จากสงขลาสู่เชียงใหม่ เรียนให้รู้ ดูให้เห็น ทำให้เป็น

เลอทีชา เมืองมีศรี และ ปิยพร เศรษฐศิริไพบูลย์
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)


การเดินทางด้วยรถไฟจากหาดใหญ่สู่กรุงเทพฯ และต่อด้วยรถตู้มุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ รวมระยะทางไปกลับกว่า 3,000 กิโลเมตร อาจสร้างความเหนื่อยล้าให้ใครหลายคน แต่สำหรับเกษตรกร 10 ชีวิต ตัวแทนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญ จังหวัดสงขลา การเดินทางครั้งนี้กลับสร้างความฮึกเหิมให้กับอาชีพของพวกเขา หลังได้เปิดโลกกว้างในงาน “เกษตรแม่โจ้ 90 ปี” เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญ จังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเกษตรกรที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตพืชผัก โดยมีจุดเริ่มต้นจาก ตานูน หรือ มนูญ แสงจันทร์สิริ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญ จังหวัดสงขลา ที่มีโอกาสร่วมงาน สวทช.-วิทย์สัญจร “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” ที่หาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2562  และจุดความคิด “การทำเกษตรใช้ภูมิปัญญาอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วย” จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกับ สท. ที่ได้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้ตานูนและสมาชิกกลุ่มฯ จนเกิดการขยายเป็น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญ จังหวัดสงขลา มีสมาชิกอยู่ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอนาทวี อำเภอจะนะ และอำเภอรัตภูมิ

การปลูกผักสดให้ได้คุณภาพและขายให้ได้ราคาเป็นเรื่องใหม่สำหรับสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งส่วนใหญ่ทำสวนยางหรือปลูกข้าวเป็นหลัก แต่พวกเขาต่างพร้อมใจเรียนรู้และลงมือทำเพื่อเป็นรายได้เสริมหรืออาจพัฒนาเป็นรายได้หลัก

“คนเราเมื่อเจอวิกฤต ก็ต้องหาตัวช่วย ลงทุนน้อยที่สุดคือปลูกผัก ปลูกแล้วได้กิน สุขภาพดี ไม่ต้องซื้อผัก เหลือก็เอามาขาย” ตานูนเล่าถึงการสนับสนุนให้สมาชิกหันมาปลูกผักในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด 19 ที่ทำให้หลายคนขาดรายได้ โดยประสานความร่วมมือกับ สท. จัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ให้ความรู้ “การผลิตพืชผักในโรงเรือนปลูกพืชต้นทุนต่ำ” ให้สมาชิกเครือข่ายฯ และเกิดการนำไปประยุกต์ใช้

อย่างไรก็ตามจากการติดตามการนำความรู้ของเกษตรกรไปปรับใช้ พบว่าเกษตรกรยังเข้าใจการบริหารจัดการการผลิตผักคลาดเคลื่อน ตั้งแต่การเพาะกล้า ปลูก ให้น้ำ-ปุ๋ย ป้องกัน-กำจัดโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตที่ได้ยังไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

การเดินทางกว่า 3,000 กิโลเมตรนี้ จึงเกิดขึ้นจากความต้องการของสมาชิกเครือข่ายฯ ที่พร้อมลงขันค่าใช้จ่ายร่วมกับการสนับสนุนจาก สท. เพื่อไปศึกษาและเรียนรู้ “การบริหารจัดการพืชผักในระบบอินทรีย์แบบครบวงจร” จากแหล่งความรู้ผลิตพืชผักอินทรีย์ที่ขึ้นชื่อและได้รับการยอมรับของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น

  • ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นสถานีเรียนรู้ (training hub) การผลิตผักอินทรีย์ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีฐานเรียนรู้ที่เปิดให้เกษตรกรและผู้สนใจได้เข้าถึงความรู้และการใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำหมักปลา การประยุกต์ใช้แหนแดงเพื่อทำวัสดุเพาะกล้า การเพาะกล้า การเพาะต้นอ่อน การผลิตผักในโรงเรือนปลูกพืชรูปแบบต่าง ๆ (โรงเรือนหลังคาสองชั้น สวทช. และโรงเรือนต้นทุนต่ำ) เป็นต้น
  • นิทรรศการและแปลงผัก ณ สาขาวิชาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
    เยี่ยมชมการจัดแสดงพันธุ์พืชผักของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ แลกเปลี่ยนเทคนิคการจัดการแปลงพืชผัก ร่วมกิจกรรมผลิตยาหม่องจากชันโรงที่บูทนิทรรศการของ สท. ชมผลงานวิจัยและร่วมแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ทำให้เห็นโอกาสการเพิ่มมูลค่าผักตกเกรดเป็นผักพร้อมรับประทาน โดยใช้เทคโนโลยีฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เยี่ยมชมการเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์ และการปลูกกัญชาอินทรีย์เพื่อการแพทย์


ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้เกียรติเป็นวิทยากรให้ความรู้และนำชมการเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์และการปลูกกัญชาอินทรีย์เพื่อการแพทย์

  • ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง มูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดมุมมองการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวพืชผักตั้งแต่การตรวจรับผลิตผล ตรวจสอบคุณภาพ ตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้าง การจัดเก็บรักษา การตัดแต่งและคัดแยกผลิตผล การบรรจุหีบห่อ การตรวจสอบสินค้าก่อนจัดส่ง การจัดส่งและกระจายสินค้า รวมถึงการจัดการเศษผักเหลือทิ้ง

ระยะเวลาเพียง 3 วันกับการเรียนรู้นอกแปลงปลูกของตัวเอง กระตุ้นความอยากรู้ ย้อนมองความผิดพลาดและมองเห็นวิธีแก้ไขเพื่อให้การผลิตผักอินทรีย์ของตนดีขึ้น

“ลดต้นทุน” เป็นข้อความที่เกษตรกรผู้ร่วมทริปสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางไกลครั้งนี้ ซึ่งต่างได้มองเห็นแนวทางการลดต้นทุนการผลิตผักอินทรีย์ได้ในหลายขั้นตอน เช่น การผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองไว้ใช้เอง โดยใช้เศษพืชผักหรือใบไม้ในพื้นที่ ปุ๋ยหมักที่ได้นำมาเป็นส่วนผสมในวัสดุเพาะกล้าร่วมกับแหนแดงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้เอง กลายเป็นวัสดุเพาะกล้าคุณภาพที่มีต้นทุนต่ำกว่าวัสดุเพาะกล้าที่ใช้อยู่

“ที่ฟาร์มใช้พีตมอสเพาะกล้า ต้นทุนสูงมาก สิ่งที่จะกลับไปทำอย่างเเรกเลยคือ ทำวัสดุเพาะกล้าใช้เอง เพื่อลดต้นทุน ร่วมกับทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองและปรับปรุงการเลี้ยงไส้เดือนพันธุ์ขี้ตาแร่” ภาสกร แสงจันทร์ศิริ เกษตรกรจาก “สมายด์ฟาร์ม” สะท้อนความคิดในเวทีแลกเปลี่ยนรู้จากการเปิดโลกกว้างครั้งนี้ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เธอวางแผนเปลี่ยนจากกรีดยางมาปลูกผักเต็มตัว

ขณะที่ อัญชนะศิริ ทองปล้อง ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแม่บัว ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา บอกว่า จะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดให้สมาชิกเลี้ยงไส้เดือนดิน เลี้ยงแหนแดง ทำปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองไว้ใช้เองและปรับปรุงกระบวนการทำน้ำหมักปลาให้ถูกต้อง

ส่วนตานูน หัวเรือใหญ่ของทริปนี้ บอกว่า จะนำเรื่องการจัดการแปลงปลูกด้วยพลาสติกคลุมดินกลับไปปรับใช้ รวมถึงได้แนวทางการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการเพิ่มมูลค่าผลผลิต และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ปรับปรุงกระบวนการปลูกกัญชาของกลุ่มฯ ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้สารสำคัญที่ตลาดต้องการ

การออกเดินทางไกลครั้งนี้ได้เติมความรู้และเปิดโลกกว้างการทำเกษตรอินทรีย์ให้เหล่าเกษตรกรจากแดนใต้ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้อย่างเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ โลกของการทำเกษตรอินทรีย์มีเรื่องให้เรียนรู้ไม่จบสิ้น เมื่อได้ออกเดินทางครั้งแรก ย่อมมีครั้งที่สอง ซึ่งหมุดหมายที่พวกเขาร่วมกันวางไว้คือ การไปเรียนรู้วิถีการผลิตผักอินทรีย์ของเครือข่าย สท. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อเกษตรกรชาวใต้หนีฝนใต้ไปเยือนแดนอีสานจะเป็นอย่างไร รอติดตามในปลายปีนี้ ^-^


คลิกอ่านเพิ่มเติม

About Author