ดาวอังคาร บ้านใหม่ของมนุษยชาติ ตอนที่ 2

เรื่องโดย รวิศ ทัศคร


 

          การสร้างฐานที่พักบนดาวอังคารมีความน่าสนใจ เนื่องจากสามารถปกป้องมนุษย์จากรังสีคอสมิกบนพื้นผิวดาวอังคาร รวมถึงก้อนอุกกาบาตได้ เพราะดาวอังคารไม่มีชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นหรือสนามแม่เหล็กที่มีแรงสูงคอยปกป้องเหมือนโลกของเรา

          เคยมีบริษัทที่ทำงานด้านสถาปัตยกรรมของเยอรมนีชื่อ ZA Architects เคยให้แนวคิดเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2556 ว่า หากในปี พ.ศ. 2566 หรืออีกสองปีจากวันที่เขียนบทความนี้ โลกเรามีเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าเพียงพอ เราอาจส่งหุ่นยนต์ไปขุดเปลือกดาวอังคารที่อุดมไปด้วยหินบะซอลต์ เพื่อเตรียมงานโครงสร้างไว้ใต้ดิน สำหรับสร้างที่พักอาศัยใต้ดินได้ โดยอารีนา เอจีวา (Arina Ageeva) หนึ่งในทีมสถาปนิกของบริษัท ZA Architects ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Dezeen ว่าแนวคิดตามที่บริษัทคิดไว้คือ อาจเจาะช่องที่หลังคาของโครงข่ายถ้ำ สกัดหินออกเป็นหลายๆ ระดับชั้นใต้ดินเหมือนการสร้างตึกใต้ดิน เพื่อให้แสงแดดผ่านเข้ามาได้ ซึ่งเมื่อก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นมนุษย์อาจไปสานงานต่อจนเสร็จ โดยโครงสร้างของพื้นอาจใช้กระบวนการขึ้นรูปด้วยวิธีการอัดวัสดุบะซอลต์ออกมาเป็นเส้นใยบะซอลต์ด้วยกระบวนการอัดผ่านขึ้นรูป (extrusion) ทำเป็นพื้นตาข่ายซึ่งถูกและทำง่ายกว่าเส้นใยคาร์บอน นอกจากนี้บริษัทเดียวกันยังวางแผนจะใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติในการสร้างโครงสร้างใหญ่ๆ แบบสำเร็จรูป โดยขึ้นรูปเอาไว้ก่อน (prefabs) ในการสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์และดาวอังคารอีกด้วย [5]


ภาพที่ 1 แนวคิดของโครงสร้างที่เจาะไว้ใต้พื้นผิวดาวอังคาร

ภาพจาก https://archello.com/story/20811/attachments/photos-videos/3

ผู้อ่านสามารถสแกน QR code เพื่อชมคลิปข่าวนี้ของบริษัท ZA Architect กันได้ครับ

          อันที่จริงแล้วยังมีกลุ่มอื่นอีกมากมายหลายกลุ่มที่มีแนวคิดคล้ายกันนี้ เช่น มาร์สวัน (Mars One) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเพื่อให้มนุษย์ออกไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารได้จริง มีนักลงทุนจากทั่วโลกถือหุ้นในโครงการดังกล่าว นำโดย บาส ลันสดอร์ป (Bas Lansdorp) นักธุรกิจชาวดัตช์ น่าเสียดายที่โครงการล้มละลายไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 ดับฝันผู้ที่เข้ามาสมัครในโครงการ และมีข่าวอื้อฉาวมากมายในที่สุด


ภาพที่ 2 ช่องรับแสงเข้าที่พื้นผิว แนวคิดโดยบริษัท ZA Architects

https://archello.com/story/20811/attachments/photos-videos/1

          อีกรายที่ได้เข้ามามีบทบาทและมีผลงานที่จับต้องได้จริงเป็นบริษัทเอกชนทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศของสหรัฐอเมริกา คือบริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) ก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เมื่อปี พ.ศ. 2545 สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฮาวโทรน รัฐแคลิฟอร์เนีย  โธุรกิจหลักคือการขนส่งสัมภาระขึ้นไปในวงโคจรโลกด้วยจรวด Falcon 9, Falcon Heavy และยานอวกาศตระกูล Dragon ทั้ง Dragon 1 ที่ใช้ขนส่งสัมภาระ และ Dragon 2 ที่ขนส่งนักบินอวกาศได้ ทางบริษัทสเปซเอกซ์กำลังพัฒนายาน Star Ship ซึ่งเป็นยานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยอาศัยขุมพลังเป็นเครื่องยนต์จรวดพลังสูง “Raptor” ถึง 33 เครื่อง ซึ่งให้แรงขับรวมถึง 72 เมกะนิวตัน (16 ล้านปอนด์) คิดเป็นสองเท่าของจรวด Saturn V (แซตเทิร์น 5) ที่ใหญ่ที่สุดขององก์การนาซาในอดีต บริษัทหวังว่าจะใช้เป็นยานที่สามารถขนทั้งคนและสัมภาระที่จำเป็นไปสู่ดาวอังคารในโครงการสร้างอาณานิคมที่นั่นได้ โดยในระยะแรกจะเป็นการส่งอุปกรณ์ที่จำเป็น เสบียง และที่อยู่อาศัย (แบบสำเร็จรูป) ไปล่วงหน้าก่อน จากนั้นลูกเรือมนุษย์ประมาณสิบกว่าคนที่ส่งไปในตอนแรกก็จะช่วยกันสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแบบอัตโนมัติขึ้น เพื่อผลิตมีเทนและออกซิเจนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงขับดันขึ้นจากทรัพยากรที่มีอยู่บนดาว

