Headlines

ข้าวโพดคั่ว ของธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา

เรื่องโดย รวิศ ทัศคร


          ข้าวโพดเป็นพืชสำคัญที่มนุษย์นำมาเพาะปลูกและบริโภคมายาวนาน โดยพันธุ์ที่ใช้ในปัจจุบันนี้มีการปรับปรุงพันธุ์จากธรรมชาติและอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มาเป็นเวลากว่า 4,500 ปี จึงทำให้แตกต่างไปจากข้าวโพดป่าในตอนแรกมาก

          จากหลักฐานของพันธุกรรมข้าวโพดและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เราบ่งชี้ได้อย่างค่อนข้างมั่นใจว่าถิ่นกำเนิดของมันอยู่ในพื้นที่แถบอเมริกากลาง ซึ่งชาวอินเดียนทั้งกลุ่มที่มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างพวกมายา (Maya), แอซเท็ก (Aztec), อินคา (Inca), อิโรควัวส์/อิระควอย (Iroquois) และชนพื้นเมืองอื่น ๆ ของอเมริกา รู้จักนำมาปลูกและใช้บริโภคมาช้านานมากกว่าห้าพันปีก่อนคริสตกาล พวกเขาใช้ข้าวโพดทำแป้งเพื่อทำอาหารต่าง ๆ หรือใช้ทำขนมปัง โดยชาวมายาจะบดและเติมน้ำลงไป แล้วหมกใต้ขี้เถ้าของกองไฟที่ยังคุกรุ่น ซึ่งบางครั้งอาจมีการเติมเลือดปศุสัตว์ลงไปในสูตรในงานเทศกาล ส่วนเผ่าอิโรควัวส์จะใช้วิธีตำข้าวโพดให้เป็นแป้ง แล้วผสมน้ำลงไป ซึ่งบางครั้งจะใส่ถั่วต้ม ผลเบอร์รี หรือลูกนัตต่าง ๆ ลงไปด้วย จากนั้นปั้นก้อนแล้วเอาลงไปต้มในน้ำเดือด เสิร์ฟทานทั้งร้อนและเย็น ทอดด้วยน้ำมันดอกทานตะวัน รวมถึงอาจเอาไปวางบนถาดดินเหนียวในกองไฟอีกด้วย ชาวอินเดียนยังนิยมเอาขาวโพดไปหมักทำเหล้าข้าวโพด (Chica) และหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองทวีปอเมริกาก็คือ “ข้าวโพดคั่ว” ของว่างกินเพลินของใครหลายคนนั่นเอง

          ไม่ใช่ว่าข้าวโพดทุกชนิดจะนำมาทำเป็นข้าวโพดคั่วได้ ข้าวโพดที่นำมาคั่วได้ดีจะต้องคัดพันธุ์โดยเฉพาะ ลักษณะเฉพาะที่ใช้แยกข้าวโพดคั่วออกจากข้าวโพดชนิดอื่น ๆ ก็คือเมล็ดของมัน ซึ่งส่วนของผนังผล (pericarp) หรือที่เราเรียกว่า เปลือกเมล็ดข้าวโพด ของข้าวโพดสายพันธุ์ที่เอามาทำข้าวโพดคั่วนั้นจะมีความหนาและมีความแข็งแรงเชิงกลมากกว่าข้าวโพดทั่วไปราว 1.4 เท่า นอกจากนี้สัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนในเมล็ดยังมากกว่าข้าวโพดทั่วไปราว 1.9 เท่า ทำให้ความร้อนถ่ายเทเข้าไปภายในเมล็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เคยมีผู้เสนอแนวคิดไว้ว่าโครงร่างสามมิติของผนังเซลล์ข้าวโพดที่ใช้คั่วมีระเบียบมากกว่าข้าวโพดธรรมดาอีกด้วย

