จริยธรรมในงานวิจัย เรื่องใกล้ตัวที่มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เรื่องโดย หงษ์สุดา สอนกลิ่น


 

          งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบโลกดิจิทัลในปัจจุบัน ความก้าวหน้าและความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนเกิดขึ้นจากนวัตกรรมที่มีผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้สร้างขึ้นจากงานวิจัยที่ทรงคุณค่าในรุ่นก่อนๆ โดยมีการสั่งสมองค์ความรู้สืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยที่มีคุณค่าจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความถูกต้องแม่นยำของผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยที่ผ่านมาด้วย ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมงานวิจัยแต่ละชิ้นให้มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือได้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้

          หากตอนนี้เราตั้งคำถามว่า ตัวเราเองมีความเชื่อมั่นต่องานวิจัยที่มีการเผยแพร่ในวารสารต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้มากน้อยเพียงใด คงจะมีบางส่วนที่ไม่สามารถตอบได้เต็มร้อยว่าเราเชื่อถือข้อมูลดังกล่าวได้ทั้งหมด จากข้อมูลทางสถิติเราพบว่าจำนวนการถอดถอนบทความจากวารสารต่างๆ ในปัจจุบันมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง The Science Advisory Board ระบุว่างานที่ถูกถอดถอนส่วนใหญ่เกิดจากการดัดแปลงข้อมูล (falsification) และการแต่งข้อมูลขึ้นมาใหม่ และการปรับแต่งผลการทดลองให้เป็นไปตามที่ต้องการ (fabrication) และยังมีอีกบางส่วนที่งานตีพิมพ์ถูกถอดถอนเพราะแอบลอกงานคนอื่นโดยไม่ให้เครดิตเจ้าของผลงานนั้น (plagiarism) แล้วคำถามต่อไปคือ สังคมของนักวิจัยจะเป็นอย่างไร ถ้าหากมีการแต่งเสริมเติมแต่งข้อมูลกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในโลกไม่มีความน่าเชื่อถือได้อีกต่อไป

          ถ้าเราลองย้อนกลับมาที่ความหมายของงานวิจัย ซึ่งเป็นกระบวนการหาความจริงด้วยการค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อตอบคำถามที่เราเกิดความสงสัย โดยมีระเบียบวิธีการวิจัยอันเป็นที่ยอมรับ งานวิจัยนั้นครอบคลุมไปถึงแนวคิด มโนทัศน์ และวิธีการที่ใช้ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล (ข้อมูลจากสภาวิจัยแห่งชาติ) จากคำนิยามนี้ กระบวนการวิจัยจึงต้องการการดำเนินงานที่โปร่งใสและเชื่อถือได้ ต้องอาศัยจริยธรรมการวิจัยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังกระบวนการวิจัยควบคู่กัน จะเห็นได้ว่าการผิดจริยธรรมในงานวิจัย (research misconduct) ด้านวิทยาศาสตร์ไม่ว่าด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของงานวิจัยที่ผิดเพี้ยนและส่งผลให้คุณภาพของงานวิจัยลดลง ทำให้นวัตกรรมที่สร้างขึ้นนั้นใช้ไม่ได้ผล รวมถึงเกิดผลเสียต่อผู้ที่นำไปใช้งาน โดยเฉพาะนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยในมนุษย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวมนุษย์โดยตรง นี่ยังไม่รวมการสูญเสียเวลาการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ และการสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ทุนวิจัยที่สูญเปล่าจากการไม่สามารถทำซ้ำในกระบวนการวิจัยได้ (reproducibility)

          นอกจากนี้ยังส่งผลในด้านจิตใจของคนปฏิบัติงาน ทำให้เกิดการลดทอนแรงจูงใจของกลุ่มนักวิจัยในส่วนรวมต่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดการขาดจริยธรรมในการวิจัยเหล่านี้มีผลกระทบที่จะลดความเชื่อมั่น รวมไปถึงชะลอความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมนุษยชาติ (อ่านเพิ่มเติมได้จากรายงานของ OECD, Best Practices for Ensuring Scientific Integrity and Preventing Misconduct และ National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine, Fostering Integrity in Research)  