          อีลอน มัสก์ คาดหวังว่าสถานีเล็กๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นจะค่อยๆ ขยายตัวขึ้นจนกลายเป็นเมืองบนดาวอังคารแบบที่พึ่งพาตนเองขึ้นมาได้จริงๆ ภายในปี พ.ศ. 2593 อย่างไรก็ตาม หากขนคนไปเที่ยวละ 100 คน เราอาจจะต้องการเที่ยวบินของยานถึงกว่าหมื่นเที่ยวเพื่อขนคนไป 1 ล้านคน โดยยังไม่ได้นับสัมภาระที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตของผู้คนเหล่านั้นในช่วงแรกอีกจำนวนมาก

          อีลอน มัสก์ เคยคาดการณ์เอาไว้ในปี พ.ศ. 2555 ว่าค่าใช้จ่ายในการส่งคนไปจะอยู่ที่ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อคน แต่ในปี พ.ศ. 2559 เขาเชื่อว่าในระยะยาวค่าใช้จ่ายต่อคนจะลดลงมาอยู่ที่ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา โครงการนี้อาศัยเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทสเปซเอกซ์และเงินทุนส่วนตัวของอีลอน มัสก์ เท่านั้น หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีงบประมาณที่จะตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารแล้ว ดังนั้นเมื่อภาครัฐมีสถานะทางการเงินยอบแยบเต็มที ก็คงจะต้องเป็นภาคเอกชนที่จะต้องมองดาวอังคารว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่น่าดึงดูดในการทำธุรกิจ และวิจารณ์ว่าแม้มัสก์จะยินยอมทุ่มเททรัพย์สินของเขาลงไปในโครงการดังกล่าว แต่มันก็อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างอาณานิคมที่เขาฝันถึง [7], [8], [9]

          ด้วยเหตุนี้ แม้อีลอน มัสก์ ต้องการระดมทุนเพื่อเป้าหมายหลักในการไปดาวอังคาร เขาจึงต้องมองเป้าหมายใกล้ที่สุดก่อน นั่นคือ …ดวงจันทร์

          เขาติดต่อนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ชื่อ ยูซากุ มาเอซาวะ อายุ 42 ปี ซึ่งเป็นเศรษฐีผู้ก่อตั้งห้างแฟชั่นออนไลน์ชื่อ Zozotown มาร่วมโครงการนี้ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาทางสเปซเอกซ์แถลงว่าจะพานักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักไปชมดวงจันทร์ใกล้ๆ โดยจรวดรุ่นใหม่ที่ชื่อ Big Falcon Rocket: BFR (จรวดรุ่นนี้มีสมญาอื่นที่ไม่ค่อยสุภาพด้วย ซึ่งไม่ขอนำมาเล่าในบทความ – ผู้เขียน) ข่าวบอกว่ามาเอซาวะเป็นคนที่กระเป๋าสตางค์ตุงมาก และเคยเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อปี พ.ศ. 2560 เมื่อเขาจ่ายเงิน 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างไม่เสียดายเพื่อซื้อภาพวาด ที่วาดโดยศิลปินชื่อ ฌอง มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) การที่คนคนหนึ่งลงทุนเพื่อศิลปะขนาดนี้ ทำให้เราเข้าใจถึงแรงบันดาลใจของมาเอซาวะดี เขากล่าวออกสัมภาษณ์ว่าม่อาจพลาดโอกาสที่จะเห็นดวงจันทร์ในระยะใกล้ได้ และเผยว่าเขาได้จ่ายเงินซื้อตั๋วทุกที่นั่งที่มีในภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์ของจรวด BFR ไว้หมดแล้ว และจะพาศิลปินจากทั่วโลก 6–8 คน เดินทางไปกับเขาในปี พ.ศ. 2566 นี้ด้วย โดยจะเชิญศิลปินจากสาขาต่างๆ ทั้งด้านวรรณกรรม ภาพยนตร์ วิชวลอาร์ต สถาปัตยกรรม และแฟชั่น และจะขอให้พวกเขาสร้างผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของเขา ในโครงการชื่อ dearMoon [7]

