ในโลกการค้าเสรีและสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ การบริการ และกระบวนการผลิตนับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและของประเทศ อันจะนำไปสู่การได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่ยั่งยืน รัฐจึงจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยสนใจและเห็นความสำคัญต่อการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2539 ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (หรือเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริง)

 

และในเวลาต่อมา มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 กำหนดให้มีการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีมีรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาเป็นจำนวน 3 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริง (ยกเว้นภาษี 300%) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562 แต่จะต้องไม่เกินอัตราส่วนของรายได้ของกิจการที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน และประกอบกับประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 391) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559  โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ จะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (วิธีการ Pre-Approval) หรือจะต้องได้รับการตรวจประเมินและรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมและได้รับการขึ้นทะเบียนใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี (วิธี Self-Declaration) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

งานสนับสนุนการวิจัยพัฒนาภาคเอกชน (Private Sector R&D Supporting Section (PSR)) ฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Promotion Division (IPD)) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในการกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนลงทุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยกลไกมาตรการภาษีดังกล่าวข้างต้น อันจะเป็นการช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาคเอกชนและของประเทศ อีกทั้งสามารถสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

 


วีดีโอ : ความรู้เบื้องต้นมาตรการยกเว้นภาษี 200% สำหรับรายจ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม