พลานุภาพแห่ง “ดนตรี” สามารถขับเคลื่อนสังคมสู่การบรรลุ “ความหวัง” ของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

          เมื่อ “กายป่วย” หาหมอกินยาก็คงรักษาหาย แต่ถ้า “ใจป่วย” ยาขนานเอกที่จะคอยรักษาใจได้โดยไร้พรมแดนของภาษาและวัฒนธรรม คือ “ดนตรี”

          หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (Pre-College Young Artists Music Program International Music Boarding School; YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลักสูตรซึ่งมีภารกิจบ่มเพาะเยาวชนดนตรีสู่มาตรฐานระดับโลก จนปัจจุบันได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนดนตรีกินนอนนานาชาติ (International Music Boarding School) แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชีย ที่ผลิตเยาวชนดนตรีคุณภาพสู่เวทีนานาชาติ มากว่า 2 ทศวรรษ ด้วยความเชื่อมั่นถึงพลานุภาพแห่ง “ดนตรี” ว่า จะสามารถขับเคลื่อนสังคมสู่การบรรลุ “ความหวัง” ของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า


อาจารย์ริชาร์ด ราล์ฟ (Mr.Richard Ralphs)
อาจารย์ใหญ่หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (Pre-College Young Artists Music Program International Music Boarding School; YAMP)
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          อาจารย์ริชาร์ด ราล์ฟ (Mr.Richard Ralphs) ผู้ทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเกือบ 15 ปี นับจากที่ได้เป็นผู้คร่ำหวอดบริหารโรงเรียนนานาชาติ
ณ สหราชอาณาจักร มาก่อนเกือบ 3 ทศวรรษ กล่าวว่า “ดนตรี” นอกจากจะช่วยเยียวยาจิตใจแล้ว ยัง “เชื่อมต่อ” ผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน เหตุผลสำคัญที่ได้เข้ามารับหน้าที่บริหารหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ต้องการที่จะสร้างเยาวชนไทยให้เป็นนักดนตรีมืออาชีพมาตรฐานสากลที่ให้อะไรแก่สังคมไทย และโลกใบนี้ด้วย

          ข้อดีของโรงเรียนดนตรีกินนอน คือ การเอื้ออำนวยให้นักเรียนสามารถฝึกซ้อมดนตรีได้อย่างเต็มที่ และได้ฝึกให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมรอบข้างอย่างอิสระ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการเป็น “ผู้นำ” ในอนาคต ภายใต้บรรยากาศของโลกดนตรีศึกษาที่ได้มาตรฐานในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง

          ผลงานที่น่าภาคภูมิใจล่าสุดจากการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกครั้งใหญ่ระดับเอเชีย ในงาน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 คือการได้มีศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่าของหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลจากงานดังกล่าว

          ศิษย์ปัจจุบัน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 คือ “ภควัต ธำรงค์อนันต์สกุล” ได้รับรางวัลชนะเลิศรุ่น Junior และศิษย์เก่าซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ “เปศล น่วมขยัน” ได้รับรางวัลอันดับสอง

          อาจารย์นลิน โกเมนตระการ อาจารย์ประจำสาขาวิชากีตาร์คลาสสิก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะอาจารย์สอนกีตาร์คลาสสิกของ “ภควัต ธำรงค์อนันต์สกุล” ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศรุ่น Junior จากการแข่งขัน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 ถึงการติวเข้มนักเรียนของหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้พร้อมในเวทีว่า เกิดจากการจัดให้นักเรียนได้ฝึกการแสดงออกในรูปแบบคอนเสิร์ต เช่น PC Concert และ Showcase Concert และการแสดงในชั้นเรียน (Studio Class) โดยให้ความสำคัญของการฝึกซ้อม และแนะนำการเลือกเพลงที่จะใช้ในการแข่งขันให้เหมาะสม


นายภควัต ธำรงค์อนันต์สกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6
หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (Pre-College Young Artists Music Program International Music Boarding School; YAMP)
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลชนะเลิศรุ่น Junior

งาน Asia International Guitar Festival & Competition 2021

          ด้าน “ภควัต ธำรงค์อนันต์สกุล” ได้เล่าถึงเคล็ดลับที่ใช้ในการแข่งขัน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศรุ่น Junior ว่า ได้ใช้หลักที่ได้จากการเรียนกับ “อาจารย์เบิร์ด” เอกชัย เจียรกุล ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยคว้าแชมป์กีตาร์คลาสสิกโลกมาก่อนเช่นกันว่า จะต้องฝึกซ้อมอย่างมีเป้าหมาย และมีคุณภาพ เพื่อการบริหารจัดการเวลาซ้อมอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งการแข่งขันคือการทำให้ได้ฝึกซ้อมอย่างมีเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาทักษะ และเพิ่มพูนประสบการณ์ทางดนตรีให้ดียิ่งขึ้นไป ไม่ได้สำคัญที่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่

          อาจารย์ ดร.รัฐนัย บำเพ็ญอยู่ หัวหน้าสาขาวิชากีตาร์คลาสสิก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ “เปศล น่วมขยัน” ผู้สามารถคว้ารางวัลอันดับสองจากการแข่งขัน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 กล่าวว่า หนึ่งในวิธีการฝึกซ้อมที่ดีที่สุด คือ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องมั่นใจในเสียงของตัวเอง ถ่ายทอดออกมาอย่างมั่นใจ และบรรลุเป้าหมายในแบบของเรา ซึ่งสาขาวิชากีตาร์คลาสสิก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้สร้างแต่ “นักกีตาร์คลาสสิกมืออาชีพ” แต่มุ่งสร้าง “คนคุณภาพ” ให้กับสังคมด้วย


นายเปศล น่วมขยัน นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลอันดับสอง งาน Asia International Guitar Festival & Competition 2021

          ทิ้งท้ายด้วย “เปศล น่วมขยัน” ผู้คว้ารางวัลอันดับสองจากการแข่งขัน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 ได้เล่าถึงเคล็ดลับการฝึกซ้อมด้วยว่า ก่อนเล่นกีตาร์คลาสสิกจะ “วอร์มนิ้ว” เพื่อการเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อมือ เหมือนก่อนออกกำลังกายทั่วไป ในอนาคตอยากเป็น “Concert Artist” ที่ออกตะเวนเล่นคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ โดยครั้งหนึ่งในชีวิตอยากได้ไปเยือนยุโรป เพื่อเดินตามรอยนักดนตรีคลาสสิกระดับโลก เมื่อใดที่รู้สึกท้อจะพยายามสู้โดยนึกย้อนไปถึงวันแรกที่อยากเล่นดนตรี

          ในวันที่ 15 มกราคม 2565 ขอเชิญนักเรียนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่สนใจเข้าร่วม “YAMP Open House” เพื่อศึกษาข้อมูลก่อนการสมัครเข้าเรียนกับหลักสูตรฯ ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ตั้งแต่บัดนี้ – 10 มกราคม 2565 ก่อนการเปิดสมัครในรอบที่ 3 ทางออนไลน์ภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 และในรอบที่ 4 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ทาง Facebook : YAMP – Young Artists Music Program และ https://www.music.mahidol.ac.th/yamp

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author