การถอดถอนบทความ (Retraction) หมายถึง กระบวนการยกเลิกบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว อาจกระทำโดยผู้นิพนธ์ (Author) สถาบัน/ต้นสังกัดของผู้นิพนธ์ หรือบรรณาธิการวารสาร (Editor) โดยมีการทำสัญลักษณ์ “Retraction” ลงบทความที่ถอดถอน เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้อ่านทราบว่าบทความนั้นๆ อาจมีข้อมูลหรือเนื้อหาบกพร่องที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบทความ หรืออาจเกิดข้อสงสัยด้านการประพฤติมิชอบทางการวิจัย (Research Misconduct) จากความไม่ตั้งใจหรือความตั้งใจของผู้นิพนธ์

สาเหตุที่บทความวิจัยถูกถอดออกจากสำนักพิมพ์วารสาร

  • การประพฤติมิชอบทางการวิจัย เช่น การคัดลอกผลงาน (Plagiarism) การสร้างข้อมูลเท็จ (Fabrication) การดัดแปลงข้อมูล (Falsification) การจัดการกระบวนการกลั่นกรองวารสารที่ไม่เหมาะสม (Peer Review Manipulation)
  • ข้อมูลไม่สามารถทำซ้ำได้ (Reproducibility)
  • การแบ่งข้อมูลผลงานเพื่อเพิ่มจำนวนการตีพิมพ์เกินความจำเป็น (Redundant publication)
  • การนำข้อมูลกลับมาใช้ใหม่โดยไม่ได้รับการอนุญาต (Authorization) การละเมิดลิขสิทธิ์ (Copyright Infringement)
  • ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านกฎหมาย (เช่น การหมิ่นประมาท, การละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล, การทำผิดทางกฎหมาย)
  • การเปิดเผยข้อมูลสำคัญผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่อการตีความ หรือให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านไม่เหมาะสม

สถิติการถอดถอนบทความ

จำนวนบทความวิจัยที่ถูกถอดถอนมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 10 เท่า ในช่วงระยะเวลา 10 ที่ผ่านมา (ปี พ.. 2540 มีรายงาน 44 ฉบับ, ปี พ.. 2559 มีรายงาน 448 ฉบับ) (ข้อมูลจาก Retraction Watch ปี 2559) แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของวารสารที่ตีพิมพ์ พบว่ามีการถอดถอนประมาณหนึ่งครั้งต่อปีต่อวารสาร จึงถือว่าจำนวนโดยเฉลี่ยต่อวารสารยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ปัจจัยที่ทำให้จำนวนบทความที่ถูกถอดถอนมีมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมนักวิจัยและสถาบันต้นสังกัดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การตั้งเป้าหมายจำนวนบทความตีพิมพ์ที่มากขึ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจให้ประพฤติมิชอบหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือกระบวนการตรวจสอบบทความของวารสารรวดเร็วกว่าในอดีต

ส่วนใหญ่วารสารที่มีค่า Impact Factor สูงๆ มักมีนโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้บรรณาธิการจัดการถอดถอนบทความที่มีข้อบกพร่องอย่างเข้มงวด มีประสิทธิผล และมีการเผยแพร่ข้อบกพร่องของบทความที่ถูกถอดถอนบนเว็บไซต์สาธารณะของแวดวงสาขาวิทยาศาสตร์ เช่น PubPeer เป็นต้น

จากข้อมูลบทความที่ถูกถอดถอนใน Retraction Watch พบว่า สาเหตุของการถอดถอนบทความวิจัย ส่วนใหญ่ 50% เกิดจากการสร้างข้อมูลเท็จ (Fabrication), การดัดแปลงข้อมูล (Falsification) และการคัดลอกผลงาน, 40% เกิดจากการไม่สามารถทำซ้ำได้ (Irreproducibilityและอีก 10% เกิดจากการปลอมแปลงผู้นิพนธ์ การปลอมแปลงผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองบทความ (Fake Peer Review) และการไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์หรือสัตว์

ในระยะหลัง พบว่า การคัดลอกผลงาน (การขโมยผลงานผู้อื่นหรือคัดลอกผลงานตัวเอง) เป็นสาเหตุของการถอดถอนบทความที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากในปี 2547 มีการเปิดตัวโปรแกรม iThenticate ที่ช่วยในการตรวจสอบความคล้ายคลึงของผลงาน ช่วยให้บรรณาธิการใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบบทความลดลง

graph1

จากข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับการศึกษา Campos-Varela ที่พบว่า สาเหตุหลักของการถอดถอนบทความทางด้าน Biochemical คือ การคัดลอกผลงาน โดย 51.4% พบในวารสารที่มีค่า Impact factor สูงมากกว่าวารสารที่มีค่า Impact Factor ต่ำ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าการตีพิมพ์ในวารสารดังกล่าว มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในสายอาชีพ การรับทุนสนับสนุนงานวิจัย จึงมีแรงจูงใจให้เกิดการประพฤติมิชอบ และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ วารสารเหล่านี้มีนโยบายในการจัดการถอดถอนบทความที่มีข้อบกพร่องที่เข้มงวด

