รอบรู้เรื่องพายุหมุนเขตร้อน

เรื่องโดย ดร.พรอำไพ นเรนทร์พิทักษ์


เชื่อว่าหลายคนคงจะได้ติดตามข่าวเรื่องพายุไต้ฝุ่น “กระท้อน” ถล่มไต้หวันช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้พายุจะเข้าฝั่งด้วยความรุนแรงระดับ 1 ซึ่งเป็นระดับความเร็วลมต่ำสุดตามมาตราความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อน แต่ก็ยังสร้างความเสียหายรุนแรงไม่น้อย แถมยังมีพายุ “กองเร็ย” ที่ไม่ได้เข้าเวียดนามแต่วกกลับขึ้นเหนือ แถมทวีกำลังขึ้นไปจนถึงความรุนแรงระดับ 4 หรือเกือบสูงสุด ถล่มไต้หวันตอนปลายเดือนอีกระลอก จึงอยากมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับพายุประเภทนี้

พายุไต้ฝุ่น หรือ พายุหมุนเขตร้อน มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า tropical cyclone เป็นพายุขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเหนือมหาสมุทรแถบเขตร้อน โดยอาศัยพลังงานจากพื้นผิวน้ำที่มีอุณหภูมิสูง มวลไอน้ำจากน้ำทะเลที่ระเหย และแรงเหวี่ยงจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ประกอบกันเป็นกลุ่มก้อนเมฆที่หมุนรอบตัวเอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 200-500 กิโลเมตร หรืออาจใหญ่กว่านั้น หากพายุหมุนเขตร้อนเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกหรือแปซิฟิกตะวันออกและพัดเข้าทวีปอเมริกา จะเรียกว่า เฮอริเคน (hurricane) หากเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและพัดเข้าทวีปเอเชีย จะเรียกว่า ไต้ฝุ่น (typhoon) แต่หากเป็นมหาสมุทรอื่น ๆ เช่น มหาสมุทรอินเดีย ก็จะใช้ชื่อทั่วไปนั่นก็คือ พายุหมุน (cyclone)


ลักษณะและองค์ประกอบของพายุหมุนเขตร้อนประกอบไปด้วยกลุ่มเมฆคิวมูโลนิมบัสที่ก่อตัวตั้งแต่เหนือพื้นน้ำสูงขึ้นไปจนถึงหรือเหนือชั้นเพดานบินเล็กน้อย ประกอบกับไอน้ำที่ระเหยจากน้ำผิวมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูง และอาศัยแรงเหวี่ยงจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ก่อให้เกิดเป็นพายุหมุนขึ้น โดยในพายุหมุนลูกหนึ่ง ๆ ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นอากาศร้อนและชื้นลอยตัวขึ้น ก่อเกิดเป็นการแผ่กระจายตัวของกลุ่มเมฆด้านบนและส่วนที่เป็นการหมุนรอบตัวเองของพายุ โดยจะหมุนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือและตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ ในพายุหมุนเขตร้อนบางลูกที่มีขนาดใหญ่จะมีส่วนที่เรียกว่า “ตาพายุ” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพายุบริเวณที่อากาศเย็นตกลงมา อากาศในนั้นจะนิ่งสงบและไม่มีฝนเลย ตรงกันข้ามกับ “กำแพงตาพายุ” ซึ่งเป็นส่วนที่มีกลุ่มเมฆหนา ลมพัดแรง และฝนตกหนัก มักเป็นส่วนที่รุนแรงที่สุดของพายุหมุนเขตร้อนด้วย

ทฤษฎีการเกิดพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclogenesis) กล่าวไว้ว่าพายุหมุนเขตร้อนจะเกิดได้ต้องมีปัจจัยที่จำเป็นอยู่ 6 ข้อ[1,2] ได้แก่ :

(1) มีหย่อมความกดอากาศต่ำที่หมุนรอบตัวเอง

(2) อยู่เหนือมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 26 องศาเซลเซียส

(3) มีความชื้นจากการระเหยของน้ำในมหาสมุทรอยู่ในชั้นบรรยากาศตอนล่างและตอนกลางที่เพียงพอ

(4) มีหย่อมความกดอากาศต่ำและบรรยากาศที่เป็นใจ ทำให้อากาศเหนือพื้นผิวไหลเข้ามารวมตัวกัน และยกตัวขึ้นก่อเกิดเป็นหย่อมเมฆได้ง่าย (atmospheric instability)

