Headlines

โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ม.มหิดล ได้รับการรับรองมาตรฐานสวนพฤกษศาสตร์โลก BGCI สหราชอาณาจักร

          ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติ COVID-19 หรือวิกฤติใดๆ ก็ตาม การมีสวนพฤกษศาสตร์ที่อุดมไปด้วยพันธุ์พืชซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นอาหารและยา จะสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชากรโลกได้เสมอทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          เป็นเวลาเกือบ 40 ปีจาก “สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ” ที่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และวิจัยด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ที่ดำเนินการโดยภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต่อมาได้รับการขยายพื้นที่และขอบเขตการดำเนินงานเป็น “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล” และ “โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล” ในปัจจุบัน จากการเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชสมุนไพรไทยกว่า 800 ชนิดในพื้นที่ 140 ไร่ ณมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่เปิดกว้างเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน ได้พิสูจน์ถึงความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้มาตรฐานสากล โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้รับการรับรองจาก Botanic Gardens Conservation International (BGCI) ซึ่งเป็นองค์กรของสหราชอาณาจักร ที่มีเครือข่ายสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลดังกล่าว


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ
รักษาการผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

          รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ รักษาการผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากที่อุทยานฯ ได้รับการรับรองจาก BGCI นั้น นับเป็นการตอบสนองวิสัยทัศน์ของการก้าวขึ้นสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลกของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสมุนไพรและธรรมชาติวิทยาที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งเป้าหมายต่อไป คือ การเพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชสมุนไพร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน และประโยชน์ในการศึกษาวิจัยต่อไป รวมถึงการขยายงานด้านการวิจัยและการสร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมุนไพรในระดับนานาชาติ

          ซึ่งพันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆ ที่จัดแสดงในอุทยานฯ นั้นจะต้องผ่านกระบวนการที่ได้มาตรฐานสากล คือ จะต้องมีการลงทะเบียนพันธุ์พืชก่อนนำไปปลูกพักฟื้นให้พร้อมจัดแสดงในอุทยานฯ พร้อมป้ายจัดแสดงที่ชัดเจน ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองจาก BGCI คือ การเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีงานวิจัยที่มี impact รองรับ ซึ่งอุทยานฯ มีตัวอย่างสมุนไพรที่สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และได้มีการจัดทำอนุกรมวิธานพันธุ์พืชสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถนำไปใช้อ้างอิง และต่อยอดทางการศึกษาวิจัยได้อย่างหลากหลาย โดยนักวิจัยประจำอุทยานฯ และจากส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนจากเครือข่ายวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้วางแผนจะเปิดหลักสูตรปริญญาโทและเอกด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ร่วมกับเครือข่ายพฤกษศาสตร์นานาชาติ และมุ่งหวังให้อุทยานฯ เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรสู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน
หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า การที่ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองมาตรฐานโลกจาก BGCI เป็นครั้งแรกของประเทศไทยนี้ จะเป็นการเปิดประตูสู่นานาชาติในการสร้างเครือข่ายด้านพฤกษศาสตร์ในระดับสากลต่อไป โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 – 15.30 น. ทางอุทยานฯ จะจัดสัมมนาออนไลน์นานาชาติ “Siree Park Webinar” ในหัวข้อ “Botanical Garden Accreditation and Collection Management – ทำอย่างไรถึงได้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ระดับโลก” เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแวดวงวิชาการพฤกษศาสตร์นานาชาติ ตลอดจนถอดบทเรียนเพื่อผลักดันให้สวนพฤกษศาสตร์ที่อยู่ในเครือข่ายได้ก้าวขึ้นสู่มาตรฐานระดับสากลต่อไป

          พบกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสวนพฤกษศาสตร์ อาทิ Dr.Greetha Arumugam จาก BGCI และ Dr.Nura Abdul Karim จากสวนพฤกษศาสตร์ ประเทศสิงคโปร์ ร่วมด้วย ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ประเทศไทย ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์การอนุรักษ์พันธุ์พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ติดตามรายละเอียด พร้อมลงทะเบียนสัมมนาออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ https://sireepark.mahidol.ac.th/webinar2021

          ติดตามข่าวที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author