“เด็กปทุมธานี กับกระถางต้นไม้จาก 3D printing”

“เด็กปทุมธานี กับกระถางต้นไม้จาก 3D printing”

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ดำเนินงานภายใต้โครงการการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิโรงปูนผู้หนึ่ง จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การออกแบบชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยนศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนวัดตะวันเรือง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร กิจกรรมประกอบไปด้วย

    

กิจกรรมบรรยาย เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติและนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดจากเครื่องพิมพ์สามมิติ : เด็กๆ ได้ทำความรู้จักกับเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) หลักการการทำงานของเครื่อง ชนิดและประเภทของเส้นพลาสติกที่เหมาะสมกับงานพิมพ์ประเภทต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์สามมิติที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายสาขา เช่น การแพทย์ สถาปัตยกรรม งานศิลปะ เป็นต้น วิทยากรโดย นายปิยะกัลป์ ศรีเมือง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สถาบันศึกษาทางไกล

 

กิจกรรม Design Thinking ชิ้นงานสามมิติเพื่อเพิ่มจุดเด่นและเพิ่มมูลค่าชิ้นงานกระถางพืชอวบน้ำ :
ก่อนที่เด็กๆ จะได้ลงมือปฏิบัติเขียนโปรแกรมออกแบบกระถางต้นไม้สำหรับพืชอวบน้ำ (Succulent) นั้น เด็กๆ จะได้ทำความรู้จักกับพืชอวบน้ำ (Succulent) พืชในวงศ์กระบองเพชร (Cactaceae) ซึ่งเป็นพืชที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน โดยเด็กๆ จะได้เรียนรู้ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต เพื่อนำความรู้เหล่านี้ไปประกอบการออกแบบชิ้นงานกระถางให้สามารถปลูกไม้อวบน้ำให้เจริญเติบโตได้ และมีความแปลกใหม่ต่างจากที่มีขายอยู่ในท้องตลาด หรือนำไปเป็นของขวัญ ของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้ถึงนี้ได้ วิทยากรโดย นางสาวนฤมล สุขเกษม นักวิชาการ ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช.

 

กิจกรรมฝึกปฏิบัติการ ออกแบบชิ้นงานสามมิติด้วยโปรแกรม Tinkercad : เด็กๆ จะได้ลงมือปฏิบัติเขียนโปรแกรมออกแบบกระถางออก โดยเริ่มจากทำความรู้จักกับโปรแกรม Tinkercad (สามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ https://www.tinkercad.com) ซึ่งเป็นโปรแกรมออกแบบที่ทำงานบน Web Browser ทำให้ลดขั้นตอนในการดาวน์โหลดและติดตั้ง โปรแกรมถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย เหมาะกับเด็ก หรือผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการออกแบบงานสามมิติมาก่อน บนโปรแกรมมีเครื่องมือที่หลากหลายให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และทดลองใช้เพื่อออกแบบชิ้นงานที่มีลักษณะเฉพาะตามที่ได้วางแผนไว้ นอกจากนี้ เด็กๆ ยังได้ออกแบบชิ้นงานป้ายชื่อ และทดลองใช้ปากกา 3 มิติสร้างสรรค์ชิ้นงานอีกด้วย วิทยากรโดย นางสาววสุ ทัพพะรังสี นักวิชาการ ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช.

 

 

   

การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งจะได้รับทั้งความรู้ ความสนุก และประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกทักษะลงมือปฏิบัติออกแบบและสร้างชิ้นงานจากเครื่องพิมพ์สามมิติ อันจะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน เกิดการพัฒนานวัตกรรมได้ต่อไปในอนาคต

รูปภาพเพิ่มเติม คลิก 

Post Views: 430