          ล่าสุด ดามัสเซโน จูเนียร์ (Damasceno Junior) และทีมวิจัย ศึกษาพบว่านอกจากความหนาของผนังผลชั้นใน (endocarp) ของเมล็ดข้าวโพดแล้ว องค์ประกอบของผนังเซลล์ในส่วนผนังผล โดยเฉพาะปริมาณของสารลิกนิน ยังมีผลต่อการขยายตัวขณะแตกฟูอีกด้วย โดยในสายพันธุ์ที่มีลิกนินปริมาณมากจะแตกฟูได้ดีขึ้น[3] และการจะทำให้ข้าวโพดคั่วแตกดีนั้น ปริมาณความชื้นจะส่งผลต่อปริมาตรตอนที่ข้าวโพดแตกอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั้งขนาดชิ้นและปริมาตรจะเพิ่มขึ้นเมื่อความชื้นเพิ่มจนถึงร้อยละ 14 จากนั้นถ้าความชื้นยังเพิ่มขึ้นอีก จะมีปริมาตรลดลง

          การทำให้ข้าวโพดแตกมีหลายวิธี การใช้กระทะคั่วกับน้ำมันและเกลือจะให้ผลออกมาไม่ดีทั้งปริมาตรการขยายตัวและขนาดเม็ด แต่หากคั่วโดยใช้ไมโครเวฟจะมีเม็ดที่แตกมากที่สุด แต่ก็จะมีร้อยละของเม็ดที่ยังไม่แตกมากที่สุดด้วยเช่นกัน พันธุ์ของข้าวโพดก็มีผล โดยพันธุ์ลูกผสม (F1) ที่มีการควบคุมจะมีมากกว่าพันธุ์ผสมเปิดหรือพันธุ์ปล่อย (OP) เป็นต้น[5]

            ในการแตกตัวของป๊อปคอร์น ส่วนของผนังผลซึ่งประกอบด้วยชั้นย่อย ๆ หลายชั้นอัดกันแน่นจะทำหน้าที่เหมือนเป็นภาชนะกักเก็บความดันและเป็นชั้นกั้นความชื้น และด้วยความแข็งของมันจะทำให้ข้าวโพดแตกตัวขยายออกก็ต่อเมื่อได้รับความร้อนที่อุณหภูมิเกิน 180 องศาเซลเซียสขึ้นไป ถัดจากชั้นผนังผลจะเป็นชั้นของเซลล์เยื่ออลูโรน (aleurone layer) ซึ่งชั้นนี้ถ้าเป็นเมล็ดข้าวจะเป็นชั้นรำละเอียด ถัดจากนั้นจึงจะเป็นส่วนของคัพภาหารหรือเอนโดสเปิร์ม (endosperm)

          ในระยะเวลาสั้น ๆ ในระหว่างกระบวนการขยายตัวนั้นส่วนคัพภาหารจะเกิดกระบวนการเจลาติไนเซชันและพองตัวเป็นโครงสร้างเหมือนฟองน้ำ เนื่องจากความดันไอน้ำร้อนยวดยิ่งภายในซึ่งอาจขึ้นไปถึง 930.8 kPa (135 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) หรือราว 9.2 เท่าของความดันบรรยากาศ จากนั้นเมื่อเปลือกเมล็ดข้าวโพดแตก คัพภาหารที่อยู่ในสภาวะเจลาติไนซ์จะขยายตัวออกมาทันทีและแข็งตัวเป็นเนื้อข้าวโพดคั่วสีขาวที่เราเห็นกันด้วยกลไกที่คล้ายกับที่พบในโดแป้งที่กำลังออกมาจากเครื่องเอกซ์ทรูเดอร์หรือเครื่องอัดสุกแบบเกลียวที่ใช้ในอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว


ภาพถ่ายผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของโครงสร้างเมล็ดข้าวโพด
a) เม็ดข้าวโพดก่อนพองผ่าตามยาว b) translucent endosperm c) opaque endosperm d) ส่วนนอกของเมล็ด แสดงส่วนเยื่ออลูโรน (A) และผนังผล

ที่มาภาพ : [8]

