14) ของสหภาพโซเวียตรัสเซียที่ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการลงจอดและปฏิบัติภารกิจ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ลงจอดสำเร็จได้แก่ยาน วีเนอรา-14 ซึ่งลงจอดในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1982 (พ.ศ. 2525) เท่านั้น

          อย่างไรก็ตามในขณะนี้ในวงโคจรรอบดาวศุกร์ ก็ยังมียานสำรวจที่ยังคงปฏิบัติการเก็บข้อมูลจากวงโคจรอย่างต่อเนื่องอยู่หนึ่งลำ ได้แก่ ยานอาคัตสึกิ (Akatsuki) ซึ่งแปลว่ารุ่งอรุณ (ชื่อเดียวกับองค์กรลับนินจานอกกฎหมายในการ์ตูนนารูโตะนั่นแหละ นะครับนะ – ผู้เขียน) ซึ่งยานลำนี้ก็ยังคงปฏิบัติการได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.2015 มาจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงปฏิบัติการจนถึงปลายปี ค.ศ.2020 นี้

สิ่งมีชีวิตในหมู่เมฆ

          เราทราบแล้วว่า ในปัจจุบันนี้บนพื้นผิวของดาวศุกร์ร้อนกว่า 457 – 464 oC ร้อนพอจะหลอมตะกั่วได้ และความดันกว่า 89 เท่าของบรรยากาศโลกที่ระดับน้ำทะเล ซึ่งคงไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่ทนทานสภาวะขนาดนั้นได้ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตในชั้นเมฆของดาวศุกร์ ที่ระดับสูงกว่าพื้นผิวดาวหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งเย็นลงพอจะอยู่ในระดับที่สิ่งมีชีวิตจะทนทานไหว

          คนที่ครุ่นคิดเรื่องนี้และเสนอไอเดียเป็นคนแรก ๆ คือ คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน และนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ผู้มีบทบาทอย่างมากในโครงการเซติ หรือโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกพิภพ เป็นผู้จัดรายการ “คอสมอส” (Cosmos) สารคดีวิทยาศาสตร์ที่โด่งดัง และเป็นผู้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Contact ซึ่งเคยทำเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในชื่อไทยว่า อุบัติการณ์สัมผัสห้วงจักรวาล โดยมี โจดี้ ฟอสเตอร์ เป็นดารานำ

          เซแกนมีแนวความคิดว่า แม้โอกาสจะน้อย แต่ยังน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกพัดพาไปบนท้องฟ้าของดาวศุกร์ในชั้นบรรยากาศที่ความสูงระหว่าง 40 ถึง 60 กิโลเมตรจากพื้นดาว ซึ่งอุณหภูมิจะแปรค่าระหว่างจุดเดือดและจุดหลอมเหลวของน้ำ และความดันของชั้นบรรยากาศลดลงจนเท่า ๆ กับบนผิวโลก ซึ่งเซแกนได้ทำงาร่วมกับฮาโรลด์ โมโรวิทซ์(Harold Morowitz) จากมหาวิทยาลัยเยล และตีพิมพ์ผลงานของพวกเขาในปี ค.ศ. 1967 โดยสันนิษฐานว่าอาจเป้นไปได้ที่จะมีจุลินทรีย์ที่สังเคราะห์แสงได้ ในสภาพที่เป็นถุงก๊าซที่ลอยได้และพยุงตัวของพวกมันที่รวมเป็นโคโลนีอยู่บนระดับชั้นเมฆดาวศุกร์โดยไม่ตกลงไปข้างล่างที่ร้อนกว่า

          แนวคิดนี้ยังไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก จนเมื่อปี 2002 ศาสตราจารย์เดิร์ค ชูลซ์-มาคุช (Dirk Schulze-Makuch) ที่ศูนย์ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลินเยอรมนี และศาสตราจารย์วุฒิคุณที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท และศาสตราจารย์กิตติคุณ หลุยส์ เออร์วิน (Louis Irwin) ที่สาขาวิทยาศาสตร์ชีววิทยา มหาวิทยาลัยเท็กซัส ที่ เอล ปาโซ (El Paso) ได้รับเอาแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในชั้นเมฆของดาวศุกร์นี้มา และตั้งข้อสังเกตว่าชั้นบรรยากาศดาวศุกร์นั้นขาดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ ด้วยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่นฟ้าผ่าจากเมฆที่ประกอบด้วยกรดกำมะถัน ซึ่งได้รับการยืนยันจากยานสำรวจหลายลำนับแต่อดีต จนมาถึงข้อมูลที่สังเกตได้ล่าสุดโดยยาน Venus Express และยานอาคัตสึกิ และพวกเขาก็ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่ายังมีการตรวจพบก๊าซคาร์บอนิลซัลไฟด์ (COS) ในชั้นบรรยากาศซึ่งก๊าซนี้จะเกิดได้ยากมากหากไม่ใช่กลไกทางชีววิทยา ซึ่งศาสตราจารย์ชูลซ์-มาคุช และทีมงานก็ได้ให้เหตุผลว่าการสังเกตการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมกันบ่งถึงว่ามีโคโลนีของจุลินทรีย์บนชั้นเมฆของดาวศุกร์ที่คอยดึงเอาก๊าซ CO ออกจากบรรยากาศ และเพิ่มก๊าซ COS เข้ามาในบรรยากาศ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดในแวดวงวิชาการ

          จนมาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง ที่มีข่าวล่าสุดที่น่าตื่นเต้น ว่ามีการค้นพบก๊าซฟอสฟีน (PH3) ซึ่งนับเป็นสารบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) ชนิดหนึ่ง ในระดับความเข้มข้นถึง 20 ส่วนในพันล้านส่วนในบรรยากาศของดาวศุกร์ โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ประเทศสหราชอาณาจักร ที่นำโดย เจน กรีฟส์ (Jane Greaves) โดยอิงจากหลักฐานที่เคยมีรายงานข้อสงสัยจากการศึกษาก่อนหน้านี้ว่า ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งผิดปกติและอาจจะเกิดจากก๊าซที่เป็นผลผลิตจากกิจกรรมในการดำรงชีวิตของเชื้อจุลินทรีย์ในชั้นบรรยากาศ ทีมงานของเธอจึงเริ่มสังเกตสเปกตรัมของสารประกอบบนชั้นเมฆที่ความสูง 50 กิโลเมตรจากผิวดาว โดยใช้กล้องโทรทรรศน์เจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวล(James Clerk Maxwell) ที่ตั้งอยู่บนยอดเขามัวนาคีในฮาวาย ซึ่งค้นพบสารดังกล่าวในปี 2017

          แต่เธอและทีมงานยังไม่ปักใจ จึงใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์อัลมา (ALMA) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือจากนานาชาติ ประกอบด้วยกล้อง 45 ตัวทำงานด้วยกันเพื่อให้ได้ผลเหมือนกล้องโทรทรรศน์เครื่องเดียวที่มีขนาดยักษ์จากการรวมสัญญาณ ตั้งอยู่ในทะเลทรายอาตากามา (Atacama Desert) ประเทศชิลี ทะเลทรายแห่งนี้ได้ขึ้นชื่อว่าแห้งแล้งที่สุดของโลก ซึ่งด้วยความสูง และความชื้นที่ต่ำเอามาก ๆ ทำให้ลดสัญญาณรบกวนจากบรรยากาศของโลกได้เป็นอย่างดี

          ซึ่งผลที่ได้ก็ยืนยันการค้นพบก่อนหน้านี้ของเธอ ทำให้เกิดความตื่นตัวในวงการดาราศาสตร์ทั่วโลก เพราะก๊าซนี้บนโลกพบได้ยากจากปฏิกิริยาในธรรมชาติ ยกเว้นเกิดจากกิจกรรมของเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องอาศัยออกซิเจนในการดำรงชีวิตเท่านั้น หรือเกิดจากมนุษย์เราตั้งใจสังเคราะห์มันขึ้นมา ซึ่งการค้นพบนี้ได้ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ไปในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา (อ่านบทความวิจัยต้นฉบับได้ใน https://www.nature.com/articles/s41550-020-1174-4)

