เอ็มเทค สวทช. ส่งมอบ ‘พีท เปลปกป้อง’ ‘เปลความดันลบ’ สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์สู้โควิด-19 ระลอกใหม่

          เอ็มเทค สวทช. ส่งมอบ ‘พีท เปลปกป้อง’ ‘เปลความดันลบ’ สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์สู้โควิด-19 ระลอกใหม่ ช่วยผู้ป่วยโควิดเอกซเรย์-สแกนปอด โดยไม่ต้องออกจากเปล ลดการแพร่เชื้อแบบเบ็ดเสร็จ

          ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. ได้สร้างนวัตกรรมเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 หรือ ‘PETE (พีท) เปลปกป้อง’ ออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะ แข็งแรง ปลอดภัย ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด สามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกนปอด ขณะอยู่บนเปล เพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาล

          นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม และทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ส่งมอบ PETE (พีท) เปลปกป้อง : เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมจำนวน 5 ชุด ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ต่อสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

          นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมการแพทย์ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อตอบโจทย์การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ในอาเซียน ซึ่งต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกลไกในการยกระดับความสามารถ ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศ ซึ่งการปะยุกต์ใช้เทคโนโลยี ต้องไม่มีความซับซ้อนมากนัก แต่มีความปลอดภัยสูง ซึ่ง สวทช. มีเป้าหมายที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

          ทั้งยังมีการวางรากฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ตามเป้าหมายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบาย BCG Economy Model ที่มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความยั่งยืนภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้เร่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม สำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีการส่งมอบผลงานมากกว่า 20 ผลงาน ครอบคลุมทั้งด้านการป้องกัน การลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ให้กับหน่วยงานที่มีความเสี่ยงและมีความต้องการใช้อุปกรณ์

          อีกทั้งหลายผลงานที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีการผลิตได้ถูกนำไปต่อยอดและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกันกับ ‘เปลความดันลบ’ ซึ่งเป็นอีกนวัตกรรมที่ สวทช. โดยเอ็มเทคสามารถพัฒนาและผลิตได้เองในประเทศจะเป็นอีก 1 นวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในการระบาดระลอกใหม่นี้รวมถึงสถานการณ์วิกฤตที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในอนาคต

          ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ‘เปลความดันลบ’ คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยที่ผ่านมาเปลความดันลบทั่วไปในท้องตลาดยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่หลายประการและมีราคาที่สูง ล่าสุดทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้คิดค้น “PETE เปลปกป้อง (Patient Isolation and Transportation Chamber)” อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Chamber) มีลักษณะเป็นแคปซูลพลาสติกใสขนาดพอดีตัวคน และระบบสร้างความดันลบ (Negative pressure unit) เพื่อควบคุมการไหลเวียนอากาศภายในเปล

          เมื่อพาผู้ป่วยขึ้นนอนบนเปลและรูดซิปปิดเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะเปิดระบบปรับค่าความดันอัตโนมัติเพื่อให้อากาศจากภายนอกไหลเวียนเข้าสู่ตัวเปล ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก เมื่ออากาศไหลผ่านผู้ป่วยอาจมีเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาจากการหายใจ อากาศเหล่านั้นจะถูกดูดผ่านแผ่นกรองอากาศ (HEPA Filter) เพื่อกรองเชื้อโรค และทำการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV-C ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก ทำให้มั่นใจได้ว่าอากาศเหล่านั้นปลอดเชื้อ นอกจากระบบฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทีมวิจัยยังพัฒนาตัวเปลให้มีช่องสำหรับร้อยสายเครื่องช่วยหายใจและสายน้ำเกลือเข้าไปยังผู้ป่วย และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 6 จุดรอบเปล เพื่ออำนวยความสะดวกในการรักษาให้กับบุคลากรทางการแพทย์

          นับเป็นผลงานการวิจัยไทยที่ผ่านการทดสอบคุณภาพ ISO 14644 และอยู่ในขั้นตอนการทำมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้า IEC 60601-1 ซึ่งยืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัย โดยล่าสุดบริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เป็นผู้รับอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายต่อไป

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nstda.or.th/home/news_post/mtec_pete_ceremony/

About Author