ท่องอวกาศกับกล้องโทรทรรศน์แบบโรโบติก ตอนที่ 1

เรื่องโดย: วริศา ใจดี


 

          ในช่วงที่ฉันจัดสัปดาห์ดูดาวในโรงเรียนที่เวลส์ ฉันได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง รวมไปถึงความจริงที่ว่า การดูดาวนั้นไม่ง่ายเอาซะเลย ถ้าวันไหนฟ้าโปร่งก็ถือว่าโชคดีไป แต่วันไหนเมฆครึ้มฝนมาล่ะก็ แผนการดูดาวของฉันก็ต้องถูกยกเลิกไป และต้องเปลี่ยนแผนไปจัดกิจกรรมกันในห้องเรียนหรือเข้าฟังการบรรยายต่างๆ แทน อีกทั้งการรอถ่ายภาพดวงดาวในช่วงที่ท้องฟ้าไม่เป็นใจต้องอาศัยความอดทนพอสมควร ฉันกับเพื่อนๆ ต้องอยู่กันจนถึงดึกกว่าจะได้ภาพสวยๆ สักภาพ

          ภาพนี้อาจารย์ Valentina Mindoljevic ที่ปรึกษาโครงการดูดาวของฉันถ่ายที่โรงเรียน UWCAC ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือของเธอ และส่งมาให้ฉันช่วงที่ฉันหนีโควิดกลับมาเมืองไทย ภาพนี้ฉันใช้เทคนิคตกแต่งภาพให้สว่างขึ้นเพื่อให้สามารถมองเห็นหางของนีโอไวส์ ได้ชัดเจนขึ้น ที่วงสีแดงในภาพคือดาวหางนีโอไวส์ (Neowise) ที่โคจรเข้าใกล้โลกเราเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมานี้

          ตามการคำนวณของนักดาราศาสตร์แล้ว ดาวหางนี้คงไม่กลับมาให้สังเกตเห็นได้ในอีกรอบ 6,800 ปีข้างหน้า อาจารย์เล่าให้ฟังแสงของมันจางเกินกว่าจะมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เธอก็ประมาณการตำแหน่งคร่าวๆ บนท้องฟ้าและใช้มือถือเก็บภาพมาจนได้ เพราะกล้องมือถือสามารถจับแสงสว่างที่ตาเปล่าเรามองไม่ชัดได้ จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการมองเห็นและการถ่ายภาพ ทักษะด้านศิลปะและเทคนิคการถ่ายภาพ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อศาสตร์แห่งการดูดาว เช่นเดียวกับทฤษฎีการคำนวณทางดาราศาสตร์เลยทีเดียว

          คนสมัยก่อนแหงนหน้ามองดูท้องฟ้าด้วยสองตาเปล่า เรามองเห็นในสิ่งที่ตาเราเห็น เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาขึ้นมา จากการมองด้วยตาเปล่าก็ขยับไปเป็นกล้องโทรทรรศน์พกพาได้ ไปจนถึงการนำคอมพิวเตอร์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาช่วยทำให้การดูดาวหรือวัตถุอื่นๆ ในอวกาศอันไกลโพ้นนั่นง่ายเพียงปลายนิ้ว

          กำลังขยายของกล้องที่มีมากขึ้นก็พาเราเข้าใกล้กับจักรวาลอันกว้างใหญ่ยิ่งขึ้น จนถึงปัจจุบันมีกล้องโทรทรรศน์นอกโลกอย่างฮับเบิลที่ตามขึ้นไปถ่ายวัตถุบนนั้นส่งตรงมาให้เราดูได้เลยทีเดียว การสำรวจท้องฟ้าที่เคยใช้เพื่อศึกษาและอธิบายเรื่องราวปรากฏการณ์ธรรมชาติ เปลี่ยนเป็นการสำรวจเพื่อไขความลับของจักรวาล ลำพังเพียงภาพจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยจินตนาการ และการคำนวณขั้นสูงเข้ามาช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลที่ไม่สามารถรับรู้ได้ทางสายตา

          “สาระวิทย์ในศิลป์” ครั้งนี้ฉันจึงอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Robotic/ remote-control telescopes (กล้องโทรทรรศน์แบบโรโบติก หรือกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกล) ใช้ในการถ่ายภาพของวัตถุบนท้องฟ้าจากสถานที่ต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้สามารถควบคุมการปรับความชัด และมุมการถ่ายภาพได้จากแอปพลิเคชั่นในระยะไกล เราจึงสามารถมองเห็นภาพจากสถานที่นั้นๆ ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่บ้าน โดยที่เราไม่ต้องเดินทางไปตั้งกล้องโทรทรรศน์ส่องดู ณ สถานที่นั้นจริงๆ

          ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์แบบโรโบติก จากการเข้าร่วมฟังการบรรยายสดออนไลน์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับ Faulke’s Telescope Project โดย Dr. Sarah Roberts ผู้จบการศึกษาสาขาวิชาดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) ประเทศเวลส์

          Dr. Sarah ทำงานเป็นอาจารย์ด้านการศึกษาให้กับ Faulke’s Telescope Project ซึ่งโครงการ Faulke’s Telescope เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2543 จัดตั้งขึ้นและสนับสนุนโดย Dr. Martin Dill Faulkes, Astronomy Research Council ร่วมกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร Dr. Faulkes จบการศึกษาปริญญาเอกทางด้านจักรวาลวิทยา (Cosmology) จาก Queen Elizabeth College ประเทศอังกฤษ (ข้อมูลจาก https://www.ifa.hawaii.edu/faculty/meech/tops/ppt/Faulkes.pdf)

          เขามีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ แต่สนใจในสาขาวิชาดาราศาสตร์เป็นพิเศษ เขาสังเกตเห็นว่าเด็กนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือสนใจดาราศาสตร์มากนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะช่วงเวลากลางคืนไม่ใช่ช่วงเหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับทำกิจกรรมทางดาราศาสตร์ แถมอุปกรณ์เฉพาะทางที่จำเป็นต้องใช้ในกิจกรรมก็ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนใหญ่วิชาดาราศาสตร์จึงถูกสอนในภาคทฤษฎีมากกว่าภาคปฏิบัติ ทำให้เด็กๆรู้สึกว่าเข้าถึงได้ยาก สำหรับฉันแล้วฉันว่าดาราศาสตร์มีความสนุกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ยิ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่รองรับให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลทางดาราศาสตร์มากขึ้น ฉันยิ่งรู้สึกว่าความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ยิ่งเปิดกว้าง และน่าสนใจมากขึ้นไปอีก

          โครงการ Faulke’s Telescope มีกล้องโทรทรรศน์แบบโรโบติก ขนาดใหญ่จำนวน 2 ตัวที่เปิดให้ใช้งานทางการศึกษาได้ ซึ่งสถาบัน The Dill Faulkes Educational Trust เป็นผู้จัดหาและให้การสนับสนุน จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับผู้คนทั่วโลก ทั้ง 2 ตัวเป็น Robotic/ remote-control telescopes ประเภท Ritchey–Chrétien telescope (RCT) ตามชื่อผู้ที่คิดค้นกล้องประเภทนี้ขึ้น หรือเรียกตามขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกกล้อง (main mirror) ว่า 2-meter class telescopes ตั้งอยู่ภายใต้โดมที่ออกแบบมาพิเศษเรียกว่า “Clamshell Dome” ที่เปิดออกเต็มที่ทำให้กล้องสามารถหมุนได้โดยรอบ 360 องศามองเห็นท้องฟ้าได้เต็มๆแบบไม่มีอุปสรรคมาขวางกั้น

          กล้องโทรทรรศน์ทั้งสองเป็นฝาแฝดกันมีชื่อว่า Faulke’s Telescope North ตั้งอยู่ที่รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Faulke’s Telescope South ตั้งอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เหตุผลที่เลือกสถานที่สองที่นี้เป็นจุดติดตั้งกล้อง ก็เพื่อให้แน่ใจว่า ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงที่เปิดให้จองใช้งานจากผู้ใช้ทั่วโลก จะมีกล้องอย่างน้อยหนึ่งตัวอยู่ในไทม์โซนช่วงกลางคืนที่จะสำรวจท้องฟ้ามืดได้ เนื่องจากตำแหน่ง 2 จุดมีระยะห่างกันเหมาะสมพอดีที่สามารถครอบคลุม Time Zone ที่หลากหลายสำหรับผู้ใช้งานจากทั่วโลก ทำให้มีความสะดวกต่อการเข้าถึง และรับประกันว่าเราได้ใช้งานกล้องแน่ๆ ถึงแม้ว่าจะอยู่กันคนละซีกโลกถ้าตัดเรื่องของสภาพอากาศออกไป ผู้เข้าใช้งานจะสามารถเลือกได้ 2 แบบแล้วแต่ความเหมาะสมต่อจุดประสงค์ที่จะใช้ แบบแรกคือแบบ real-time ที่เราจะสามารถควบคุมกล้องผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อส่องดูวัตถุได้ ณ เวลานั้นๆ เลย และแบบที่ 2 คือแบบ offline ที่เราเพียงแค่ส่งรายการวัตถุที่ต้องการภาพ และระบบของกล้องจะจัดการรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อถ่ายรูปส่งมาให้เราได้ตามคำขอ เสมือนว่าทุกคนมีกล้องโทรทรรศน์ใช้ส่วนตัวเลยทีเดียว เจ๋งมากๆ เลยใช่ไหมล่ะ

