ปลาและน้ำ กับชีวิตจิตใจของเด็ก

เรื่องโดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ และจารุปภา วะสี


          ถ้าเทียบน้ำทั้งหมดที่มีในโลกเท่ากับอ่างอาบน้ำใหญ่ๆ 1 อ่าง พื้นที่ของพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetlands ซึ่งหมายถึงแหล่งน้ำจืดทั้งหมดในโลก และชายฝั่งทะเลที่ลึกไม่เกิน 6 เมตร จะมีพื้นที่รวมกันไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้น

          พื้นที่ชีวิตปริมาณสองช้อนโต๊ะนี้เป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหารสารพันที่ชาวโลกเข้าถึงและพึ่งพาได้มาหลายชั่วอายุคน โดยมีความหลากหลายของชีวิตมากถึง 1 ใน 3 ของจากน้ำทั้งอ่าง (ทะเล) ทั้งยังเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อันดับต้นๆ ของโลกที่ทำงานตลอดเวลาและทุกฤดูกาล โดยมีพืชน้ำ จอก แหน หญ้า สาหร่าย แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ รวมถึงการดักจับคาร์บอนไปสร้างส่วนแข็งของปะการังและเปลือกหอย ปู กุ้งต่างๆ จำนวนมหาศาล และถ้าพื้นที่ชุ่มน้ำมีปริมาณมากพอก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วมและน้ำแล้งได้อย่างดี


ชาวประมงพื้นบ้านตัวจิ๋วๆ กำลังจับกุ้งฝอยที่บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ

          ประโยชน์ที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาของพื้นที่ชุ่มน้ำก็คือ “ปลา” และผองเพื่อนสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กและแม่ โดยเฉพาะในวัยเริ่มต้น ที่เลือดเนื้อและพลังชีวิตมีอาหารที่ดีเป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนถึงเป้าหมายคุณภาพชีวิตของคนไทยไว้ในบทความ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2516


พรานปลาตัวน้อยกับปลาบู่แม่น้ำโขง Papuligobius mekongensis ที่ไซยะบุรี

          “เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมอยากให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิการของแม่และเด็ก…

          “ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์”

          แต่สำหรับเด็กๆ ความสัมพันธ์ของเด็กกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นบ้านนั้นไปไกลกว่าเรื่องความอิ่มท้องมาก อย่างที่ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวหแห่งทะเลจะนะ พูดไว้ใน TEDX เจริญกรุง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

          “ตอนเด็กมากๆ พ่อกับแม่พาหนูไปฝากไว้ที่บ้านญาติใกล้บ้าน เวลาเล่นกับเพื่อนเรามักจะเอาพืชในป่ามายิงกัน ปีนต้นเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จนไปเจองู !!!

          ใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในป่าลาเมาะ พวกเราทำบ้าน เอากิ่งไม้มาตั้ง เอาดินทรายมาเล่นขายของกัน


ชายฝั่งอันสมบูรณ์ที่จะนะ

          หลังเลิกเรียน พอถึงบ้าน หนูรีบวางกระเป๋า แล้วก็วิ่งไปกระโดดลงทะเล เล่นทรายบนชายหาด ใช้ทั้งตัวคลุกกับหาดทรายเหมือนไก่ชุบแป้งทอดเลยค่ะ

          วันเสาร์ เก้าถึงสิบโมง ก็วิ่งลงทะเล จนโดนแม่ห้ามเล่นเพราะซักเสื้อไม่ทัน !!!

          พอโดนบ่นบ่อยๆ หนูก็มีทริกหนีแม่ด้วยการขึ้นไปอยู่บนเนินทรายหลังเล่นน้ำทะเลเสร็จเพื่อตากเสื้อให้แห้งแล้วนอนแบบนั้นเลย !!

          เพราะเดี๋ยวแม่สงสัย !!

          แต่ตอนนี้แม่คงรู้แล้วแหละค่ะ ฮ่าๆ

          นี่คือชีวิต ตั้งแต่เด็กจนโตของหนู หนูอยู่ที่จะนะค่ะ”


เด็กๆ ช่วยพ่อแม่เตรียมเบ็ดป่อมสำหรับตกปลาตอง (ปลาสลาด) ที่บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ

          เด็กๆ กับธรรมชาติและสิงสาราสัตว์เป็นของคู่กัน ความช่างเล่นและช่างสงสัยใคร่รู้ทำให้เด็กเล็กๆ เฝ้ารอลุ้นเวลาพ่อแม่กลับจากหาปลาว่าจะได้ปลาอะไรมาบ้าง มีตัวอะไรแปลกๆ ไหม และใช้เครื่องมือจับปลาของผู้ใหญ่ไปช้อนปลามาเล่น พอโตขึ้นก็มักขอตามลงเรือไปช่วยจับปลา หรือช่วยหาหอยและปลาเล็กๆ ตามชายฝั่ง ทั้งสนุกเพลิดเพลิน ได้เอาใจพ่อแม่ และได้เป็นส่วนหนึ่งในการหาอยู่หากินของครอบครัว


พ่อ ลูก (น้องยะห์) นักจับปลาจากจะนะ

          ปลาและแหล่งอาศัยของปลาจึงไม่ได้เป็นแค่ความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็นความสุข จินตนาการ และสร้างความรักความผูกพันกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นความมั่นคงต่อชีวิตจิตใจของเด็ก และเป็นความมั่นคงของผู้ใหญ่ทั้งหมดด้วย

          บ้านของไครียะห์ที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นทะเลที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์มาก การเก็บข้อมูลในชุมชนพบว่า สัตว์น้ำกว่า 150 ชนิดจากทะเลจะนะทำรายได้ให้ชุมชนโดยรอบปีละ 300 ล้านบาท และที่จะนะมีเด็กๆแบบไครียะห์อีกหลายคนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม “เด็กรักหาดสวนกง” กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องทะเลของตัวเองอย่างเข้มแข็งเพื่อคัดค้านการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่รัฐบาลพยายามจะสร้างโดยไม่ฟังคำทัดทานจากเจ้าของบ้าน

          ปั้นน้ำเป็นปลาขอร่วมฉลองวันเด็กด้วยภาพสวยๆ ของเด็กๆ จากพื้นที่ชุ่มน้ำแหล่งต่างๆ และพันธุ์ปลาในทะเลจะนะ

About Author