          เนื้อข้าวโพดคั่วหลังเมล็ดแตกบานออกมาแล้วเป็นอะไรที่ค่อนข้างพิเศษ จากภาพถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนในรูป a จะเห็นว่าส่วนเปลือกเมล็ดข้าวโพด (pericarp) จะระเบิดออกและไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนอกจากแตกออก รูป b เซลล์ของเยื่ออลูโรนไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่นเดียวกับรอบนอกของคัพภาหาร แต่ในรูป c เนื้อด้านในของคัพภาหารจะขยายตัวออกอย่างมาก ซึ่งหากเลือกนำเมล็ดที่แตกออกไม่มากมาสังเกตดูในรูป d จะเห็นพัฒนาการของเม็ดแป้ง จากที่ยังคงรูปอยู่ไปจนถึงรูปที่มีการยืดขยายตัวออก 

          ส่วนคัพภาหารนั้นมีทั้งส่วนที่มีลักษณะโปร่งแสง (translucent endosperm: TE) (อาจเรียกว่า vitreous, horny หรือ hard endosperm) ที่อยู่ตรงยอดหรือขอบนอกของเมล็ดซึ่งประกอบด้วยเม็ดแป้งลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยมหลายหน้า (polygonal shaped) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8–17 ไมครอน แทรกตัวอยู่ในโครงร่างแหของโปรตีน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในโครงสร้างของผนังเซลล์ที่มีลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยมหลายหน้าด้วยเช่นกัน และส่วนที่มีลักษณะทึบแสง (opaque endosperm: OE) (อาจเรียกว่า floury หรือ soft endosperm) ซึ่งจะอยู่รอบ ๆ ส่วนที่เป็นต้นอ่อน (germ: G) ที่ตรงฐานและตรงกลางเมล็ดประกอบด้วยเม็ดแป้งทรงกลมที่มีขนาดเท่า ๆ กัน มีฟิล์มของโปรตีนคลุมอยู่ และมีช่องรูของอากาศแทรกจำนวนมาก[6],[8]  


ภาพถ่ายผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของโครงสร้างเมล็ดข้าวโพดหลังคั่วจนแตกฟู

          โพรงแต่ละโพรงที่เห็นในรูปเกิดจากเม็ดแป้งแต่ละเม็ดที่ขยายตัวออก ซึ่งเม็ดแป้งพวกนี้เดิมอยู่ในขอบเขตของเซลล์ที่อยู่ในคัพภาหาร ซึ่งมีผู้ศึกษาโดยใช้เทคนิค fluorescence microscopy (FM) โดยใช้กล้องส่องการเกิด autofluorescence ของเนื้อข้าวโพดคั่ว[9] แล้วพบว่าเมื่อพองออกมาแล้ว เศษโครงสร้างที่เหลืออยู่ของผนังเซลล์เหล่านั้นก็ยังคงรูปอยู่ในโครงสร้างของโฟมแป้งที่เกิดขึ้นโดยยังคงมีรูปทรงเหลี่ยมหลายหน้าเช่นเดิม ดังในรูป

