Q1: คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้รับทำวิจัย ในการขอขึ้นทะเบียนผู้รับทำวิจัย (ว.พ.01) กับกรมสรรพากร เป็นอย่างไร
A1: 1) มีการระบุวัตถุประสงค์การประกอบกิจการทางด้านธุรกิจวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ไว้อย่างชัดเจนในหนังสือรับรองนิติบุคคล
2) มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ องค์ความรู้ บุคลากรวิจัย เครื่องมือและอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการทางด้านธุรกิจวิจัยฯ
หมายเหตุ
โปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก “ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการยื่นคำขอเป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2559)"
   
Q2: การยื่นขอ ว.พ.01 ของผู้รับทำวิจัย มีโอกาสที่จะไม่ได้รับการอนุมัติจากกรมสรรพากรหรือไม่
A2: มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม ผู้รับทำวิจัยฯ ที่จะยื่นขอ ว.พ.01 ควรมีการกรอกข้อมูลในแบบคำขอ ว.พ.01 และเตรียมเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน

หมายเหตุ :
ดาวน์โหลดแบบคำขอ ว.พ.01ได้ที่
https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/180459dgr006.pdf

   
Q1: การขอรับรองโครงการเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ภาษี 200%  มีกรอบระยะเวลากำหนด และมีการกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายสูงสุดของโครงการหรือไม่
A1: การขอรับรองโครงการเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ภาษี 200% ตาม พ.ร.ฎ.598 ไม่มีกรอบระยะเวลากำหนด และไม่มีการกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายสูงสุด
   
Q2: ผู้ว่าจ้าง หรือ ผู้รับทำวิจัยที่จะเป็นผู้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการยื่นโครงการเพื่อขอการรับรองจาก สวทช.
A2: ผู้ที่จะได้สิทธิประโยชน์ในมาตรการนี้ จะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผู้ว่าจ้าง) ให้กับผู้รับทำวิจัยที่มีการยื่นแบบคำขอ ว.พ.01 หรือได้รับการประกาศรายชื่อให้เป็นผู้รับทำการวิจัยฯ แล้ว
   
Q3: วิธีการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบ Pre-approval กับแบบ Self-Declaration มีความแตกต่างกันอย่างไร 
A3:

การขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบ Pre-approval
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการทำวิจัยโดยผู้รับทำวิจัย ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของตนเองหรือว่าจ้างหน่วยงานอื่น ๆ ที่มี ว.พ.01 (ขี้นทะเบียนกับกรมสรรพากร)
- ยื่นขอรับรอง “โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ต่อ สวทช. ผ่านระบบ RDC Online
- ใช้หนังสือรับรองโครงการวิจัยฯ ที่ สวทช.ออกให้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นใช้สิทธิยกเว้นภาษีจากกรมสรรพากร
- ไม่จำกัดมูลค่าโครงการ

การขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบ Self-Declaration
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผ่านการรับรองโครงการวิจัยฯ ด้วยวิธีการ Pre-Approval

- ยื่นขอรับการตรวจประเมิน “ระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” และขึ้นทะเบียนกับ สวทช.
- ใช้ใบรับรองระบบบริหารการวิจัยฯ (อายุ 3 ปี) ที่ สวทช. ออกให้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีจากกรมสรรพากร สำหรับโครงการวิจัยฯ ได้ด้วยตนเอง
- มูลค่าโครงการไม่เกิน 3 ล้านบาท

   
Q4: สวทช. มีมาตรการรักษาความลับของข้อมูลงานวิจัยที่ยื่นขอการรับรอง ไม่ให้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างไร 
A4: ปัจจุบัน สวทช. กำหนดให้ยื่นโครงการเพื่อขอการรับรองผ่านระบบ RDC Online ซึ่งในการเข้าใช้งานระบบ นอกจากจะมีการกรอกข้อมูล Username และ Password แล้ว จะมีการใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) เพื่อเป็นการระบุตัวตนของผู้ใช้งาน สำหรับการล๊อคอินเข้าระบบทุกครั้ง นอกจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการรับรองโครงการวิจัยฯ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการฯ จะมีการลงนามในเอกสารรักษาความลับ (NDA)
   
