Headlines

นักวิทย์ ม.มหิดล ทุนอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นกลาง ปี 64 วช. วิจัยไฮเทค คิดค้นและพัฒนาประยุกต์ใช้วัสดุ “เพอรอฟสไกต์” ทำจอประสาทตาเทียมปลอดสารพิษ

          วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ ความหวังของมวลมนุษยชาติที่จะข้ามผ่านข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์ซึ่งต้องเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการมองเห็น ซึ่งปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้สามารถพัฒนาวัสดุที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับทดแทนจอประสาทตา (retina) ด้วยคุณสมบัติพิเศษของวัสดุ “เพอรอฟสไกต์” พบว่า สามารถเปลี่ยนแสงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อใช้ตรวจจับ หรือเป็นเซนเซอร์รับแสง เพื่อพัฒนาต่อเนื่องให้ส่งสัญญาณไปยังสมองได้

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้าทุนอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นกลาง ประจำปี 2564 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวในฐานะผู้มีผลงานวิจัยโดดเด่นด้านการพัฒนาวัสดุ “เพอรอฟสไกต์” เพื่อการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย กล่าวว่า วัสดุ “เพอรอฟสไกต์” เป็นสารกึ่งตัวนำที่ไวต่อแสง ง่ายต่อการขึ้นรูป และมีประสิทธิภาพไม่ลดลงตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น เหมาะสำหรับเมืองร้อนอย่างเมืองไทย ซึ่งวัสดุ “เพอรอฟสไกต์” สามารถใช้เคลือบบนกระจกและหน้าต่าง ทำให้สามารถลดความร้อนที่เข้ามาในอาคาร และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในเวลาเดียวกัน

          โดยที่ผ่านมากำลังถูกพัฒนาในหลายมิติเพื่อนำมาใช้เป็นเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับเมืองร้อน นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาทำเป็นจอโทรทัศน์ จอมือถือ หรือแม้กระทั่งนำมาพัฒนาเป็นวัสดุสำหรับอุปกรณ์ตรวจจับต่างๆ รวมไปถึงวัสดุสำหรับทำเป็นจอประสาทตาเทียม โดยใช้หลักการเลียนแบบดวงตาจริงของมนุษย์ที่ใช้จอประสาทตารับแสงแล้วส่งสัญญาณไปยังสมอง

          วัสดุ “เพอรอฟสไกต์” เหมาะที่จะนำมาทำเป็นวัสดุสำหรับจอประสาทตาเทียม เนื่องจากมีความไวต่อแสง และสร้างสัญญาณไฟฟ้าได้ แม้ในภาวะที่มีแสงต่ำ แต่ถ้าจะนำไปใช้จริงจะต้องเปลี่ยนสารตะกั่วซึ่งเป็นสารพิษและเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับ “เพอรอฟสไกต์” ให้เป็นสารชนิดอื่นก่อน เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อร่างกาย โดยในเบื้องต้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก นางสาวพิมพ์สุดา ภารสงัด และทีมงาน ได้เริ่มการทดลองเพื่อพัฒนาวัสดุที่เหมาะสมและจะนำไปทดลองใช้ในหุ่นยนต์ต่อไป โดยทีมงานได้รับการสนับสนุนจาก วช. ให้เริ่มพัฒนาวัสดุที่เหมาะสมในเฟสแรก

          อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถใช้ได้จริงในคนอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในอนาคต ต้องมีความร่วมมือแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยใช้ความรู้ทั้งทางด้านวัสดุศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชีวเคมี และการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งทีมงานได้เปิดรับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การทดลองใช้หุ่นยนต์ต่อไป ก่อนขยายผลไปพัฒนาเพื่อกับคนจริงในอนาคต โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acs.jpcc.1c02993

          “คนไทยควรจะมีองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้ทันต่อโลก แม้เราจะยังผลิตอะไรบางอย่างเองไม่ได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ก็ควรศึกษาเรียนรู้ไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลต่อยอดผลิตใช้เองได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งการทำวิจัยเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย และต้องใช้เวลา รวมทั้งจะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และต้องเริ่มเสียตั้งแต่วันนี้จึงจะประสบกับความสำเร็จ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ กล่าวทิ้งท้าย


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ภาพประกอบออกแบบโดย
วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author