          ถ้าคุณผู้อ่านเป็นคนช่างสังเกต ระหว่างซื้อป๊อปคอร์นกินเล่นก่อนเข้าโรงภาพยนตร์จะเห็นว่าเม็ดข้าวโพดคั่วที่บานออกมาแล้วนั้นมีรูปร่างในแบบต่าง ๆ กันอยู่ ซึ่งความจริงแล้วจากการศึกษาพบว่าเม็ดที่บานออกมาแล้วซึ่งเรียกว่า flakes นั้นมีอยู่สี่แบบ โดยรูปร่างของมันจะขึ้นกับพันธุ์ของข้าวโพดที่ใช้คั่ว แบ่งได้เป็นพันธุ์ yellow mushroom, white butterfly และ yellow butterfly ซึ่งรูปร่างของพันธุ์ mushroom จะแตกออกมาเป็นเม็ดกลมเหมือนเห็ด แต่พันธุ์ butterfly จะมีการแตกออกมาในอีกสามรูปร่างที่เหลือ ซึ่งแม้จะมาจากข้าวโพดพันธุ์เดียวกันเช่นพันธุ์ yellow butterfly (YP) เมล็ดที่มีองค์ประกอบต่างกันก็จะให้รูปร่างในการแตกบานออกมาไม่เหมือนกัน โดยการคั่วแต่ละครั้งจะมีเมล็ดที่ขยายตัวด้านเดียวร้อยละ 9  ขยายตัวสองด้านร้อยละ 71.2 และขยายตัวหลายด้านร้อยละ 12.3 ส่วนอีกร้อยละ 7.6 คือเม็ดที่ไม่แตก ซึ่งเม็ดที่ขยายตัวด้านเดียวจะมีไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโซเดียมมากที่สุด ส่วนเม็ดที่ขยายตัวหลายด้านจะมีระดับโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และสารให้กลิ่นในกลุ่มไพราซีน (pyrazines) ที่มีกลิ่นของข้าวโพดคั่วสูงที่สุด โดยจากการนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธี SPME-GC-MS พบว่ามีสารประกอบระเหยง่ายอยู่ถึง 48 ชนิด ทั้งในกลุ่มของอัลดีไฮด์ แอลกอฮอล์ ไพราซีน แล็กโตน และกลีเซอไรด์ โดยเม็ดที่ขยายตัวหลายด้านจะมีสาร 2.5-dimetyl-pyrazine, 2-ethyl-5-methyl-pyrazine, 3-ethyl-2.5-dimethyl-pyrazine, และ 2-methyl-pyrazine มากกว่าเม็ดที่ขยายตัวด้านเดียวหรือสองด้าน[6], [7] ซึ่งแปลว่าหอมที่สุดนั่นเอง แต่หวังว่าจะไม่มีใครเสียเวลาลงทุนเขี่ยเม็ดข้าวโพดคั่วแบบที่หอมกว่าเพื่อนแยกออกมาทานต่างหากหรอกนะครับ


รูปร่างแบบต่าง ๆ ของข้าวโพดคั่วที่บานแล้ว (popcorn flake) ซ้ายบน รูปร่างเหมือนเห็ด (mushroom shape) ขวาบน รูปร่างที่เกิดการขยายตัวข้างเดียว (unilaterally expanded) ขวาล่าง รูปร่างที่เกิดการขยายตัวสองด้าน (bilaterally expanded) และซ้ายล่าง รูปร่างที่เกิดการขยายตัวออกหลาย ๆ ด้าน (multilaterally expanded)

          จริง ๆ แล้วที่คนเขาชอบพูดกันว่าขายป๊อบคอร์นแล้วกำไรดี ก็เพราะว่าป๊อปคอร์นที่ขายนั้นดูแล้วปริมาณเยอะ แต่ที่จริงมันเบามาก ป๊อบคอร์นจัดเป็นหนึ่งในอาหารกลุ่ม aerated food หรืออาหารที่มีอากาศแทรกอยู่ภายใน และยังเป็นอาหารที่มีอากาศในตัวมากที่สุด ซึ่งสามารถขยายตัวจากเดิมได้มากที่สุดถึง 25 เท่า และมีสัดส่วนของก๊าซคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 95 โดยปริมาตร ข้าวโพดคั่วมีปริมาตรจำเพาะมากกว่า 14 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อกรัม และมีความหนาแน่นน้อยกว่า 0.07 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร[4] ซึ่งจัดว่าพองที่สุดในอาหารกลุ่มนี้ ตามมาด้วยเค้กข้าว (rice cake) ซึ่งเป็นข้าวพองอัดเป็นชิ้นกลมแบน หน้าตาคล้ายข้าวแต๋นบ้านเรา มีสัดส่วนของก๊าซร้อยละ 90–92 จัดเป็นอาหารที่มีอากาศแทรกอยู่เยอะที่สุดอันดับที่สองรองจากข้าวโพดคั่ว