แม้ว่าปัจจุบันจะมีโปรแกรมที่ช่วยตรวจสอบความคล้ายคลึงของผลงานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อเป็นการป้องกันการประพฤติมิชอบ แต่สถิติการคัดลอกผลงานยังคงมีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น มีข้อแนะนำในการตรวจสอบการคัดลอกผลงาน 3 วิธี ได้แก่ 1. บรรณาธิการหรือผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบโดยอ้างอิงจากผลงานเก่าที่เคยตีพิมพ์มาก่อน 2. ตรวจสอบโดยใช้โปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกเนื้อหาหรือรูปภาพ 3. ตรวจสอบจากผู้อ่าน หรือผู้นิพนธ์ หลังจากที่บทความได้รับการเผยแพร่แล้ว และแนวทางสำคัญที่จะป้องกันการคัดลอกผลงาน คือ การส่งเสริมความรู้และความตระหนักให้แก่ผู้นิพนธ์ทราบ

แนวทางในการตรวจสอบและพิจารณาถอดถอนบทความสำหรับบรรณาธิการ

คณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (Committee on Publication Ethics(https://publicationethics.org/)
ผู้มีบทบาทในการส่งเสริมจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวิจัยและการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ได้เผยแพร่แนวทางการพิจารณาถอนบทความ (Retraction Guideline) โดยมีข้อแนะนำสำหรับบรรณาธิการของสำนักพิมพ์วารสารในการตรวจสอบและพิจารณาถอดถอนบทความ ด้วยเงื่อนไขต่อไปนี้

  • การค้นพบหลักฐานที่แสดงถึงข้อผิดพลาดของข้อมูลหรือเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถืออย่างชัดเจน เช่น การทดลอง/การคำนวณผิดพลาด การปลอมแปลงข้อมูล การสร้างข้อมูลเท็จ
  • การคัดลอกข้อมูล
  • การค้นพบว่าข้อมูลเคยได้รับการเผยแพร่ยังวารสารอื่นแล้ว และไม่มีการระบุแหล่งที่มาอย่างเหมาะสม หรือไม่ได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการให้สามารถเผยแพร่ซ้ำได้
  • การใช้ข้อมูลหรือเนื้อหาโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • การละเมิดลิขสิทธิ์หรือกฎหมายที่ร้ายแรง (เช่น การหมิ่นประมาณ การละเมิดความเป็นส่วนตัว)
  • การกระทำผิดจรรยาบรรณ
  • การปลอมแปลงผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองบทความหรือเข้ามามีส่วนในกระบวนการกลั่นกรองบทความ
  • การไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญ เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ส่งผลกระทบต่อการให้คำแนะนำหรือการตีความของบรรณาธิการและผู้ทรงคุณวุฒิ

          การถอดถอนบทความ อาจจะถอดเนื้อหาบางส่วนหรือข้อความที่ปรากฏทั้งหมดในบทความ

  • หากเป็นข้อมูลหรือเนื้อหาที่ผิดพลาดเพียงเล็กน้อย วิธีการที่ดีที่สุด คือ แก้ไขให้ถูกต้อง ในทำนองเดียวกัน หากบรรณาธิการตรวจพบว่า ในส่วน Discussion มีข้อมูลที่คัดลอกเล็กน้อย อาจจะพิจารณาให้แก้ไขให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องถอดบทความทั้งบทความที่เผยแพร่แล้ว
  • หากพบว่ามีการตีพิมพ์ซ้ำซ้อน (Redundant Publication) มากกว่า 1 วารสารในเวลาเดียวกัน แต่ข้อมูลในบทความไม่ได้มีข้อบกพร่องที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบทความ ให้ลำดับเหตุการณ์จาก วันที่เผยแพร่/วันที่อนุญาตในการเผยแพร่/ข้อตกลงการโอนลิขสิทธิ์ของผู้เขียน จากนั้นวารสารที่ตีพิมพ์ซ้ำซ้อนภายหลัง ควรเป็นผู้แจ้งถอดถอนบทความ พร้อมทั้งระบุเหตุผล
  • หากพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนซ้อนทับ (เช่น การเสนอข้อมูลว่าเป็นการค้นพบสิ่งใหม่แต่เคยเผยแพร่มาแล้วก่อนหน้า) บรรณาธิการควรพิจารณาว่าจะถอดถอนทั้งบทความ หรือให้ดำเนินการชี้แจงว่าประเด็นใดได้มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ และระบุแหล่งที่มาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับจำนวนและข้อความที่ปรากฏซ้ำซ้อน แต่บางกรณีอาจจะพบข้อจำกัด เช่น เป็นข้อมูลที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนนำกลับมาเผยแพร่ซ้ำ