(5) หย่อมความกดอากาศต่ำนี้ได้รับแรงหมุนเสริมจากการเหวี่ยงของโลก หรือที่เรียกว่า planetary vorticity ทำให้พายุหมุนเขตร้อนไม่สามารถเกิดที่เส้นศูนย์สูตรเป๊ะ ๆ ได้

(6) หากกระแสลมในแต่ระดับความสูงไม่ได้ต่างกันมาก (low vertical wind shear) ก็ทำให้ความชื้นที่ไหลมารวมตัวถูกกักเก็บไว้ใน “หอคอยเมฆแห่งความร้อน” ได้ง่ายกว่า โดยเจ้าหอคอยก้อนเมฆนี้มีชื่อเล่นทางวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษว่า hot tower ใช้เรียกกลุ่มก้อนเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) ที่ก่อตัวสูงขึ้นไปจนถึงชั้นเพดานบิน และมีพลังงานกักเก็บไว้ภายในมากมาย

ปัจจัยที่จำเป็น 6 ข้อนี้ อาจไม่เพียงพอเสมอไป ดังคำกล่าวภาษาอังกฤษที่ว่า “These conditions are necessary but not sufficient.” หมายความว่า การที่ปัจจัยทั้ง 6 ข้อจะก่อให้เกิดพายุหมุนเขตร้อนได้ ยังต้องมี “บรรยากาศที่เป็นใจ” อื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเสริมจากกระแสอากาศหรือร่องมรสุม เช่น กระแสอากาศตะวันออกแถบอัฟริกา (African easterly jet)[3] และการสลายตัวของร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตรเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ (Intertropical convergence zone (ITCZ) breakdown)[4] ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกจากลักษณะอากาศขนาดใหญ่ (ขนาดกว่า 1000 กิโลเมตร) ก่อให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำเหนือผิวน้ำมหาสมุทร และลักษณะอากาศอื่น ๆ ที่เป็นใจช่วยทำให้การหมุนของอากาศในหย่อมความกดอากาศต่ำมีความรุนแรงขึ้น จนกระแสลมหมุนขยายตัวขึ้นไปจรดชั้นเพดานบิน

นอกจากนี้ก็มีปัจจัยเสริมจากกระบวนการภายในก้อนเมฆที่เรียกว่า mesoscale convective system (MCS) feedback[5] ซึ่งเป็นทฤษฎีการระเหยของฝนที่ตกมาจากกลุ่มเมฆฝนขนาดกลาง (หลัก 10 กิโลเมตร) ทำให้อากาศเริ่มเย็นลงจากด้านบน ในขณะเดียวกันพื้นผิวมหาสมุทรที่ร้อนทำให้อากาศเหนือผิวน้ำลอยขึ้นได้ง่าย ก่อเป็นกลุ่มเมฆหย่อมใหม่ที่เติบโตเป็นกลุ่มเมฆสูง และดึงให้มีการหมุนของอากาศตั้งแต่เหนือผิวน้ำมหาสมุทรไปจรดชั้นเพดานบิน

สรุปว่าปัจจัยเสริมเหล่านี้ทำให้การหมุนของหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นไปเป็นพายุหมุนที่สูงจรดชั้นเพดานบิน ไม่สลายตัวไปก่อน และแรงเหวี่ยงจากการหมุนของโลกยังทำให้กลุ่มเมฆเหล่านี้เกาะกลุ่มกันเป็นพายุหมุนดึงเอาพลังงานความร้อนและความชื้นจากไอน้ำที่ระเหยขึ้นมาจากมหาสมุทรไปใช้ พลังงานและความชื้นที่เก็บสะสมไว้มากมายเหล่านี้จะกลายร่างไปเป็นรูปแบบไหนไม่ได้เลย นอกจากเป็นฝนที่ตกกระหน่ำอย่างรุนแรงในทุก ๆ ที่ที่พายุถูกพัดไป

การจัดประเภทของพายุหมุนเขตร้อน

หากเราจะข้ามรายละเอียดของปัจจัยเสริมข้างต้นมากรณีที่ปัจจัยสำคัญทั้ง 6 ข้อครบถ้วน และบรรยากาศอื่น ๆ เป็นใจ จะพบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวเป็นเจ้าหอคอยเมฆนี้ มีความกดอากาศที่ต่ำลงไปอีก ด้วยหลักทางฟิสิกส์แล้วหย่อมความกดอากาศที่ยิ่งต่ำลงจะยิ่งหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้น โดยจะหมุนทวนเข็มนาฬิกาถ้าอยู่ซีกโลกเหนือ และตามเข็มนาฬิกาถ้าอยู่ในซีกโลกใต้ หากมีความเร็วลมเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ความกดอากาศต่ำกว่า 1,000 hPa (เฮกโตปาสคาล)) ไปก็จะจัดว่าเป็นพายุดีเปรสชัน (tropical depression) ถ้าความเร็วลมอยู่ระหว่าง 64-118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ความกดอากาศต่ำกว่า 990 hPa) จัดว่าเป็นพายุเขตร้อน (tropical storms) และถ้าความเร็วลมเกิน 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปแล้ว (ความกดอากาศต่ำกว่า 980 hPa) จึงจะจัดว่าเป็นพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) หรือไต้ฝุ่น หรือเฮอริเคน นั่นเอง

เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารและการเตือนภัย พายุหมุนเขตร้อนแบ่งออกตามระดับความรุนแรง ตั้งแต่ 1 ถึง 5 และเพื่อให้การติดตามจำนวนพายุหมุนเขตร้อนเป็นไปได้ง่ายขึ้น ในแต่ละปีจะให้ประเทศรอบเขตมหาสมุทรที่ได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนร่วมกันส่งชื่อพายุเหล่านี้ โดยเริ่มจากตัวอักษร A ถึง Z เป็นรายชื่อของตนเอง เมื่อเริ่มปีใหม่ก็จะมีรายชื่อใหม่ แต่หากปีไหนตัวอักษร A ถึง Z มีไม่มากพอในการตั้งชื่อพายุ (คือมีเกิน 26 ลูกไปแล้ว) ก็จะเรียกพายุลูกต่อ ๆ ไปโดยใช้อักษรกรีก ว่า แอลฟา (α) บีตา (β) แกมมา (γ) เดลตา (δ) และบางปีเคยมีถึงเอตา (ε) ด้วย

หลายสิบปีที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่าพื้นผิวน้ำที่ร้อนขึ้นอันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกทำให้พายุหมุนเขตร้อนมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี เนื่องจากไอน้ำที่ระเหยออกมามีมากขึ้น ทำให้เมฆก่อตัวได้มากขึ้นและปริมาณหยาดน้ำฟ้า (น้ำที่ตกลงมาจากฟ้า เช่น ฝน ลูกเห็บ) มีเยอะขึ้นนั่นเอง ดังนั้น ต่อไปหากจะมีข่าวพายุไต้ฝุ่นและเฮอริเคนมีจำนวนมากขึ้นหรือความรุนแรงมากขึ้น ก็ทราบได้เลยว่านี่เป็นผลพวงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมวลมนุษย์ในอดีตและปัจจุบัน

การเดินทางของพายุหมุนเขตร้อน

รู้หรือไม่ว่าพายุหมุนเขตร้อนแต่ละลูกมีเส้นทางการเดินทางเป็นของตัวเองไม่ต่างจากเรา โดยมีหลักการสำคัญคือ พายุหมุนเขตร้อนมักเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกและมุ่งไปทางขั้วโลก (นั่นคือเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือในซีกโลกเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ในซีกโลกใต้) เนื่องจากมีกระแสลมค้า (trade wind) พัดจากตะวันออกไปตะวันตก และในบริเวณกึ่งเขตร้อน (subtropics) ติดกับกระแสลมค้า ยังมีหย่อมความกดอากาศสูง (ที่หมุนตัวตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือและทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้) คอยส่งอากาศจากแนวเส้นศูนย์สูตรไปยังละติจูดที่สูงขึ้นอีกด้วย และประการสุดท้ายคือ แรงเหวี่ยงจากการหมุนรอบตัวเองของโลก (Coriolis force) มีความรุนแรงมากกว่าในพายุหมุนเขตร้อนฝั่งที่ใกล้กับขั้วโลกมากกว่า จึงช่วยให้กลุ่มเมฆก่อตัวในฝั่งนั้นเรื่อย ๆ ด้วย นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกที่จะกำหนดทิศทางของพายุหมุนเขตร้อนแต่ละลูก ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำในพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งถ้าหย่อมความกดอากาศต่ำหรือมวลอากาศอุ่นนี้อยู่ตรงไหน พายุหมุนเขตร้อนเหล่านี้จะเคลื่อนที่ไปในทิศนั้น ๆ