          ประเด็นจริยธรรมนั้นมีอยู่ในทุกประเภทของงานวิจัย ไม่จำกัดแต่เพียงงานวิจัยในมนุษย์เท่านั้น ปัจจุบันอัตราการทำผิดจริยธรรมในงานวิจัยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและถือเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมการวิจัย เราอาจจะต้องหันมาให้ความสนใจและวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นเหตุและปัจจัยในการกระทำผิดของกลุ่มนักวิจัยในแต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะหากลไกหรือมาตรการป้องกันในอนาคต (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากรายงานโครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาจริยธรรมการวิจัยและระบบการประเมิน ของท่าน อ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์)


ภาพจาก ฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย สวทช. 

          ในกระบวนการวิจัยหนึ่งๆ นักวิจัยเองอาจเจอกับความกดดันที่จะต้องทำงานให้บรรลุเป้าหมายทั้งผลการวิจัย หรือความสำเร็จของโครงการที่ได้รับทุนมา ซึ่งอาจทำให้เกิดความประพฤติที่ไม่เหมาะสมในการวิจัยได้ จากสถิติที่ผ่านมาเราพบว่า research misconduct เกิดขึ้นได้จากทั้งความตั้งใจและความไม่ตั้งใจของนักวิจัย หรือแม้กระทั่งเกิดจากความไม่รู้ของตัวนักวิจัยเอง

          ความรุนแรงของ research misconduct เกิดขึ้นได้ในหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ความผิดพลาดของการสังเกตการณ์ การวิเคราะห์ และการประมวลผล (false observation, analysis, and interpretation) จนค่อยๆ นำไปสู่การปลอมแปลง และการลอกเลียนหรือขโมยผลงานคนอื่นในที่สุด (Choupani, H. et.al) รูปภาพด้านล่างแสดงถึงรูปแบบของ research misconduct ที่พบได้มากที่สุด ตามที่ The Science Advisory Board ได้สำรวจไว้


ภาพจาก
The Science Advisory Board (2018), Breaking Bad: Combating Scientific Misconduct

          ในปัจจุบันรูปแบบของความผิดทางจริยธรรมงานวิจัยเราคงไม่ได้มองกันแค่เรื่อง falsification, fabrication และ plagiarism ตามที่ Office of Science and Technology Policy, US ให้คำนิยามไว้ในช่วงต้น โดยสถาบัน ISI (Institute for Scientific Information) ได้เสนอประเด็นการผิดจริยธรรมงานวิจัยเพิ่มเติมจากเดิม ที่ให้ความสำคัญครอบคลุมทั้งระบบการวิจัย เริ่มตั้งแต่การทบทวนวรรณกรรม การออกแบบงานวิจัย การดำเนินการวิจัย การเก็บและวิเคราะห์ผลทดสอบ การเตรียมต้นฉบับ การเลือกและการตีพิมพ์วารสาร กระบวนการของวารสารวิชาการ ไปจนถึงการหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากการตีพิมพ์ผลงาน โดยที่ทุกกระบวนการดังกล่าวนี้ล้วนมีส่วนสำคัญที่อาจจะทำให้เกิดการละเมิดหรือการละเลยในจริยธรรมที่เกี่ยวข้องได้ทั้งสิ้น และส่งผลให้เกิดการสูญเสียได้อย่างมากด้วยเช่นกัน

          เป็นที่น่ายินดีมากที่ปัจจุบันเรามีระบบในการตรวจสอบ แก้ไข และป้องกันปัญหาด้านจริยธรรมงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น เช่น การมีระบบ whistleblowing ภายในองค์กร การมีคณะกรรมการและหน่วยงานคอยดูแลกำกับและติดตามผลทางด้านจริยธรรมการวิจัยกันอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงวารสารต่างๆ ที่มีระบบการดูแลเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด หรือแม้กระทั่งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการตรวจสอบและสืบค้นข้อมูล ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีจำนวนบทความและงานวิจัยทางด้านจริยธรรมงานวิจัยที่สูงขึ้นประมาณสี่เท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติมได้จาก Global Research Report of Research Integrity)

