AGRITEC สถานีความรู้เทคโนโลยีด้านเกษตร

ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์
นักวิชาการ ฝ่ายจัดการความรู้และสร้างความตระหนัก สท.


สถานี AGRITEC คอลัมน์น้องใหม่รายงานตัวค่ะ

AGRITEC (อ่านว่า อะ-กริ-เทก) เป็นชื่อย่อภาษาอังกฤษของ “สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร” มีชื่อย่อภาษาไทยว่า “สท.” เป็นหน่วยงานหนึ่งของ สวทช. ที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ถ่ายทอดสู่เกษตรกรและชุมชน เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับการทำเกษตร สอดรับกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

คอลัมน์สถานี AGRITEC จะเป็นพื้นที่ที่นักวิชาการของ สท. จะมาร่วมแบ่งปันข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตร ประสบการณ์การลงพื้นที่ทำงานกับเกษตรกร รวมไปถึงบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของเกษตรกรทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวบนเส้นทางอาชีพนี้

สำหรับฉบับแรกนี้จะขอพูดถึงการทำงานของ สท. สักนิด เพื่อผู้อ่านจะได้รู้จัก สท. มากขึ้น ก่อนที่จะได้ติดตามสาระความรู้ในฉบับต่อ ๆ ไป

การถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเกษตรเพื่อให้เกิดการขยายผลอย่างทั่วถึงได้นั้น สท. ใช้กลไกการทำงานหลัก 5 ด้าน คือ

  • พัฒนาเชิงพื้นที่มุ่งเป้าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (area-based approach) สร้างกลไกและกระบวนการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอก (ภาครัฐ-เอกชน-ชุมชน) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยกระดับการพัฒนาศักยภาพพื้นที่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในมิติต่าง ๆ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่
  • สถานีเรียนรู้ (training hub) แหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนาทักษะเดิม (upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (reskill) ให้เกษตรกรและชุมชนนำไปประยุกต์ใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  • ตลาดนำการผลิต (inclusive innovation) บูรณาการความร่วมมือแบบจตุภาคีจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม สร้างการเรียนรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกร ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกษตรกร
  • พัฒนาศักยภาพของบุคลากรภาคการเกษตรและพัฒนาผู้ประกอบการบริการระบบงานเกษตรอัจฉริยะ (Agriculture System Integrator: ASI) ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่ให้บริการเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะของ สวทช. ทำให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • โครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อชุมชน (Community-based Technology and Innovation Assistance Project: CTAP) บริการให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณไม่เกินร้อยละ 80 ผู้ขอรับบริการสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 20 ของบประมาณโครงการ

กลไกการทำงานในแต่ละด้านมีวิธีการอย่างไร สถานีเรียนรู้อยู่ที่ไหน มีเกษตรกร/ชุมชนใดที่ได้ประโยชน์บ้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nstda.or.th/agritec/drives/

          นอกจากการทำงานผ่านกลไกดังกล่าวแล้ว สท. ยังผลิตสื่อความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหนังสือ คู่มือ คลิปวิดีโอ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรและผู้สนใจเข้าถึงและเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางดังต่อไปนี้ค่ะ

สำหรับสาระความรู้ที่จะถ่ายทอดผ่านคอลัมน์นี้ตั้งแต่ฉบับหน้าเป็นต้นไป หวังว่าจะโดนใจ เป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็นประโยชน์ให้ผู้อ่านที่กำลังสนใจการทำเกษตรด้วยความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนะคะ

About Author