          ด้วยเหตุที่ว่าข้าวโพดคั่วที่บานแล้วแต่ละชิ้นจัดเป็นอนุภาคที่มีรูปร่างไม่แน่นอน ซึ่งรูปแบบการจัดเรียงตัวมีความสำคัญมาก ด้านผู้บริโภคใคร ๆ ก็มักจะชอบข้าวโพดคั่วที่ฟู ๆ พอง ๆ ที่แปลว่าต้องมีค่าความหนาแน่นรวม (bulk density) ต่ำ ๆ ซึ่งหากค่าต่ำเท่าไร ก็ยิ่งจะไปเพิ่มกำไรแก่โรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะเขาซื้อข้าวโพดเป็นน้ำหนักและขายเป็นปริมาตรต่อกล่องหรือถ้วย ด้วยความน่าสนใจทั้งในเชิงวิศวกรรมอาหารและในเชิงการค้า จึงมีคนศึกษาจนได้ โดยแปลงข้อมูลเม็ดข้าวโพดจำนวนมากที่ได้จากการสแกนด้วยเทคนิค x-ray computed tomography แล้วบรรจุมันลงในถ้วยกระบะใหญ่ (แบบชามอ่างที่ขายให้คนที่ชอบรับประทานข้าวโพดคั่วแบบจุใจในโรงภาพยนตร์) ซึ่งเจ้าถ้วยนี้ก็ถูกสแกนเข้าคอมพิวเตอร์เหมือนกัน และจำลองผลในคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม Digipac พบว่า หากบรรจุด้วยเม็ดที่มีรูปร่างแบบ bilateral shape ปริมาณร้อยละ 36.9 และ multilateral shape ปริมาณร้อยละ 63.1 จะใช้เม็ดข้าวโพดปริมาณน้อยที่สุดในการบรรจุลงในถ้วย ซึ่งมีการคำนวณค่า packing fraction (r) ด้วย ค่านี้คืออัตราส่วนของปริมาตรของเม็ดของแข็งทั้งหมดในภาชนะบรรจุต่อปริมาตรโดยรวมของภาชนะบรรจุ ซึ่งในการจำลองผลมีค่าตั้งแต่ r = 0.14 ในกรณีของการใช้ส่วนผสมเป็นเม็ดทรงแบบ unilateral ร้อยละ 10 + แบบ bilateral ร้อยละ 75 + แบบ multilateral ร้อยละ 15 ไปจนถึง r = 0.28 เมื่อใช้เม็ดรูปทรงแบบ unilateral ล้วน ๆ มาบรรจุลงถ้วย ซึ่งทำให้เข้าใจว่ารูปทรงมีผลต่อความแน่นของการบรรจุอย่างไร


รูปสามมิติของเม็ดข้าวโพดคั่วทั้งสามแบบที่ทำให้เป็นข้อมูลดิจิทัลโดยอาศัยการสแกนด้วยเทคนิค x-ray tomography โดยรูปซ้ายคือรูปทรงของเม็ดที่ขยายตัวด้านเดียว (unilateral polymorphism) รูปกลางขยายตัวสองด้าน (bilateral polymorphism) และขยายตัวออกหลายด้าน (multilateral polymorphism) ส่วนขวาสุดแสดงการจำลองผลการบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์แบบถังใหญ่แบบที่จำหน่ายในโรงภาพยนตร์

          การจะทำให้กองของเม็ดข้าวโพดคั่วในภาชนะที่บรรจุขายดู “นุ่มฟู” ในความรู้สึกของผู้บริโภคนั้น นอกเหนือจากรูปร่างการแตกตัวของเม็ดที่กำหนดโดยพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อองค์ประกอบทางเคมีในเม็ดข้าวโพด และลักษณะการจัดเรียงตัวของเม็ดในถ้วยแล้ว ความใหญ่ของเม็ดก็มีความสำคัญ จึงมีการทดลองคั่วข้าวโพดภายใต้ความดันสุญญากาศที่ความดัน 1/30 เท่าของความดันบรรยากาศปกติ โดยใช้อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส โดยอุ่นหม้อความดันให้ร้อนก่อนจะใส่ข้าวโพดลงไป พบว่าค่า expansion volume, s (cm3/g) มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ[11] มีการเสนอแบบจำลองซึ่งเป็นสมการแสดงถึงอัตราการขยายตัวเชิงปริมาตรของเม็ดข้าวโพดเอาไว้ในงานวิจัยด้วย ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในรายการอ้างอิงท้ายบทความ