วิธีการสืบค้นบทความที่ถูกถอดถอน

ปัจจุบันมีแฟลตฟอร์มรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถสืบค้นและเข้าถึงสถานะการเปลี่ยนแปลงของบทความ รวมถึงข้อบกพร่องต่างๆ ของบทความเหล่านั้น ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนให้ผู้อ่านพิจารณาความน่าเชื่อถือของบทความ และเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องในการตีพิมพ์บทความของตนต่อไป แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ Philip Davis พบว่า บทความที่ถูกนำไปจัดเก็บในคลังส่วนตัว (Personal Libraries) หรือหน้าเว็ปไซด์ที่ไม่ใช่ของสำนักพิมพ์วารสาร มักจะไม่มีการอัพเดตสถานะการเปลี่ยนแปลงของบทความ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้อ่าน และความถูกต้องของการนำข้อมูลไปใช้ ดังนั้น จึงขอแนะนำให้รู้จักกับวิธีการสืบค้นบทความวิจัยที่ถูกถอดถอน เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนอ่าน อ้างอิงข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้ 

  • Crossmark

ปุ่มกด Crossmark จัดทำขึ้นโดยเครือข่ายของสำนักพิมพ์ที่ร่วมกันจัดทำ Crossref เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกสถานะปัจจุบันของบทความหลังจากตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านทราบว่าเนื้อหาที่อ่านหรืออ้างอิง มีการอัพเดต แก้ไข หรือถูกถอดถอนหรือไม่ ได้ง่ายและรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นในการอ้างอิงเนื้อหาในบทความวิจัยได้

โดยวัตถุประสงค์หลักของ Crossmark แบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. การแจ้งเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย (Minor Change) เช่น การแก้ไขการจัดรูปแบบ การสะกดคำผิด การเพิ่มเติม Supporting Data
  2. การแจ้งเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ (Major Change) เช่น การถอนบทความ การเพิ่ม/ลดจำนวนผู้เขียน

 crossmark

สัญลักษณ์ Crossmark สามารถสั่งให้ฝังอยู่ในบทความวิจัยรูปแบบ PDF ทำให้ผู้อ่านสามารถกดคลิกที่ปุ่ม Crossmark เพื่อค้นหารายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงหลังจากดาวน์โหลดบทความวิจัยฉบับนั้นเก็บไว้ นอกจากนี้ Crossmark ยังสามารถเข้าถึงข้อมูล Metadata ต่างๆ ที่สมาชิกเลือกลงข้อมูลเพิ่มเติมได้ เช่น วันที่ Submit บทความ, วันที่แก้ไขบทความ, วันที่ได้รับการตอบรับตีพิมพ์บทความ, Authors’ ORCID iDs, ชนิดของเนื้อหา, สถานะของการตรวจสอบ Plagiarism, ข้อมูลแหล่งทุน, License ของบทความ, Peer Review

  • Retraction Watch

Retraction Watch เป็นบล็อกที่เป็นแหล่งรวบรวมและรายงานข่าวสารในแง่ลบทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงต่อต้านบล็อกที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติมิชอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2533 โดยก่อตั้งขึ้นภายใต้ The Center for Science Integrity Inc (CSI) (https://retractionwatch.com/the-center-for-scientific-integrity/) เพื่อใช้เป็นแหล่งสื่อสารเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบทางวิทยาศาสตร์และผู้สืบค้นสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงแก้ไขตนเอง นอกจากนี้ Retraction Watch ยังมีการเผยแพร่ตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น Twitter (@RetractionWatch) สามารถเข้าถึงได้ที่ www.retractionwatch.com  

  • The Retraction Watch Retraction Database (Beta)

Retraction Watch Retraction Database (Beta) เปิดตัวในปี 2559 ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำหรับสืบค้นบทความที่ถูกถอดถอน โดยสืบค้นจาก ชื่อผู้นิพนธ์ ชื่อวารสาร DOI เพื่อตรวจสอบสถานะของบทความว่าถูกถอดถอนหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลมาจากบล็อกของ Retraction Watch ตั้งแต่ปี 2559 โดยในปี 2560 มีบทความที่ถอดถอนและรายงานอยู่ใน Retraction Watch Retraction Database (Beta) จำนวนมากกว่า 15,000 บทความ สามารถเข้าถึงได้ที่ http://retractiondatabase.org/

  • Open Retractions

Open Retractions เป็นเว็ปไซด์ร่วมกับ Server ของผู้ให้บริการค้นหาการถอดถอนบทความต่างๆ (Application Programming Interface: API) โดยใช้ Github README เป็นเครื่องมือในการให้บริการติดตามการแจ้งถอดถอนบทความที่มี DOI ซึ่งดึงข้อมูลจากฐานข้อมูล Pubmed API โดยใช้ Bionode-ncbi และ CrossRef API (Crossref-Retractions) จึงเป็นเครื่องมือทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการสืบค้นบทความที่มีการถอดถอนได้ สามารถเข้าถึงได้ที่ http://openretractions.com/

เอกสารอ้างอิง

  • Campos-Varela I., Villaverde-Casta˜neda R., and Ruano-Ravi˜na A. (2019). Retraction of publications: a study of biomedical journals retractingpublications based on impact factor and journal category.
  • Retraction (2019). Committee on Publication Ethics.
  • Teixeira da Silva A. (2017). Why does Retraction Watch continue to offer support to Jeffrey Beall, and legitimize his post-mortem predatory lists?. An International Journal of Pure Communication Inquiry.