          ผลพวงที่ตามมาจาก research misconduct ไม่ได้ส่งผลเสียแค่ในชุมชนหรือระบบงานวิจัยในส่วนรวมเท่านั้น แต่รวมไปถึงตัวนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย จะเห็นว่าในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยล้วนมีผู้ที่มีส่วนในการรับผิดชอบทั้งหมด โดยเฉพาะตัวนักวิจัยหรือตัวผู้ประพันธ์บทความที่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำผิดที่ก่อขึ้นโดยตรง บทลงโทษต่อตัวบุคคลที่ได้กระทำผิดต่อจริยธรรมการวิจัยสรุปไว้ดังนี้ (ปรับปรุงจากข้อมูลของ นพ.อานนท์ จำลองกุล)

  1. การลงโทษอย่างไม่เป็นทางการด้วยวิธีการทางสังคม

          มีผลทำให้ผู้ประพฤติผิดในงานวิจัยไม่ได้รับการยอมรับและความไว้วางใจในวงการการวิจัย ถูกตำหนิและถูกประณาม งานวิจัยถูกถอดถอนจากวารสารทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงในวงกว้าง รวมถึงการเสียโอกาสในการได้รับรางวัล และการถูกตัดสิทธิ์ในการรับทุนสนับสนุนงานทางวิชาการในอนาคต

  1. การลงโทษอย่างเป็นทางการจากสถาบันวิชาชีพ

          บทลงโทษมีความแตกต่างกันในแต่ละวงการวิชาการ เนื่องจากจรรยาบรรณวิชาชีพถูกกำหนดโดยแต่ละองค์กรวิชาชีพ เริ่มตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตตามกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ ถูกปลดออกจากโครงการ ลดตำแหน่ง ตัดลดเงินเดือน ต้องชดใช้คืนทุนวิจัยที่ได้รับมาแล้วให้แก่หน่วยงานที่ให้ทุน รวมไปถึงถูกแบล็กลิสต์จากแหล่งทุนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ จนไปถึงถูกไล่ออกจากงานและยุติบทบาทนักวิจัย

  1. การลงโทษตามกฎหมาย

          ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการลงโทษผู้ประพฤติผิดจริยธรรมงานวิจัยทางกฏหมายโดยตรง แต่มีประมวลกฏหมายทางแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องที่ระบุให้ผู้ประพฤติไม่ชอบในการทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสียชื่อเสียง และเสียโอกาสในการทำมาหาได้หรือทางเจริญอื่นๆ ต้องรับผิดชอบในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ในส่วนความผิดทางอาญานั้นมีประมวลกฎหมายที่ปกป้องการใส่ความผู้อื่นในฐานหมิ่นประมาท และประมวลกฎหมายการปลอมเอกสารหรือการบิดเบือนข้อมูลงานวิจัย นอกจากนั้นยังมีความรับผิดชอบตามกฎหมายเฉพาะที่ปกป้องการกระทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อมูลแล้วนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งทำให้ถูกเพิกถอนการอนุมัติปริญญาบัตรได้ตามที่ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเสนอ

          มีคำกล่าวว่า “ความลับไม่มีในโลก” ยิ่งโดยเฉพาะความเป็นจริงทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีกระบวนการพิสูจน์ถึงความมีอยู่จริงได้อยู่เสมอ ถึงแม้บทลงโทษดังกล่าวจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป แต่ถ้าหากพบการกระทำผิดโดยไม่ชอบแล้ว ย่อมส่งผลต่อต่อวิชาชีพของผู้กระทำผิดได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งในบางกรณีที่จะมีผลต่อการเอาผิดทางกฎหมายด้วย ผลกระทบที่ตามมาดังกล่าวถ้าไม่นับผลเสียที่ก่อให้เกิดกับวงการวิจัยและสังคมโดยส่วนรวมแล้ว ผลกระทบต่อตัวผู้กระทำผิดเองก็มีความรุนแรงและจริงจังซึ่งไม่คุ้มที่จะเสี่ยง จึงเป็นเหตุให้นักวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนต้องมีความรู้ในเรื่องจริยธรรมการวิจัย เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันทั้งตัวเองและผู้อื่นในการปฏิบัติตนในวิชาชีพของนักวิจัย เพื่อทำให้งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าและงดงามอย่างยั่งยืนต่อไป


แหล่งที่มา

About Author