หลักการที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ หากพายุหมุนเขตร้อนไม่ได้ถูกดึงหรือเคลื่อนตัวไปไหน แต่มีเวลาก่อตัวเหนือพื้นผิวมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูง จะทำให้พายุหมุนเขตร้อนมีกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อไหร่ที่พายุหมุนเขตร้อนถูกพัดเข้าฝั่งจะเริ่มมีกำลังลมลดลง เนื่องจากถูกตัดขาดจากแหล่งพลังงานและความชื้นจากมหาสมุทร แต่ถ้าพายุหมุนเขตร้อนยังมีกำลังเหลือ เมื่อเคลื่อนที่เข้าไปในเขตละติจูดกลาง (midlatitude) มันจะกลายร่างเป็นพายุอีกประเภทที่เรียกว่า พายุหมุนนอกเขตร้อน (extratropical cyclone หรือ midlatitude cyclone) นั่นเอง

ดังนั้นการจะพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อน ทั้งการเกิด ความรุนแรง และเส้นทางของพายุ จึงจำเป็นต้องมีแบบจำลองหรือโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างและมีความละเอียดสูง สามารถจำลองสภาพอากาศหลากหลายขนาดเพื่อให้ครอบคลุมกระบวนการต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการก่อตัวและการเดินทางของพายุหมุนเหล่านี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อนทำได้ประมาณ 5-10 วันล่วงหน้า ขึ้นกับความละเอียดและลักษณะอื่น ๆ ของตัวแบบจำลอง แต่จะพยากรณ์ได้ไม่เกิน 11 วันล่วงหน้า[6] เพราะการพยากรณ์อากาศถือเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีไร้ระเบียบ (chaos theory) ประเภทหนึ่ง ผลการพยากรณ์มีความไวต่อสภาวะเริ่มต้น (initial conditions) หากใช้ข้อมูลอากาศสภาวะเริ่มต้นที่ผิดไปจากความเป็นจริงเพียงเล็กน้อยมาเริ่มต้นแบบจำลองจะก่อให้เกิดผลการคำนวณที่ผิดพลาดมหาศาล หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปหลายวัน รวมทั้งการพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อนนี้ด้วย

นอกจากการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์แล้ว ในทางปฏิบัติหรือการติดตามสภาพอากาศรายวันยังใช้ภาพถ่ายดาวเทียมทางอุตุนิยมวิทยาในการติดตามกลุ่มก้อนเมฆ ตำแหน่ง และขนาดของพายุหมุนเขตร้อนเหล่านี้ด้วย หลายครั้งพบว่ามีหย่อมความกดอากาศต่ำหรือกลุ่มพายุหมุนเกิดขึ้นไม่ใกล้ไม่ไกลกันในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสริมจากกลุ่มคลื่นอากาศที่สำรวจได้หากหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนเมฆแล้ว โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง เช่น ดาวเทียมฮิมาวาริ (Himawari) ของประเทศญี่ปุ่น หรือดาวเทียมโกส์ (GOES) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดให้หน่วยงานทางอุตุนิยมวิทยาและผู้ที่สนใจติดตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ได้ตลอดด้วย


ภาพถ่ายดาวเทียมวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 แสดงให้เห็นพายุหมุนเขตร้อน 3 ลูก ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกและเคลื่อนตัวเข้าสู่หมู่เกาะแคริบเบียนและชายฝั่งทางด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เรียงจากซ้ายไปขวา ได้แก่ เฮอริเคนเคเทีย (Katia) เฮอริเคนเออร์มา (Irma) และเฮอริเคนโฮเซ (Jose)

พายุหมุนเขตร้อนกับเอลนิญโญและลานิญญา

หากพูดถึงข่าวคราวเกี่ยวกับสภาพอากาศในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา นอกจากเรื่องพายุหมุนเขตร้อนแล้ว อีกหนึ่งข่าวอันเป็นที่จับตามองคงหนีไม่พ้นเรื่อง เอลนิญโญ (El Niño) และลานิญญา (La Niña) เป็นแน่ ถ้าพูดถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เราเชื่อมโยงกันได้คร่าว ๆ กล่าวคือ เอลนิญโญซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยและทำให้ปริมาณฝนโดยรวมในประเทศฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกหรือฝั่งทวีปเอเชียน้อยลง จะส่งผลให้พายุหมุนเขตร้อนที่พัดเข้าประเทศฝั่งทวีปเอเชียมีกำลังแรงขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะบริเวณที่มีสภาพเหมาะกับการก่อตัวของพายุถูกเลื่อนออกไปในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ซึ่งไกลจากชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรมากขึ้น ทำให้พายุที่ก่อตัวมีเวลากักเก็บพลังงานจากผิวน้ำมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย

ในทางกลับกัน ลานิญญาซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย ฝนโดยเฉลี่ยฝั่งเอเชียมากขึ้น กลับทำให้พายุหมุนเหล่านี้มีกำลังต่ำกว่าและมีอายุสั้นกว่าด้วย[7] ทั้งนี้ทั้งนั้นผลกระทบของเอลนิญโญและลานิญญาต่อพายุเฮอริเคนหรือพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแถบอื่น เช่น มหาสมุทรแอตแลนติก ก็จะแตกต่างออกไป ขึ้นกับอุณหภูมิพื้นผิวเหนือมหาสมุทรบริเวณนั้น ๆ นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการก่อตัว เส้นทาง และกำลังของพายุหมุนเขตร้อนมีมากมาย ส่วนปรากฏการณ์เอลนิญโญและลานิญญาเป็นเพียงปัจจัยบ่งชี้ข้อเดียว

กล่าวโดยสรุปคือโลกของเรายังมีระบบการสลับขั้วของสภาพอากาศและอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลอื่น ๆ ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสภาพอากาศ ทำให้สุดท้ายแล้วการใช้เครื่องมือแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศปัจจุบัน การพัฒนาระบบตรวจสอบและเตือนภัย การติดตามข่าวสารที่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และการติดตามสื่อโดยมีวิจารณญาน จึงล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรับมือกับพายุเหล่านี้

มาตราความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อน แบ่งความรุนแรงพายุหมุนเขตร้อนเป็น 5 ระดับตามมาตราของแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน :

– ระดับ 5 มีความรุนแรงและความเร็วลมมากที่สุด คือ 252 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือมากกว่า ทำให้บ้านเรือนเสียหายรุนแรงมาก

– ระดับ 4 มีความเร็วลมระหว่าง 209-251 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่น พายุกองเร็ย ทำให้บ้านเรือนเสียหายรุนแรง ต้นไม้ล้ม ไฟฟ้าดับ

– ระดับ 3 มีความเร็วลมระหว่าง 178-208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจสร้างความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำ ไฟฟ้า

– ระดับ 2 มีความเร็วลมระหว่าง 154-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลังคาบ้านและไฟดับชั่วคราว

– ระดับ 1 มีความเร็วลมระหว่าง 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่น พายุกระท้อน ซึ่งความเร็วลมก็ไม่ต่างจากรถยนต์วิ่งบนทางด่วน

สำหรับพายุหมุนที่มีความเร็วลมน้อยกว่านี้เรียกว่า :

– พายุโซนร้อน มีความเร็วลมระหว่าง 63-118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

– พายุดีเปรสชัน มีความเร็ว 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือน้อยกว่า

แหล่งข้อมูลติดตามพายุหมุนเขตร้อน

  • ภาพถ่ายดาวเทียม Himawari
  • ข้อมูลความรุนแรงและเส้นทางพายุไต้ฝุ่น จากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น https://www.jma.go.jp/en/typh
  • รวบรวมข้อมูลศูนย์อื่น ๆ ทั่วโลกที่ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับพายุหมุนเขตร้อน https://www.nhc.noaa.gov/aboutrsmc.shtml

แหล่งข้อมูลข้อมูลอ้างอิง

  • [1] Gray, W. M. (1968). Global view of the origin of tropical disturbances and storms. Monthly Weather Review, 96(10), 669-700.
  • [2] Gray, W. M. (1979). Tropical cyclone intensity determination through upper-tropospheric aircraft reconnaissance. Bulletin of the American Meteorological Society, 60(9), 1069-1076.
  • [3] Leppert, K. D., Cecil, D. J., & Petersen, W. A. (2013). Relation between tropical easterly waves, convection, and tropical cyclogenesis: A Lagrangian perspective. Monthly Weather Review, 141(8), 2649-2668.
  • [4] Ferreira, R. N., & Schubert, W. H. (1997). Barotropic aspects of ITCZ breakdown. Journal of the Atmospheric Sciences, 54(2), 261-285.
  • [5] Bister, M., & Emanuel, K. A. (1997). The genesis of Hurricane Guillermo: TEXMEX analyses and a modeling study. Monthly weather review, 125(10), 2662-2682.
  • [6] Narenpitak, P., Bretherton, C. S., & Khairoutdinov, M. F. (2020). The role of multiscale interaction in tropical cyclogenesis and its predictability in near-global aquaplanet cloud-resolving simulations. Journal of the Atmospheric Sciences, 77(8), 2847-2863.
  • [7] Camargo, S. J., & Sobel, A. H. (2005). Western North Pacific tropical cyclone intensity and ENSO. Journal of climate, 18(15), 2996-3006.

About Author