สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 1: แนะนำคอลัมน์

สวัสดีเพื่อนๆ ผู้อ่านสาระวิทย์ทุกท่าน ยังจำบทความสัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วภายใต้คอลัมน์เรื่องเขียนจากผู้อ่านสาระวิทย์กันได้ไหม! ห่างหายกันไปเสียนานแต่ฉันก็กลับมาอีกครั้งแล้ว!! (ถึงสัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วของฉันจะถูกปลดปล่อย และได้แยกย้ายกลับถิ่นธรรมชาติของมันไปแล้วก็เถอะ) ตอนนี้ฉันได้รับทุนการศึกษาที่ United World College: Atlantic College (UWCAC) ประเทศเวลส์ สหราชอาณาจักร การจากบ้านมาสองเดือนกว่าๆทำให้ฉันคิดถึงประเทศไทย และสัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วของฉันมากๆ ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวใหม่ๆ ผ่านเข้ามามากมาย ฉันเลยอยากจะเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ใหม่ๆให้เพื่อนๆ ฟังกันอีก

โรงเรียนที่ฉันเรียนตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆติดริมทะเล มีห้องเรียนอยู่ในปราสาท บรรยากาศเหมือนโรงเรียนฮอกวอร์ตส์จากนิยายเรื่องแฮร์รี่พอตเตอร์ จำได้ว่าตอนรู้บ้านพักในโรงเรียนคือรู้สึกเหมือนกำลังสวมหมวกคัดสรรอยู่เลย 555

ที่นี่ฉันได้รู้ว่าที่นี่อากาศดีมากจากการสังเกตไลเคนส์สีสด (ฉันเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับไลเคนส์ หากเพื่อนคนไหนสนใจไปหาอ่านได้ในสาระวิทย์ฉบับที่ 49 เดือนเมษายน  พ.ศ. 2560 นะ) และรูปทรงประหลาดๆ ที่มีขนาดใหญ่ดูอุดมสมบูรณ์อยู่กันหนาแน่นเต็มกิ่งไม้

ฉันยังได้เห็นลำดับฟิโบนักชีในธรรมชาติอยู่ทุกวันๆ ความสวยงามแห่งตัวเลขทางคณิตศาสตร์ไม่ใช่มีอยู่แค่ในห้องเรียนคณิตศาสตร์ ความมหัศจรรย์ของจำนวนตัวเลข ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติฉันสามารถพบเจอได้ในทุกครั้งที่เดินผ่านสวนดอกไม้ไปห้องเรียน และเดินเล่นในป่าหลังโรงเรียน

          ยิ่งไปกว่านั้น ทุกๆเช้าที่ฉันเดินออกจากหอพักไปเข้าห้องเรียน ก็จะมีเมล็ดอะไรไม่รู้รูปร่างแปลกๆ หล่นใส่หัวฉันด้วยการเคลื่อนไหวแบบควงสว่าน คล้ายกับลูกยางบ้านเรา แต่สวยไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งฉันเองก็สงสัย และกำลังพยายามหาคำตอบอยู่ ถึงลักษณะปีกของมัน และเทคนิคการชะลอแรงกระแทก สู้กับแรงโน้มถ่วง และแข็งแกร่งพอที่จะไม่ถูกลมพัดลอยหายไป เพราะที่นี่ลมแรงมากๆฉันยังเกือบโดนพัดปลิวเลย

และที่ถูกใจฉันที่สุดคือ ฉันได้คลายความคิดถึงสัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วของฉันด้วยการแวะเวียนมาหาเจ้าจิ้งจกน้ำที่ห้องทดลองชีววิทยาอยู่ทุกๆวัน แล้วก็ได้ค้นพบถึงความมหัศจรรย์ที่มันสามารถสร้างอวัยวะใหม่ทดแทนได้เมื่อถูกตัดขาดไป (คุ้นๆเหมือนเจ้าพลานาเรียเพื่อนเก่าของฉันเลย ไปลองหาอ่านดูได้จากสาระวิทย์ฉบับที่ 36 เดือนมีนาคม 2559 นะ!)

เกริ่นมาซะยาว จะเห็นได้ว่าความงามทางศิลปะ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่เกิดจากกฎเกณฑ์พื้นฐานทางธรรมชาติซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เราจึงไม่สามารถแยกศาสตร์และศิลป์ออกจากกันได้เลย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงชาวเยอรมันเชื้อสายยิวกล่าวเอาไว้ว่า “The Greatest Scientists are artists as well”

(จากหนังสือ The New Quotable Einstein ของ Alice Calaprice) จากประโยคนี้ในความคิดของฉัน ฉันคิดว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีไม่ต่างอะไรกับการเป็นศิลปินที่เด่น นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆได้ต้องมีจินตนาการที่กว้างไกล และมีสุนทรียะทางศิลปะ ในขณะที่ศิลปินที่ชื่อเสียงต้องมีขบวนการคิดที่เป็นระบบระเบียบ และเข้าใจในกฎเกณฑ์และข้อจำกัดทางธรรมชาติได้ดี 

ก่อนออกเดินทางมาที่นี่ ฉันได้มีโอกาสไปร่วมงาน Thailand Space Week 2019 พูดคุยเกี่ยวกับ SYAT : Space Youth Association of Thailand หรือ สมาคมยุวชนอวกาศ และได้รับเชิญจากพี่ๆ Spaceth.co เข้าร่วมแชร์ความคิดเห็นในหัวข้อในจักรวาลนี้ไม่มีสายวิทย์สายศิลป์ ในความหมายที่เราคุยกันคือการศึกษาไม่ควรมีการแบ่งแยกเป็นสายวิทย์หรือสายศิลป์ เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากแล้ว วิทย์ใช้อธิบายถึงขบวนการทำงานในขณะที่ศิลป์คือมุมมองของมนุษย์และผลผลิตจาการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา

อธิบายง่ายๆก็คือในขบวนการทำงานให้สำเร็จเมื่อฉันทำอาหาร ขบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็เริ่มต้น การหาวัตถุดิบ (การเก็บรวบรวมข้อมูล) การกำหนดตัวแปร (สูตรของอาหาร) ขณะที่หั่นผักฉันใช้หลักทางศิลปะ ไปจนถึงการปรุงแต่งจัดจานอาหารให้น่าทาน วิทย์กับศิลป์จึงเป็นศาสตร์สองศาสตร์ที่มองเผินๆเหมือนจะเป็นคนละขั้ว แต่ในบางทีก็ยากที่จะบอกถึงความแตกต่าง หรือจะเรียกว่าไม่สามารถแยกจากกันก็ได้

พอได้มาเรียนที่นี่ในหลักสูตรที่ไม่ได้แบ่งระหว่างวิทย์กับศิลป์ แต่เป็นหลักสูตรที่เราได้ออกแบบส่วนผสม เลือกวิชาเองตามที่เราสนใจอยากเรียนรู้ และเพื่อต่อยอดไปสู่คณะที่เราจะเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ฉันก็ได้เจอเรื่องราวน่าสนใจหลายเรื่องระหว่างช่วงที่อยู่ที่นี่ ที่เกี่ยวข้องกับวิทย์และศิลป์เช่นกัน ฉันเลยว่านี่ถือเป็นโอกาสดีที่ฉันจะมาเขียนแชร์เรื่องราววิทย์แนวศิลป์ๆให้ได้อ่านกัน ภายใต้หัวข้อ “สาระวิทย์ในศิลป์”


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 80 เดือนพฤศจิกายน 2562
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/158431

About Author