ท่องอวกาศกับกล้องโทรทรรศน์แบบโรโบติก ตอนที่ 2

เรื่องโดย: วริศา ใจดี


 

          ต่อจากฉบับที่แล้วที่ฉันได้เล่าวิธีการสมัครเข้าใช้งานกล้องโทรทรรศน์แบบโรโบติก 2 ตัวในโครงการ Faulkes telescope ฉบับนี้ฉันจะเล่าถึงกล้องโทรทรรศน์แบบเดียวกันนี้อีกตัวหนึ่ง กล้องตัวนี้เปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้เพื่อการศึกษาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จะใช้ได้แค่แบบออฟไลน์เท่านั้น หรือใช้เป็นการส่งคำขอถ่ายวัตถุที่ต้องการไปยังระบบของกล้องเพื่อรอรับภาพกลับมา แทนที่จะเข้าไปควบคุมและจัดแจงถ่ายภาพเสียเอง นั่นคือกล้องโทรทรรศน์ Liverpool Telescope (LT) ตั้งอยู่ที่ Roque de los Muchachos Observatory ที่ Canary Island ประเทศสเปน โดยที่กล้องตัวนี้อยู่ภายใต้การจัดการของ The National Schools’ Observatory (NSO)

ภาพ Liverpool Telescope ที่ Roque de los Muchachos Observatory, Canary Island ประเทศสเปน
ขอบคุณภาพจาก: https://www.schoolsobservatory.org/gallery/lt

          การใช้งานสะดวกและง่ายตรงที่เราไม่ต้องเข้าไปควบคุมตัวกล้องโดยตรง แต่ระบบจะบันทึกคำขอของเรา และจะทยอยถ่ายภาพส่งมาให้ผู้ขอตามลำดับคำขอที่มีอยู่ การใช้งานแบบนี้จึงซับซ้อนน้อยกว่าแบบเรียลไทม์ เนื่องจากเราไม่ต้องทำการตั้งค่าหรือกำหนดตำแหน่งเอง ภาพที่ได้มาจะถูกถ่ายด้วยการตั้งค่าของกล้องที่คำนวณมาแล้วเพื่อความเหมาะสมของวัตถุที่เราต้องการ ตั้งแต่ระยะเวลาชัตเตอร์และฟิลเตอร์ที่ใช้ ทำให้ภาพออกมามีความชัดพอสมควร ภาพที่ได้จะเป็นภาพแบบขาวดำ

          การใช้งานสะดวกและง่ายตรงที่เราไม่ต้องเข้าไปควบคุมตัวกล้องโดยตรง แต่ระบบจะบันทึกคำขอของเรา และจะทยอยถ่ายภาพส่งมาให้ผู้ขอตามลำดับคำขอที่มีอยู่ การใช้งานแบบนี้จึงซับซ้อนน้อยกว่าแบบเรียลไทม์ เนื่องจากเราไม่ต้องทำการตั้งค่าหรือกำหนดตำแหน่งเอง ภาพที่ได้มาจะถูกถ่ายด้วยการตั้งค่าของกล้องที่คำนวณมาแล้วเพื่อความเหมาะสมของวัตถุที่เราต้องการ ตั้งแต่ระยะเวลาชัตเตอร์และฟิลเตอร์ที่ใช้ ทำให้ภาพออกมามีความชัดพอสมควร ภาพที่ได้จะเป็นภาพแบบขาวดำ

          ในส่วนของการแต่งภาพนั้นจะเป็นเรื่องของการปรับความละเอียด ขยายขนาด ความสว่าง และเติมสีสังเคราะห์หรือฟิลเตอร์เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามสอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้งานนั่นเอง และสามารถทำได้โดยใช้ฟังก์ชั่นในซอฟต์แวร์ LTImage ซึ่งเราสามารถเข้าไปดาวน์โหลดซอฟต์แวร์นี้มาใช้งานเพื่อการศึกษาได้ฟรีที่ https://www.schoolsobservatory.org/obs/software/ltimage

          นอกจากนี้เรายังสามารถขอใช้ภาพข้อมูลที่ถูกรวบรวมไว้แล้วในคลังภาพ (Achieve of Observations) ได้เช่นกันโดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกได้ที่เว็บไซต์ของ National Schools’ Observatory (NSO) https://www.schoolsobservatory.org และท่องจักรวาลได้ผ่านฟังก์ชั่น Go Observing ที่ประกอบไปด้วยรายชื่อวัตถุที่เราสามารถสำรวจได้ตามประเภทต่างๆ ตั้งแต่พื้นผิวดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ ไปจนถึงเนบิวลาและกาแล็กซีที่ห่างไกลออกไป พร้อมระบุช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สามารถมองเห็นวัตถุนั้นๆ ได้ชัด ประกอบการพิจารณาว่าเราควรจะเลือกดูอะไรเพื่อวัตถุประสงค์ใด ภาพตามคำขอของเราที่ถ่ายสำเร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาเก็บรวบรวมไว้ใน My Observations ทั้งนี้เราสามารถเข้าสู่ระบบดึงภาพจากฐานข้อมูลที่เก็บไว้ หรือส่งคำขอให้ถ่ายภาพใหม่ได้อยู่เรื่อยๆ อย่างไม่จำกัด เพียงแต่อาจต้องใช้ระยะเวลารอภาพถ่ายที่ร้องขอนานสักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สำคัญๆ ที่มีคนลงจองการใช้งานกันเยอะ ใครอยากทดลองใช้ก็อย่าลืมเตรียมวางแผนล่วงหน้ากันไว้ก่อน

