Headlines

ม.มหิดล เปิดมิติใหม่วงการศึกษาวิทย์กีฬาไทย เปิดสอนกายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของนักกีฬาอย่างตรงจุด

          วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็น “วันกีฬาแห่งชาติ” เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปรีชาทางด้านกีฬาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) และพระราชกรณียกิจที่ทรงมีคุณูปการต่อการกีฬาของประเทศไทย

          ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้ใช้แนวทางในการจัดการเรียนการสอนแบบมุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based Education) ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-QA) โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

          นับเป็นมิติใหม่ของวงการศึกษาวิทยาศาสตร์กีฬาของประเทศไทย ที่ได้นำเอากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) มาประยุกต์ใช้เพื่อการปรับปรุงและเพิ่มสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของนักกีฬาอย่างตรงจุด โดย อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีตคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ริเริ่มจัดการเรียนการสอนรายวิชากายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูงเพื่อการออกกำลังกาย (Basic and advanced functional anatomy for exercise) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยฯ ในชั้นปีที่ 2 ด้วยแนวคิด Outcome-based Education ของ AUN-QA ที่ให้นักศึกษาได้เรียนทั้งภาคทฤษฎี และฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง พร้อมทั้งคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้จริง

อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ
อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีตคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มจัดการเรียนการสอนรายวิชากายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูงเพื่อการออกกำลังกาย (Basic and advanced functional anatomy for exercise) ตามแนวคิด AUN-QA

 

          อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ กล่าวว่า “การเคลื่อนไหว” เป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เพื่อเข้าใจในหลักของการเคลื่อนไหว และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกายและเล่นกีฬาแต่ละประเภท จึงได้จัดการเรียนการสอนโดยผนวกเอาความรู้ทางด้านกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาและชีวกลศาสตร์ มาใช้ในการศึกษาวิทยาศาสตร์กีฬา ซึ่งลำพังกายวิภาคศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐานของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของวิทยาลัยฯ สอนเพียงให้นักศึกษารู้จักและท่องจำส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่รายวิชากายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ฯ จะสอนโดยใช้ภาษาทางกายวิภาคศาสตร์เพื่อการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นสากล และเน้นเรื่องการประยุกต์ใช้ เช่น ถ้าบอกให้นักกีฬาผู้เข้ารับการฝึกเกร็งต้นแขน หากบอกด้วยภาษาทางกายวิภาคศาสตร์จะทำให้สามารถบอกได้อย่างตรงจุดว่าควรใช้กล้ามเนื้อมัดไหนจึงจะตรงตามวัตถุประสงค์ของการฝึก และจะมีความแม่นยำยิ่งขึ้นหากให้นักศึกษาได้ลองทำด้วยตัวเอง

          ซึ่งรายวิชากายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ฯ จะเป็นการ “ดูซ้ำ-ย้ำทวน” ภาษาทางกายวิภาคศาสตร์กลับไม่ใช่เรื่องยาก เพราะจะมีการ “ทวนซ้ำ” ให้นักศึกษาผู้เรียนได้จดจำอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ยากกว่า คือ “การเคลื่อนไหวให้ถูกหลัก” โดยในการเรียนการสอนจะให้นักศึกษาผู้เรียนได้ทดลองฝึกปฏิบัติ และถ่ายวิดีโอการฝึกของตัวเองขณะปฏิบัติมาวิเคราะห์และวิพากษ์กันว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร

          ที่ผ่านมา พบว่าการให้นักศึกษาได้ทั้งดู ฟัง ลงมือทำ และคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการศึกษาที่เห็นผลลัพธ์แบบ Outcome-based Education ตามแนวคิดของ AUN-QA และเพื่อปรับให้เข้ากับโลกในยุคดิจิทัล ในอนาคตอาจมีการใช้สื่อออนไลน์เป็นสื่อเสริม โดยเหมาะกับผู้ที่มีพื้นฐานบ้างแล้วเพื่อการแก้ไขปรับให้ดีขึ้น แต่ไม่เหมาะกับผู้เรียนในระยะเริ่มต้น (Beginner) เนื่องจากไม่สามารถสอนให้ทำได้จริงจากการใช้เพียงจินตนาการ เช่นเดียวกับการสอนว่ายน้ำออนไลน์ไม่สามารถทำได้สำหรับผู้เริ่มฝึกที่ไม่เคยว่ายน้ำจริงมาก่อน จะไม่มีทางเข้าใจว่าควรจะหายใจ และเคลื่อนไหวอย่างไร

“น้องบุญเล้ง” นายณัฏฐ์ณรงค์ ทองดีเลิศ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย) และ “น้องฟิว” นางสาวกุลวณิชย์ ธรฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การออกกำลังกายและการกีฬา) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

          “น้องฟิว” นางสาวกุลวณิชย์ ธรฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การออกกำลังกายและการกีฬา) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าถึงประสบการณ์จากการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนรายวิชากายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ฯ ในการช่วยฝึกสอนนักกีฬากอล์ฟ โดยพบว่านักกีฬากอล์ฟต้องเดินเป็นระยะทางไกลราว 10 กิโลเมตรในการแข่งขันแต่ละครั้ง จึงจำเป็นต้องมีการฝึกกล้ามเนื้อขาร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังได้ใช้ความรู้จากการศึกษารายวิชาดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการฝึกซ้อมกีฬาเรือพายด้วยตัวเองจนสามารถร่วมชิงชัยได้อันดับ 6 ประเภทดึงระยะ 1,000 เมตร จากการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาแล้ว โดยมี อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาชมรมกีฬาเรือพายในขณะนั้นเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักและให้คำแนะนำ

          เช่นเดียวกับ “น้องบุญเล้ง” นายณัฏฐ์ณรงค์ ทองดีเลิศ ที่เป็นอีกหนึ่งนักกีฬาเรือพายของมหาวิทยาลัยมหิดลที่น่าจับตา และสามารถทำเหรียญเงิน ประเภทกรรเชียงบก จากการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 47 ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นนักศึกษาผู้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล “น้องบุญเล้ง” เล่าว่าตนเลือกเรียนที่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากเป็นผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย และอยากใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ไปฟื้นฟูสุขภาพและสมรรถภาพให้กับสมาชิกในครอบครัว และเพื่อนๆ นักกีฬา ซึ่งรายวิชากายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ฯ นั้นไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อพัฒนาการเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกาย แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บจากการใช้กล้ามเนื้อที่ผิดหลักได้

          จากผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ด้านความเป็นครูส่งผลให้ อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ ได้รับการยกย่องให้เข้ารับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดลในสาขาดังกล่าว จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา โดย อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ กล่าวว่า “ครูที่ดี” นอกจากจะทำหน้าที่ของครูที่พึงปฏิบัติต่อศิษย์ตามหลักธรรม “ทิศ 6” แล้ว ยังพึงเป็น “กัลยาณมิตรที่ดี” ต่อศิษย์ด้วย


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author