          ประเด็นที่เรียกเสียงฮือฮาล่าสุด คือการที่มีนักวิจัยด้านดาราศาสตร์สองคน ที่ก่อนหน้านี้มีส่วนในการผลักดันโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งยานไปเก็บตัวอย่างจากอวกาศห้วงลึกและวัตถุจากนอกระบบสุริยะอย่างดาวเคราะห์น้อยปริศนาโอมูอามูอา (oumuamua) ได้แก่ อังเดร ไฮน์ (Andreas Hein) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศที่มหาวิทยาลัย Paris-Saclay University ในฝรั่งเศส และ มนัสวี ลินแกม (Manasvi Lingam) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาอวกาศ ที่ภาควิชาวิทยาการด้านการบิน ฟิสิกส์และอวกาศ สถาบันเทคโนโลยีฟลอริดา ซึ่งได้ส่งข้อเสนอให้มีโครงการสำรวจต้นทุนต่ำโดยใช้บอลลูนไปยัง The Astrophysical Journal Letters เพื่อที่ว่าจะได้ตรวจดูให้แน่ชัดว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่จริงไหมในชั้นเมฆในระดับความสูง 50 – 60 กิโลเมตรจากผิวดาว ซึ่งยานสำรวจจะเก็บอนุภาคละอองลอย และฝุ่นผง เพื่อนำไปวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ในตัวยาน รวมถึงในยานจะติดตั้งอุปกรณ์ mass spectrometer ขนาดย่อส่วน เพื่อตรวจหาโมเลกุลสารอินทรีย์ที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ยังติดอุปกรณ์ในการสังเกตความดันและอุณหภูมิ หากได้รับการสนับสนุนเรื่องทุนรอน โครงการนี้จะสามารถส่งยานสำรวจไปได้ในช่วงปี 2022 – 2023 เนื่องจากหากลดน้ำหนักยานลงได้จนไม่เกิน 50 กิโลกรัม ต้นทุนการสร้างและส่งยานจะต่ำกว่า 20 ล้านเหรียญ ซึ่งไม่เกินความสามารถของบริษัทเอกชนที่จะส่งยานเหล่านี้ไปได้

          อันที่จริงกลุ่มของไฮน์ และลินแกม ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่มีความสนใจส่งยานขนาดเล็กไปสำรวจดาวศุกร์ แต่เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากภาคเอกชนที่มีเงินถึง สำหรับโครงการสำรวจอวกาศขนาดเล็กเกิดขึ้นหลายต่อหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งชื่อ Rocket Lab ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของอเมริกาที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีด้านอวกาศ และเป็นผู้ให้บริการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก ที่มีบริษัทในเครือเดียวกันของนิวซีแลนด์เป็นเจ้าของทั้งหมด ก่อตั้งโดย ปีเตอร์ เบ็ค ซึ่งสร้างชื่อเสียงโดยการพัฒนาจรวดน้ำหนักเบาที่เรียกว่า Electron ซึ่งให้บริการยิงดาวเทียมขนาดเล็ก และดาวเทียมระดับจิ๋ว cubesat ขนาด 10X10X10 ซม. น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ที่เพิ่งมีข่าวนักเรียนไทยร่วมกันพัฒนาส่งไปปล่อยสู่วงโคจรนั่นเอง

โลกที่ถ่ายโดยจรวด Photon ของบริษัท Rocket Lab ขณะอยู่ในวงโคจร ยานลำนี้แหละ ที่จะไปดาวศุกร์ในปี 2023

          เบ็ค ซึ่งควบตำแหน่งประธานบริษัท ได้ประกาศออกมาว่าบริษัทเอกชนของเขาจะส่งยานไปสำรวจดาวศุกร์ ซึ่งจะพร้อมในปี ค.ศ.2023 โดยเป็นยานสำรวจขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเพียง 37 กิโลกรัม โดยเข้าให้สัมภาษณ์กับนักข่าวบีบีซีว่า แม้ยานที่มีขนาดเพียง 37 กิโลกรัมดูเหมือนไม่มากมายอะไร แต่มันก็สามารถใส่อุปกรณ์เอาไว้ได้มากพอสมควรถ้าหากเรามั่นใจว่าต้องการจะวัดอะไร และจะหาอะไร ซึ่งยานจะปล่อยโพรบดิ่งลงไปในบรรยากาศของดาวศุกร์เพื่อเก็บข้อมูล ดังนั้นมันจะมีเวลาไม่มากที่จะอยู่ในระดับความสูง 50 – 60 กิโลเมตรที่ที่มีการค้นพบก๊าซฟอสฟีน ดังนั้นการวัดต่างๆ จึงกระทำได้ในช่วงสั้นๆ ก่อนยานจะตกลงไปในชั้นบรรยากาศที่ลึกกว่านั้น ซึ่งแตกต่างจากยานติดบอลลูนตามข้อเสนอของกลุ่มนักวิจัยอังเดร ไฮน์ และมนัสวี ลินแกม

          ยุคของการสำรวจอวกาศด้วยโครงการเล็ก ๆ และบริษัทเอกชน ได้เริ่มขึ้นแล้ว !


แหล่งข้อมูล
Beech, M. 2009. Terraforming: The Creating of Habitable Worlds. Springer Science and Business Media, LLC., New York.

About Author