          ไม่ว่าในอนาคตการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารของบริษัทสเปซเอกซ์จะทำได้คืบหน้าถึงขั้นไหน แต่ก็มีคลิปภาพแอนิเมชันสามมิติ ที่ศิลปินชาวโปแลนด์ชื่อ อันเซ พาเวเลซ (Andrzej Pawelec) ได้สร้างเอาไว้ให้เราเห็นได้คร่าวๆ ว่าสภาพความเป็นอยู่ในอาณานิคมหรือฐานบนดาวอังคารของสเปซเอกซ์จะเป็นอย่างไรในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ผู้อ่านสามารถเข้าไปชมได้โดยการสแกน QR code ในรูปด้านล่าง

          อย่างไรก็ตามการตั้งอาณานิคมหรือฐานปฏิบัติการบนดาวอังคารยังไม่ใช่สิ่งที่นาซาทิ้งให้ไปอยู่ในมือเอกชนเสียทีเดียว ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2560 นาซาก็ได้จัดโครงการประกวดการออกแบบส่วนที่พักอาศัยและระบบสนับสนุนสำหรับการสำรวจอวกาศห้วงลึกของมนุษย์ หรือโครงการ X-Hab (eXploration Systems and Habitation) ครั้งที่ 6 ประจำปี ค.ศ. 2017 ซึ่งตั้งเงินรางวัล 10,000–20,000 ดอลลาร์สหรัฐ มอบให้แก่ทีมจากมหาวิทยาลัยที่ชนะการประกวด โดยจะต้องผลิตผลการศึกษาหรือต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่จะเพิ่มความรู้และลดความเสี่ยงในการสำรวจอวกาศ [10] มีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม ได้แก่ California Polytechnic State University, Pratt Institute, University of Maryland, และ University of Michigan ได้ผลงานต้นแบบเป็นทั้งที่อยู่อาศัยบนพื้นดาวอังคาร และแนวคิดของที่พักอาศัยในช่วงการเดินทางซึ่งรักษาแรงโน้มถ่วงประดิษฐ์เอาไว้ที่ 1G จากการหมุนของโมดูลพี่พัก เป็นต้น อ่านรายละเอียดได้ในลิงก์ https://www.nasa.gov/feature/students-design-space-habitat-concepts-for-mars

          หลังจากนั้นไม่นาน ในปี พ.ศ. 2562 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) [11] ก็ได้รับเลือกจากองค์การนาซา ให้เป็นผู้นำเครือข่ายความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการที่กินระยะเวลากว่า 5 ปี ภายใต้งบประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต (University of Connecticut), มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) เข้ามาร่วมโครงการด้วย โดยในโครงการจะมีสถาบัน Resilient ExtraTerrestrial Habitats Institute (RETHi) ของมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ร่วมงานด้วยในภารกิจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นในการจัดตั้งที่อยู่อาศัยถาวรของมนุษย์บนดวงจันทร์และดาวอังคาร โดยใช้ความเชี่ยวชาญระดับโลกของเพอร์ดูในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และงานด้านโยธาที่จะต้องจัดการกับภัยพิบัติจากธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ก็ยังร่วมงานกับผู้นำในสาขาทางด้านหุ่นยนต์ อาคารอัจฉริยะ การจำลองผล สถาปัตยกรรมที่ปรับรูปแบบได้ รวมถึงการอาศัยเทคนิคการวินิจฉัยและทำนายเวลาที่จะเกิดปัญหาขึ้นเพื่อจัดการกับงานด้านสุขภาพของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย

          ในขณะเดียวกันทางฝั่งของประเทศจีนก็มีความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน โดย หวัง เซี่ยวจุน (Wang Xiaojun) หัวหน้าของ China Academy of Launch Vehicle Technology (CALT) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตจรวดส่งสัมภาระขึ้นวงโคจรชั้นนำบริษัทหนึ่งในโลก และเป็นบริษัทลูกของ China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตจรวดในตระกูล Long March ของจีน ได้ประกาศในงานเสวนาวิชาการสำรวจอวกาศโลก Global Space Exploration Conference (GLEX 2021) ในปีนี้ [12], [13] ว่า หลังจากความสำเร็จของยานสำรวจ Tianwen-1 ประเทศจีนมีแผนการสามระยะเพื่อพัฒนาดาวอังคารในสเกลใหญ่ โดยระยะแรกจะเริ่มเก็บตัวอย่างดินหินดาวอังคารมาวิเคราะห์ และส่งยานหุ่นยนต์ไปสำรวจในขั้นแรก จากนั้นในระยะที่สองจะตามมาด้วยภารกิจสำรวจที่มีมนุษย์ และหลังจากนั้นจะเป็นการสร้างฐานปฏิบัติการบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้ ตามมาด้วยระยะที่สามคือการปล่อยกองยานขนสัมภาระระหว่างโลกกับดาวอังคาร โดยมีตารางเวลาในการปล่อยยานตามลำดับในปี พ.ศ. 2576, 2578, 2580, 2584 และ 2586 ยานของจีนจะอาศัยเครื่องยนต์พลังขับดันนิวเคลียร์อันทรงพลังเป็นตัวเลือกหลักในภารกิจสำรวจดาวอังคารที่มีมนุษย์เป็นนักบิน ทางการจีนได้เผยข่าวออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ว่ากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการออกแบบระบบลิฟต์อวกาศเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสัมภาระขึ้นวงโคจร และในการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์และดาวอังคาร ซึ่งหากทำได้สำเร็จ จีนจะเป็นชาติแรกที่ลดค่าใช้จ่ายในการสำรวจอวกาศลงได้มหาศาล [15]

          อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2563 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ชื่อของบริษัทต่างๆ ของจีนที่ดำเนินการภายใต้รัฐบาลทหารคอมมิวนิสต์จีน และ CALT เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีรายชื่อในนั้น และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ก็ได้ออกคำสั่งห้ามมิให้บริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงปัจเจกบุคคล มีหุ้นส่วนในบริษัทต่างๆ ในรายชื่อ ซึ่งรวมถึง CALT ด้วย [14] ซึ่งภายใต้ความกดดันอย่างหนัก ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีจากทางสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ยังมีข้อสงสัยว่าจีนจะมีความก้าวหน้าในการสำรวจและตั้งถิ่นฐานได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่เช่นกัน

          ขณะที่หน่วยงานและองค์กรจากชาติต่างๆ กำลังวาดฝันและมุ่งมั่นทำโครงการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารให้เป็นจริง ในฉบับหน้าเราไปดูกันดีกว่าครับว่าถ้าเราได้ไปอยู่บนดาวอังคารจริงๆ เราจะอยู่กันได้อย่างปลอดภัยจริงๆ หรือไม่ พบกันฉบับหน้าครับ


แหล่งข้อมูลประกอบบทความ

  1. Forget, F., Costard, F., and Lognonne, P. 2008. Planet Mars: Story of another world. Praxis Pub., Ltd. Dorset, UK.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbonates_on_Mars
  3. https://eos.org/research-spotlights/detecting-carbonates-on-the-surface-of-mars
  4. Bultel, B., Viennet, J., Poulet, F., Carter, J., & Werner, S. C. (2019). Detection of carbonates in martian weathering profiles. Journal of Geophysical Research: Planets. doi:10.1029/2018je005845
  5. https://www.wired.co.uk/article/underground-mars-habitat
  6. https://www.space.com/37200-read-elon-musk-spacex-mars-colony-plan.html
  7. https://www.cnet.com/news/spacex-mystery-moon-passenger-yusaku-maezawa-first-bfr-tourist/
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/SpaceX_Mars_program#Mars_early_missions
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/SpaceX_Starship
  10. https://www.nasa.gov/feature/nasa-x-hab-2017-challenge-seeks-exploration-systems-and-habitation-designs-from-university
  11. https://engineering.purdue.edu/CE/AboutUs/News/Features/nasa-selects-purdue-to-develop-resilient-and-smart-deep-space-habitats
  12. https://www.globaltimes.cn/page/202106/1226925.shtml
  13. https://gizmodo.com/china-hopes-to-put-first-human-on-mars-in-2033-report-1847163177
  14. https://en.wikipedia.org/wiki/China_Academy_of_Launch_Vehicle_Technology
  15. https://www.sundayvision.co.ug/science-china-plans-to-send-androids-to-mars-before-a-manned-base/
  16. Oze, C., Beisel, J., Dabsys, E., Dall, J., North, G., Scott, A., Lopez, A.M., Holmes, R., Fendorf, S. (2021). Perchlorate and Agriculture on Mars. Soil Systems, 5(3), 37. doi:10.3390/soilsystems5030037
  17. Eichler, A., Hadland, N., Pickett, D., Masaitis, D., Handy, D., Perez, A., Batcheldor, D., Wheeler, B., Palmer, A. (2021). Challenging the agricultural viability of Martian regolith simulants. Icarus, doi:10.1016/j.icarus.2020.114022
  18. https://www.sciencenews.org/article/mars-farming-harder-martian-regolith-soil
  19. Davila, A. F., Willson, D., Coates, J. D., & McKay, C. P. (2013). Perchlorate on Mars: a chemical hazard and a resource for humans. International Journal of Astrobiology, 12(04), 321–325. doi:1017/s1473550413000189

About Author