ภาพ Faulkes Telescope North ที่ Haleakala Observatory มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ขอบคุณภาพจาก: https://lco.global/observatory/sites/haleakala/

 

ภาพ Faulke’s Telescope South ที่ Siding Spring Observatory (SSO) ประเทศออสเตรเลีย
ขอบคุณภาพจาก: https://lco.global/observatory/sites/siding-spring/

 

          ข้อมูลที่ได้จากกล้องนั้นมีความละเอียดสูงมาก และส่วนใหญ่ถูกใช้ในงานวิจัยทางดาราศาสตร์ นอกจากนี้ในเว็บไซต์ยังมีแหล่งข้อมูลการสำรวจท้องฟ้าที่เคยเกิดขึ้นแล้วถูกเก็บรวบรวมสะสมเอาไว้ เปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงเพื่อดึงเอาข้อมูลที่เราสนใจมาใช้งานได้ฟรีๆเลย ถือเป็นการช่วยเอื้ออำนวยให้นักวิจัยสามารถเก็บบันทึกข้อมูลทางดาราศาสตร์ได้จากที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางข้ามประเทศไปไกลถึงต่างทวีปเพื่อรวบรวมข้อมูลด้วยกล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเองแบบสมัยก่อน โดยกล้องโทรทรรศน์ทั้ง 2 ตัวนี้อยู่ภายใต้การดูแลดำเนินการของ Las Cumbres Observatory (LCO) (ข้อมูลจาก https://lco.global/observatory/telescopes/2m/) ปัจจุบัน LCO ได้ติดตั้ง Research-class Robotic telescopes ไปแล้วรวมทั้งหมด 21 ตัวทั่วโลก

          กล้องโทรทรรศน์ที่ควบคุมได้ผ่านระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตนี้ช่วยอำนวยความสะดวกเราในการเล็งหาเป้าหมายที่ต้องการในเวลาอันสั้นแน่นอนว่าขณะที่เราส่องดูวัตถุใดๆ บนท้องฟ้า วัตถุก็มีการขยับเลื่อนตามวงโคจรของมันทำให้ต้องปรับกล้องตามอยู่เรื่อยไป กล้องโทรทรรศน์ทางไกลที่เปิดให้ผู้ใช้งานจากทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลและยิ่งไปกว่านั้น สามารถจองเวลาเพื่อควบคุมกล้องให้ถ่ายภาพที่เราต้องการเองได้

          ด้วยกำลังขยายของกล้องนี้สูงจนเราสามารถมองเห็นไปถึงกลุ่มดาราจักรหรือกาแล็กซีต่างๆ ที่อยู่ไกลออกไปด้วยระบบเครือข่ายที่ทำมาแบบใช้งานได้ง่ายเข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กนักเรียนทำให้เราสามารถค้นหาชื่อกาแล็กซีต่างๆ ที่สนใจอยากจะดูรูปร่างของพวกมันว่าประหลาดตาและสวยงามอย่างที่ตำราว่าไว้มั้ย การถ่ายรูปก็มีหลายฟังก์ชั่นจะเป็นเทคนิคเกี่ยวกับการผสมสีเป็นส่วนใหญ่เพราะแสงสีต่างๆ ที่เรามองเห็นเกิดจากแก๊สหรือไม่ก็เป็นสีสังเคราะห์ที่เอามาเป็นฟิลเตอร์เพื่อให้ภาพดูง่ายและชัดเจนขึ้น

