Headlines

บริโภคอย่างไร…ไม่เสี่ยงโรค NCDs

          โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นกลุ่มโรคที่พบมากในประชากรของประเทศไทยโรคหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ คือ การบริโภคอาหารที่มีพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม มากเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งหากบริโภคอย่างต่อเนื่อง และสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคไต เป็นต้น โดยอาจเกิดเพียงโรคเดียว หรือเกิดหลายโรคร่วมกัน ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะเลือกบริโภคจากรสชาติและหน้าตาของอาหารที่น่าบริโภคเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณค่า คุณประโยชน์ หรือผลเสียที่จะได้รับต่อร่างกาย รวมถึงมักจะหลงเชื่อจากโฆษณาชวนเชื่อ และบริโภคตามความสะดวก จนกลายเป็นความเคยชิน ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง

          การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าว มีหลากหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล หนึ่งในวิธีที่ช่วยให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ การควบคุมอาหาร โดยลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเหล่านั้นลง

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
โรคจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตแบบผิด ๆ  ประกอบด้วย
1.โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
2.โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
(Cardiovascular & Cerebrovascular Diseases )
3.โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
4.โรคมะเร็ง (Cancer)
5.โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
6.โรคอ้วนลงพุง (Obesity)

About Author