What is DORA?

          DORA หรือ San Francisco Declaration on Research Assessment เป็นการประกาศข้อตกลงการประเมินผลงานวิจัย (Output of Scientific Research) เช่น บทความวิจัยที่รายงานองค์ความรู้ใหม่, ข้อมูลจากงานวิจัย (Research Data), ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานให้ทุน หน่วยงานการศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงตัวนักวิทยาศาสตร์ ควรสามารถเข้าถึงผลงานวิจัย มีที่มาจากการประชุมประจำปีของ The American Society for Cell Biology ที่เมืองซานฟราซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2012 [1] ซึ่งมีการหารือถึงประเด็นการประเมินผลงานวิจัย โดยมีวิสัยทัศน์คือการเข้าถึงผลงานวิจัยได้ทั่วโลก และครอบคลุมทุกสาขางานวิจัย [2] และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเครื่องมือและกระบวนการประเมินผลงานวิจัยอย่างมีคุณภาพ การใช้ตัวชี้วัด (Metrics) และเกิดการดำเนินงานที่โปร่งใส มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงานวิชาการ กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงให้ทั่วถึงในระดับนานาชาติและทุกสาขาวิจัย และแสดงถึงความเท่าเทียม ทั้งนี้ได้วางแนวทางปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจและเผยแพร่ไปสู่สาธารณะผ่าน Social Medias ต่างๆ จัดทำแหล่งทรัพยากรความรู้ สร้างเครือข่ายพันธมิตร ผลักดันให้หน่วยงานมีการจัดทำนโยบายที่สอดคล้องกับ DORA

ในปัจจุบันค่า Impact Factor (IF) เป็นตัวชี้วัดที่เกิดจากการคำนวณโดยสำนักพิมพ์และใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อสะท้อนคุณภาพของตัวผู้สร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในการใช้ IF เช่น ความจำเพาะของบางสาขางานวิจัย การเปลี่ยนแปลงได้ตามนโยบายของสำนักพิมพ์ (Manipulation) และการไม่เปิดเผยที่มาการคำนวนต่อสาธารณะ จึงควรให้ความสำคัญในการมุ่งเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีกระบวนการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ (Peer Review) โดยข้อแนะนำ (Recommendations) สำหรับการประเมินผลงานวิจัยของ DORA คือ

  • ยกเลิกการใช้ตัวชี้วัดของวารสารประกอบการพิจารณาการให้ทุนวิจัย การแต่งตั้ง และการเลื่อนตำแหน่ง [The need to eliminate the use of journal-based metrics, such as Journal Impact Factors, in funding, appointment, and promotion considerations]
  • ประเมินผลงานวิจัยที่คุณค่าของผลงานมากกว่าพิจารณาจากวารสารที่ตีพิมพ์ [The need to assess research on its own merits rather than on the basis of the journal in which the research is published]
  • เผยแพร่ผลงานวิจัยทางออนไลน์โดยไม่จำกัดปริมาณข้อมูลและการอ้างอิง และริเริ่มใช้ตัวชี้วัดใหม่ที่มีผลกระทบและมีนัยสำคัญ [The need to capitalize on the opportunities provided by online publication (such as relaxing unnecessary limits on the number of words, figures, and references in articles, and exploring new indicators of significance and impact) ]

โดยในข้อตกลง DORA นี้ ได้มีการเชิญชวนให้บุคคลและหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกร่วมลงนามในข้อตกลงการร่วมพัฒนาและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดี (ณ กันยายน 2564 มีการลงนามแล้ว 20,394 คน/หน่วยงาน)[3] ตัวอย่างหน่วยงานที่ร่วมลงนาม เช่น The University of Melbourne [4] ประเทศออสเตรเลีย  และ สำนักพิมพ์ PLOS ONE [5]

ศึกษาของ DORA พร้อมทั้งแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ และตัวอย่างหน่วยงานที่ปรับใช้ข้อแนะนำของ DORA ในการประเมินผลงานวิจัย ได้ที่ https://sfdora.org/

เอกสารอ้างอิง 

[1] https://sfdora.org/

[2] https://sfdora.org/about-dora/

[3] https://sfdora.org/signers/?_signer_type=organisation

[4] https://about.unimelb.edu.au/newsroom/news/2020/july/university-signs-up-to-international-agreement-for-best-practice-in-research-assessment

[5] https://plos.org/publish/dora/