ความน่าสนใจของข้าวโพดคั่วในการเป็นวัสดุแห่งอนาคต

          ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งทื่เราเคี้ยวกินกันเป็นธรรมดาจะมีประโยชน์อย่างอื่นเหนือความคาดหมาย ไม่นานมานี้ข้าวโพดคั่วได้รับความสนใจจากนักวิจัยในเมืองจีนจำนวนมาก เหตุเพราะมันเป็นวัสดุที่มีราคาถูก และจากโครงสร้างเชิงจุลภาคของมันที่มีลักษณะฟู เป็นรูพรุนคล้ายรังผึ้ง จึงมีการนำมาเตรียมเป็นถ่านกัมมันต์(activated carbon) และปรับสภาพทางเคมีเพื่องานหลากหลายชนิด โดยถ่านกัมมันต์ที่ทำจากข้าวโพดคั่ว มีชื่อย่อว่า PCs หรือ PDACs (popcorn derived activated carbon)

          ตัวอย่างหนึ่งของการเอา PDACs ไปใช้งานก็คือ การเอาไปพัฒนาเป็นวัสดุทำขั้วอิเล็กโทรดสำหรับตัวเก็บประจุยิ่งยวด (supercapacitor) โดยการกระจายอนุภาคขนาดนาโนของ NiCo2S4 ซึ่งเป็นหนึ่งในสารประกอบซัลไฟด์ของโลหะทรานสิชันที่ดีที่สุดในการนำเอามาทำเป็นวัสดุอิเล็กโทรด ไปตามพื้นผิวของ PDACs ที่มีโครงสร้างที่มีรูพรุนสูงมาก เนื่องจากจะทำให้ได้พื้นที่ผิวต่อปริมาตรสูงกว่าวิธีอื่น ๆ ที่เคยใช้ขึ้นรูป NiCo2S4 กันมาก่อนหน้านี้[12] ตัวเก็บประจุยิ่งยวดนี้คาดว่าจะนำมาใช้แทนแบตเตอรี่ในอนาคต เนื่องจากชาร์จได้ไวมาก มีวงรอบการชาร์จประจุเข้าได้หลายครั้งมาก ใช้ได้กับทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำวันอย่างโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น


การนำเอาข้าวโพดคั่วไปเตรียมเป็นวัสดุคอมโพสิตเพื่อใช้ในตัวเก็บประจุยวดยิ่ง

          นอกจากนี้ยังมีการนำ PDACs มาใช้เป็นตัวดูดซับสารต่าง ๆ เช่น มีผู้วิจัยสำหรับใช้ดูดซับสีย้อมในน้ำเสียจากโรงงานผลิตสีย้อม ซึ่ง PDACs ที่เตรียมได้มีค่าความจุในการดูดซับ (adsorption capacity) ถึง 7765 มิลลิกรัมต่อกรัม[13] หรือเอามาแปลงให้อยู่ในสภาพของแอโรเจลชนิด 3D macroscopic superhydrophobic magnetic porous carbon aerogel (3DSMPC) ซึ่งแบบที่เตรียมได้จากวัตถุดิบที่เป็นข้าวโพดคั่วนั้นมีความหนาแน่นเพียง 0.095 กรมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และมีสมบัติไม่ชอบน้ำสูงมาก โดยมีมุมสัมผัสสูงถึง 151.6 สามารถเลือกดูดซับน้ำมันเชื้อเพลิง ตัวทำละลายอินทรีย์ และน้ำมันที่ใช้ในการบริโภค ออกจากน้ำได้[14] ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ๆ ในงานด้านอุตสาหกรรมหรือการบำบัดสิ่งแวดล้อม

