วิทยาศาสตร์กับการไขปริศนาพระเจ้าริชาร์ดที่ 3

พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 (Richard III) เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ยอร์ก ขึ้นครองราชย์เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในปี ค.ศ. 1483-1485 ก่อนเสด็จสวรรคตจากการสู้รบในสมรภูมิบอสเวิร์ธ โดยปราชัยให้กับ เฮนรี ทิวดอร์ (Henry Tudor) ศัตรูคนสำคัญ ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์
 
แม้ว่าจะครองราชย์เป็นระยะเวลาแค่ 2 ปี แต่พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ก็เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่เป็นที่จดจำ เพราะชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยเรื่องราวและข่าวลือในทางไม่ดี จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ มีการกล่าวอ้างถึงการขึ้นครองราชย์แบบไม่ใสสะอาดของพระองค์ว่า ได้มาด้วยการชิงบัลลังก์จากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 (Edward V) พระราชนัดดา ที่มีพระชนมพรรษาเพียง 12 พรรษาเท่านั้น
 
ซึ่งต่อมาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และองค์รัชทายาทหายตัวไปอย่างลึกลับ ผู้คนก็ล่ำลือกันว่า พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 นั้นอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด พระองค์จึงมีภาพลักษณ์ที่ติดลบมาโดยตลอด
บทละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “Richard III”
 
เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย วิลเลียม เชกสเปียร์ นักประพันธ์ชื่อดังชาวอังกฤษ ยังได้หยิบยกชีวิตของพระองค์ มาเขียนเป็นบทละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “Richard III” โดยเนื้อเรื่องได้แสดงให้เห็นถึงความเจ้าเล่ห์แสนกล และความร้ายกาจของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แถมบทละครเรื่องนี้ ยังเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของเชกสเปียร์ที่ถูกนำไปสร้างเป็นทั้งละครเวทีและภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ในเชิงลบของพระองค์หนักขึ้นไปอีก
 
ย้อนกลับไปที่สมรภูมิรบบอสเวิร์ธในปี ค.ศ. 1485 หลังจากปราชัยในการรบ ก็ไม่มีใครพบพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 อีกเลย หลายคนเชื่อว่าร่างที่ไร้วิญญาณของพระองค์ถูกฝังไว้ที่ทุ่งบอสเวิร์ธ

เครดิตภาพ University of Leicester

 

เวลาผ่านไป จนในปี ค.ศ. 2012 ทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจาก the University of Leicester ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้ลานจอดรถแห่งหนึ่งในเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และสงสัยกันว่าจะเป็นโครงกระดูกของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เพราะหัวกะโหลกมีร่องรอยของการถูกทิ่มแทงด้วยอาวุธที่มีลักษณะคล้ายหอกหลายจุด ในส่วนกระดูกสันหลังก็คดงอ ซึ่งตรงกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 หลังค่อม

เครดิตภาพ https://phys.org

 

เมื่อสงสัยก็ต้องพิสูจน์ ทีมวิจัยได้ทำการตรวจพิสูจน์หาความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างโครงกระดูกดังกล่าว เปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เก็บจากกระพุ้งแก้มของ Michael Ibsen ทายาทรุ่นที่ 17 ของเจ้าหญิงแอนน์แห่งยอร์ก (Anne of York) ผู้เป็นพระเชษฐภคินีของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ด้วยไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอ ซึ่งผลที่ออกมาพบว่ามีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือด เป็นการยืนยันว่าโครงกระดูกที่พบนั้นคือ พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 จริงๆ

นับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2013 ที่มีการยืนยันว่าพบโครงกระดูกของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 อย่างเป็นทางการ ก็มีการวิจัยเพื่อค้นหาความจริงในแง่มุมต่างๆ ของพระองค์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพใบหน้าที่แท้จริงของพระองค์ ซึ่งเดิมมีแต่หลักฐานที่เป็นภาพวาดเท่านั้น นักวิจัยจาก University of Dundee ได้พยายามสร้างแบบจำลองใบหน้าของพระองค์ขึ้น โดยใบหน้าที่ได้ออกมา ดูอ่อนโยน เป็นมิตร ขัดแย้งกับภาพลักษณ์ทางลบที่ปรากฏในบันทึก หนังสือ หรือบทละคร โดยสิ้นเชิง
 
นอกจากรูปร่างหน้าตาแล้ว ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ยังช่วยให้เราคาดเดาไลฟ์สไตล์ของพระองค์ได้อีกด้วย นักวิจัยจาก Cambridge University ได้นำดินจากหลุมที่ขุดพบโครงกระดูกพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ไปศึกษา แล้วพบว่า ดินที่บริเวณเชิงกรานของโครงกระดูกมีไข่พยาธิไส้เดือนจำนวนมาก
 
ถ้าดูจากตำแหน่งของกระดูกเชิงกรานซึ่งตรงกับลำไส้เล็กแล้ว ก็คาดว่าไข่พยาธิที่พบนี้ น่าจะมาจากพยาธิไส้เดือนที่อยู่ในลำไส้เล็กของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เอง ทีมวิจัยยังได้อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป ไม่แปลก แต่การที่พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 มีพยาธิไส้เดือนด้วยนั้น เท่ากับเป็นการยืนยันว่า สุขอนามัยของผู้คนอังกฤษในสมัยนั้นมันแย่มากจริงๆ แม้จะพบไข่พยาธิไส้เดือน แต่ ทีมวิจัยไม่พบร่องรอยของไข่พยาธิอื่นๆ ในดินเลย โดยเฉพาะไข่พยาธิตัวตืด ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าอาหารที่พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เสวยนั้น น่าจะได้รับการปรุงสุกทุกครั้ง


เรียบเรียงโดย: รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์

 

About Author