          ส่วนในกรณีที่เราต้องการภาพถ่ายวัตถุบนท้องฟ้าในช่วงเวลาที่ในอดีตเคยมีผู้ร้องขอ และได้มีการถ่ายภาพนั้นๆ และเก็บบันทึกไว้แล้ว เราสามารถเข้าไปเรียกดูภาพจากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วได้ที่ Archive of observations โดยใช้การสืบค้นตามชื่อเรียกวัตถุบนท้องฟ้า หรือชื่อของผู้ใช้ที่ร้องขอให้ถ่ายภาพนั้นๆ รวมทั้งยังสามารถระบุช่วงเวลาของภาพที่ถูกบันทึกไว้ได้ด้วย

ภาพแสดงตัวอย่างหน้าแสดงผลของของภาพที่กล้องทำการถ่ายและส่งกลับมาให้ฉันเรียบร้อยแล้วที่ my observation จะเห็นว่ามีระบุชื่อวัตถุบนท้องฟ้าที่ต้องการถ่ายภาพ เวลาที่ทำการถ่ายภาพ ชื่อกล้องที่ใช้พร้อมฟิลเตอร์ที่ใช้ และชื่อของผู้ส่งคำร้องขอภาพนี้ด้วย

 

          ภาพต่อไปเป็นภาพที่ฉันส่งคำขอไปยังกล้องโทรทรรศน์ LT และฉันได้ใช้ซอฟต์แวร์ LTimage ปรับความคมชัดให้ภาพชัดเจนแล้ว พร้อมเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้รูปร่างหน้าตาที่สวยงามอย่างน่าประหลาด นอกจากชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกตั้งตามการจัดกลุ่มแล้ว ยังมีชื่อที่ตั้งตามรูปร่างของมันตามจินตนาการของคนที่พบเห็นมันอีกด้วย ไปดูกันเลย!

ภาพ Messier 1 ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์ LT จะได้ไฟล์ภาพขาวดำที่ค่อนข้างมืดสนิท เราต้องใช้คำสั่ง Display Scaling ในซอฟต์แวร์ LTimage ปรับความคมชัดของภาพจนมองเห็นเป็นรูปร่างที่ชัดเจน

Messier 1 หรืออีกชื่อคือเนบิวลาปู (Crab Nebula) เป็นซากของดาวฤกษ์ที่ระเบิดตัวอย่างรุนแรง โดยมีแก่นเป็นดาวนิวตรอนชื่อพัลซาร์ปู (Crab Pulsar) ที่น่าสนใจคือเนบิวลานี้นับเป็นเป็นวัตถุแรกที่เราสามารถระบุได้จากการระเบิดซูเปอร์โนวา และยังเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์ที่ให้กำเนิดรังสีแกมมาที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเจอ (จากข้อมูลการสำรวจทางดาราศาสตร์ล่าสุดในปี 2562)

ตัวอย่างภาพที่ฉันเรียกดูจากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วใน Archive of observations และฉันปรับความคมชัดให้ภาพด้วยซอฟต์แวร์ LTimage

ภาพทางซ้าย : Lyra constellation หรือเนบิวลาวงแหวนในกลุ่มดาวพิณ เกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายของวงจรชีวิตดาวฤกษ์มวลต่ำ ตรงกลางที่เป็นรูเหมือนวงแหวนคือเกิดจากแรงตอนที่ดาวนั้นยุบตัวกลายเป็นดาวแคระขาว

ภาพทางขวา : Cygnus constellation หรือเนบิวลาเสี้ยวจันทร์ ในกลุ่มดาวหงส์ รูปร่างที่แหว่งไปเหมือนเสี้ยวของดวงจันทร์นั้นเกิดขึ้นจากการตีกันของลมสุริยะเมื่อดาว Wolf-Rayet 136 (WR 136) ปล่อยออกมาตอนมันกลายเป็นดาวยักษ์แดง (Red Giant)

          นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกดูสถานะของกล้อง Liverpool Telescope ในขณะที่ทำการถ่ายภาพที่เราร้องขอได้ด้วยการกดเลือกที่ Observing Conditions โดยจะมีข้อมูลบอกถึงเวลา ณ ขณะนั้น สภาพอากาศ เฟสของดวงจันทร์ ตำแหน่งของวัตถุโดยใช้ดาวบนท้องฟ้าเป็นจุดอ้างอิง และวิดีโอถ่ายทอดสดเรียลไทม์ของกล้องที่กำลังทำงานขณะถ่ายภาพนั้นอยู่

          ที่จริงยังมีอีกเรื่องที่ฉันอยากเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกวด Image of The Month ของ NSO เราสามารถส่งภาพที่ปรับแต่งด้วย LTImage ไปประกวดได้ด้วยนะ ต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง เดี๋ยวฉบับหน้ามาเล่าให้ฟัง


สามารถดาวน์โหลดบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ในนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 92 เดือน พ.ย. 63 ได้จากลิงก์ด้านล่าง
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/216676

About Author