Q5: การจ้างผู้รับทำวิจัยที่ยังไม่ได้รับประกาศ ว.พ.01 บริษัทเจ้าของโครงการสามารถยื่นโครงการเพื่อขอการรับรองจาก สวทช. ได้หรือไม่ และค่าใช้จ่ายในการวิจัยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้เมื่อใด
A5: 1) การจ้างผู้รับทำวิจัยที่ยังไม่ได้รับประกาศ ว.พ.01 สามารถยื่นโครงการเพื่อขอการรับรองจาก สวทช. ได้ โดยการแนบสำเนาแบบคำขอ ว.พ.01 มาเป็นเอกสารประกอบการพิจารณา
2) บริษัทจะใช้สิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อผู้รับทำวิจัยได้รับประกาศเป็นผู้รับทำวิจัยตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากร โดยค่าใช้จ่ายในการวิจัยที่เกิดขึ้น จะสามารถใช้สิทธิ์ทางภาษี 200% ได้โดยเริ่มนับจากวันที่ทางกรมสรรพากรออกเลขรับในแบบคำขอ ว.พ.01
   
Q6: โครงการที่เป็นการร่วมวิจัยซึ่งมีเจ้าของโครงการมากกว่า 1 ราย จะมีการจัดสรร สิทธิประโยชน์ทางภาษีของรายจ่ายแต่ละเจ้าของโครงการอย่างไร
A6: จัดสรรสิทธิประโยชน์ทางภาษีของรายจ่าย ตามร้อยละของสัดส่วนที่แต่ละเจ้าของโครงการมีส่วนร่วมในโครงการวิจัย
   
Q7: ในกรณีที่บริษัทเจ้าของโครงการมีการทำวิจัยด้วยตนเอง (In-house research) สามารถออกใบกำกับภาษีให้กับหน่วยงานของตนเองได้หรือไม่
A7: กรณีทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับตนเอง ให้ออกใบรับให้กับตนเอง เสมือนเป็นการรับทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับบุคคลอื่น โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำใบกำกับภาษี

หมายเหตุ :
ตัวอย่างใบรับมีข้อความอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งระบุข้อความ “เป็นผู้รับทำการวิจัยฯ ลำดับที่... ของประกาศอธิบดีฯ” และข้อความ “ประเภทของการวิจัย คือ ........”

   
Q8: กรณีบริษัทเจ้าของโครงการได้รับการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์จาก BOI มีข้อจำกัดในการใช้สิทธิประโยชน์มาตรการนี้อย่างไร
A8: ตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 598 ระบุไว้ว่า
มาตรา 6 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจากรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องไม่นำรายจ่ายดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
Q9: โครงการที่ยื่นขอการรับรองจาก สวทช. เพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จหรือไม่
A9: โครงการที่ยื่นขอการรับรองฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งนี้สถานะการดำเนินงานของโครงการที่สามารถยื่นขอการรับรองได้ มีทั้งหมด 3 สถานะ ได้แก่ โครงการแล้วเสร็จ (ไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้สามารถใช้สิทธิ์ได้ทันตามปีภาษี) / โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการ / โครงการยังไม่เริ่มดำเนินการ
Q10: หากไม่สามารถยื่นโครงการเพื่อขอการรับรองจาก สวทช. ได้ทันภายในปีภาษีที่ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น จะสามารถยื่นโครงการเพื่อขอการรับรองย้อนหลังได้หรือไม่
A10: สามารถยื่นโครงการเพื่อขอการรับรองย้อนหลังได้ ทั้งนี้ โครงการที่มีสถานะเสร็จสิ้นแล้ว กำหนดให้เจ้าของโครงการดำเนินการยื่นโครงการ ซึ่งวันที่ยื่นโครงการจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาตามแผนงานโครงการ

หมายเหตุ :
การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะอ้างอิงจากหลักเกณฑ์และแนวปฎิบัติของกรมสรรพากรเป็นสำคัญ

Q11: บริษัทเจ้าของโครงการสามารถใช้สิทธิ์ทางภาษี 200% ล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับการรับรองโครงการจาก สวทช. ได้หรือไม่
A11: ตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 391) ได้ระบุถึง ข้อ 3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ จะต้องยื่นโครงการวิจัยฯ ต่อ สวทช. หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศกำหนด เพื่อตรวจสอบและรับรองโครงการฯ

ดังนั้น บริษัทเจ้าของโครงการควรได้รับการรับรองโครงการจาก สวทช.ก่อน จึงดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ เนื่องจากหากโครงการไม่ได้รับการรับรอง ทางบริษัทจะต้องมีการปรับปรุงบัญชี จึงมีความเสี่ยงเกิดขึ้นหากมีการใช้สิทธิ์ทางภาษีก่อน

Q12: โครงการที่ยื่นขอการรับรองจาก สวทช. มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะไม่ได้รับการรับรองเป็นโครงการวิจัยฯ
A12: มีความเป็นไปได้ที่ สวทช. จะพิจารณาไม่รับรองเป็นงานวิจัยฯ เนื่องด้วยโครงการอาจไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการพิจารณารับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้กำหนดไว้