          หากเราต้องการใช้งานก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเป็นสมาชิกได้ที่เว็บไซต์ https://www.faulkes-telescope.com/support/register/ จากนั้นก็ลงทะเบียนรับอีเมล์แจ้งข่าวสารเพื่อรอรับรายละเอียดของรอบที่เปิดให้เข้าจองใช้งาน เมื่อถึงเวลาก็เข้าไปกรอกข้อมูล เลือกช่วงวันเวลาที่ต้องการ และรออีเมล์ตอบกลับเพื่อยืนยันการใช้งาน พร้อมรหัสเข้าควบคุมการใช้งานได้ครั้งละ 30 นาที ในช่วงเวลาครึ่งชั่วโมงที่เราจองเอาไว้ กล้องโทรทรรศน์ในโครงการที่ติดตั้งอยู่แต่ละแห่งของมุมโลกก็เสมือนว่ากลายเป็นของเรา เราจะสามารถควบคุมกล้องอย่างไรก็ได้ ตั้งแต่หันไปยังเป้าหมายของวัตถุที่เราต้องการศึกษา สั่งการให้กล้องถ่ายรูปภาพมาให้เรา หรือวางแผนจัดการบรรยายเป็นทัวร์จักรวาลผ่านกล้องขนาดใหญ่นี้ได้ ราวกับว่าเราได้ทำงานเป็นผู้ควบคุมอุปกรณ์สุดเจ๋งนี้เองเลย และไม่ต้องกลัวว่าเราจะทำกล้องราคาแพงนี้พังเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก เพราะระบบได้ถูกออกแบบมาให้มีการป้องกัน ไม่ให้จังหวะและความเร็วในการหมุนเกินขีดจำกัดจนมันชำรุด

          ครึ่งชั่วโมงเป็นเวลาที่สั้นมาก เมื่อนึกถึงเวลาที่เราต้องรอเจ้ากล้องขนาดยักษ์นี้หมุนเปลี่ยนตำแหน่งจากวัตถุหนึ่งไปยังอีกวัตถุหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดในการดูดาวภายใต้เวลาจำกัดคือการวางแผน ยิ่งวัตถุที่เราต้องการสำรวจอยู่ตำแหน่งใกล้กันแค่ไหน เราก็จะสามารถเห็นภาพได้หลากหลายมุมมองขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาให้กล้องหมุนจากฟากฟ้าอีกฝั่งไปยังอีกฝั่งแล้วกลับไปกลับมาจนเวียนหัว ดังนั้นเราควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนเสียก่อน ตั้งแต่บันทึกรายการวัตถุบนท้องฟ้าที่ต้องการดู ศึกษาตำแหน่งของมัน ให้สอดคล้องกัน เพื่อการเรียงลำดับที่ประหยัดเวลาสุด รวมไปถึงคำนวณความสว่างที่จะมีผลต่อการกำหนดระยะเวลาชัตเตอร์ของกล้อง ให้ภาพที่ออกมาสว่างคมชัดกำลังดี ไม่จ้าแสบตาหรือมืดมิดจนไม่สามารถมองเห็นอะไรในภาพ

          อย่างไรก็ตามภาพที่ถ่ายได้โดยตรงจากกล้องยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้ทันทีเพราะภาพที่ได้มีลักษณะขาวดำ จำเป็นต้องผ่านขบวนการปรับแต่งความคมชัด และแสงสีโดยใช้โปรแกรมตกแต่งภาพเสียก่อน ซึ่งซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ในการตกแต่งภาพทางดาราศาสตร์ ได้แก่ GIMPshop, Photoshop และ SalsaJ หรือถ้าใครอยากชมภาพทางดาราศาสตร์ที่ถูกปรับแสงสีไว้แล้วอย่างสวยงามก็สามารถเข้าไปเลือกชมกันได้ที่ https://www.faulkes-telescope.com/showcase/image-gallery/

          การใช้บริการกล้องโทรทรรศน์สาธารณะแบบเรียลไทม์ที่ฮาวายกับออสเตรเลียนั้น ปกติเปิดให้ใช้ได้ฟรีเฉพาะบุคคลทางการศึกษาที่พำนักในสหราชอาณาจักรและยุโรปเท่านั้น แถมยังต้องใช้เวลาจองล่วงหน้านานมาก เนื่องจากจำนวนผู้ที่สนใจต้องการใช้งานมีมาก และเปิดให้จองเพียงเดือนละครั้ง (ฉันเองก็ยังอยู่ในขั้นตอนเข้าแถวขอใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม) แต่ยังมีกล้องโทรทรรศน์อีกแห่งหนึ่งที่เปิดให้ทุกคนทั่วโลกสามารถเข้าไปลงทะเบียนส่งคำร้องขอให้ถ่ายภาพที่เราต้องการได้ฟรี ติดตามอ่านได้ในสาระวิทย์ฉบับหน้า

ภาพ Stephan’s Quintet ที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์ Faulkes ยังไม่ถูกปรับแต่งสี
Credit: Faulkes telescope, Sarah Roberts