          อันที่จริงนอกจากข้าวโพดแล้วก็ยังมีเมล็ดพืชอื่นที่มีการนำมาคั่วในแห่งอื่น ๆ ของโลกเช่นกัน อาทิ ข้าวฟ่าง (sorghum) ควินัว เมล็ดผักโขม ข้าว (คนไทยใช้ข้าวเปลือกมาคั่วจนแตกเป็นข้าวตอก) และเมล็ดพืชอื่น ๆ ซึ่งหากมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพืชเหล่านี้อาจได้นำมาเล่าให้ฟังกันในฉบับต่อ ๆ ไปครับ


อ้างอิง

  1. https://www.pbs.org/food/the-history-kitchen/popcorn-history/
  2. https://th.wikipedia.org/wiki/ข้าวโพดคั่ว
  3. Damasceno Junior, C.V., Godoy, S., Gonela, A., Scapim, C.A., Grandis, A., Dos Santos, W.D., Mangolin, C.A., Buckeridge, M.S., Machado, M.F.P.S. (2022) Biochemical composition of the pericarp cell wall of popcorn inbred lines with different popping expansion. Curr Res Food Sci, 5,102-106. doi: 10.1016/j.crfs.2021.12.01
  4. Campbell, G.M. and Mougeot, E. (1999). Creation and characterization of aerated food products. Trends in Food Science & Technology, 10, 283 – 296.
  5. Gökmen, S. (2004). Effects of moisture content and popping method on popping characteristics of popcorn. Journal of Food Engineering, 65, 357–362.
  6. Sweley, J. C., Rose, D. J., & Jackson, D. S. (2013). Quality Traits and Popping Performance Considerations for Popcorn (Zea maysEverta). Food Reviews International, 29(2), 157–177. doi:10.1080/87559129.2012.714435
  7. Sweley, Jess C., Rose, Devin J., and Jackson, David S. (2011). Composition and Sensory Evaluation of Popcorn Flake Polymorphisms for a Select Butterfly-Type Hybrid. Cereal Chemistry, 88(3): 321-327. DOI:10.1094/CCHEM-09-10-0129
  8. Hoseney, R.C., Zeleznak, K., Abdelrahman, A. (1983). Mechanism of Popcorn Popping. Journal of Cereal Science, 1, 43-52.
  9. Parker, M.L., Grant, A., Rigby, N.M., Belton, P.S., Taylort, J.R.N. (1999). Effects of Popping on the Endosperm Cell Walls of Sorghum and Maize. Journal of Cereal Science, 30, 209–216.
  10. Sweley, Jess C., Rose, Devin J., Jia, X., Williams, R.A., and Jackson, David S. (2014). Effect of flake shape on packing characteristics of popped popcorn. Journal of Food Engineering, 127, 75-79.
  11. Quinn Sr., P.V., Hong, D.C., Both, J.A. (2005). Increasing the size of a piece of popcorn. Physica A, 353, 637 – 648.
  12. Yu, M., Han, Y., Li, Y., Li, J., & Wang, L. (2019). Improving electrochemical activity of activated carbon derived from popcorn by NiCo2S4 nanoparticle coating. Applied Surface Science, 463, 1001-1010. doi:10.1016/j.apsusc.2018.09.037
  13. Yu, Y., Qiao, N., Wang, D., Zhu, Q., Fu, F., Cao, R., Wang, R., Liu, W., Xu, B. (2019). Fluffy honeycomb-like activated carbon from popcorn with high surface area and well-developed porosity for ultra-high efficiency adsorption of organic dye. Bioresource Technology, 285, doi:10.1016/j.biortech.2019.121340
  14. Dai, J., Zhang, R., Ge, W., Xie, A., Chang, Z., Tian, S., Zhou, Z., Yan, Y. (2018). 3D macroscopic superhydrophobic magnetic porous carbon aerogel converted from biorenewable popcorn for selective oil-water separation. Materials & Design, 139, 122–131. doi:10.1016/j.matdes.2017.11.001

About Author