***Stephan’s Quintet หรือกลุ่มกาแล็กซี สเตฟาน อยู่ในกลุ่มดาวม้าบิน (Pegasus constellation) คือกลุ่มของกาแล็กซี 5กาแล็กซีที่อยู่ใกล้กัน และ 4 ใน 5 กาแล็กซีนี้มีปฏิสัมพันธ์กันทางกายภาพ และถูกเรียกรวมๆกันว่า Hickson Compact Group 92 (HCG 92) ความสัมพันธ์ของพวกมันถูกก่อขึ้นโดยแรงและคลื่นกระแทก ที่ทำให้พวกมันมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนเข้าหากันและหลอมรวมกันได้ในอนาคต ในภาพเราจะเห็น 3 กาแล็กซีที่อยู่ใกล้ชิดกัน ในขณะที่อีก 1 นั้นห่างออกมาเพราะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

ภาพ M101 ที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์ Faulkes เปรียบเทียบระหว่างขาวดำกับปรับแต่งสีแล้ว
Credit: Faulkes telescope, Sarah Roberts

 

***M101; Pinwheel galaxy หรือกาแล็กซีกังหันลม เป็นกาแล็กซีขนาดใหญ่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major constellation) อยู่ห่างจากโลกไป 25 ล้านปีแสง (ภาพที่เราเห็นตอนนี้คือภาพเมื่อ 25 ล้านปีที่แล้ว!) ซึ่งมีจำนวนดาวเป็นสองเท่าของทางช้างเผือกของเรา ที่น่าสังเกตคือกาแล็กซีนี้ไม่สมมาตรแบบกาแล็กซีทรงกังหันทั่วๆไป นั่นเพราะมันถูกแรงไทดัลเนื่องจากความโน้มถ่วง (Tidal force) จากกาแล็กซีใกล้เคียงเข้าบีบอัดแก๊สไฮโดรเจนระหว่างดวงดาว กระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของดวงดาวจำนวนมากบริเวณแขนของกาแล็กซี ทำให้รูปร่างของมันไม่เสมอกันในสองด้าน

ภาพ M51 และ M16 ที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์ Faulkes ที่ถูกปรับแต่งแสงและสีแล้ว
ตัวอย่างภาพจาก https://www.faulkes-telescope.com/showcase/image-gallery/

***M51; Whirlpool galaxy หรือกาแล็กซีน้ำวน ในกลุ่มดาวหมาล่าเนื้อ (Canes Venatici constellation) เมื่อปี พ.ศ. 2388      วิลเลียม พาร์สันส์ เอิร์ลแห่งรอสส์ที่ 3 (William Parsons, 3rd Earl of Rosse) เป็นบุคคลแรกที่สังเกตกาแล็กซีนี้ผ่านกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง เขาได้ถ่ายทอดรูปร่างของมันผ่านรูปวาดของเขา ซึ่งออกมามีความคล้ายคลึงกับรูปถ่ายด้วยเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันเอามากๆ ในภายหลังถึงได้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงการแบ่งประเภทกาแล็กซีด้วยรูปร่างของพวกมัน ทำให้กาแล็กซีน้ำวนถูกยกให้เป็นกาแล็กซีแรกที่ถูกพบว่ามีรูปร่างทรงกังหัน(spiral) ถ้าวันไหนท้องฟ้าโล่งและไร้แสงรบกวน กาแล็กซีน้ำวนนี้ยังสามารถสังเกตเห็นได้ผ่านกล้องสองตาอีกด้วย

***M16; Eagle Nebula หรือเนบิวลาอินทรี เป็นอีกหนึ่งวัตถุทางดาราศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากทั้งนักศิลปะ และนักดาราศาสตร์ โดยเฉพาะภาพที่สวยงามจากบริเวณเสาแห่งการก่อกำเนิด (Pillars of Creation) ที่เป็นกลุ่มแก๊สหลากสีที่หนาแน่น และแหล่งกำเนิดของดาวฤกษ์จำนวนมาก

ขอบคุณข้อมูลจาก:

การบรรยายสดออนไลน์ Faulkes Telescope Project โดย Dr. Sarah Roberts 

***ข้อมูลส่วนคำบรรยายภาพถ่ายจากนาซ่า (NASA)

https://www.faulkes.com/faulkes-telescope-project

https://www.faulkes-telescope.com/

https://lco.global/

ขอบคุณแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมของโครงการ Faulkes Telescope มีสอนวิธีแต่งรูปถ่ายทางดาราศาสตร์ให้นำไปใช้งานได้ https://resources.faulkes-telescope.com

 

About Author