magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก เทคนิคพิชิต “มอด” หนุนเกษตรกรผลิตกาแฟอินทรีย์ยั่งยืน
formats

เทคนิคพิชิต “มอด” หนุนเกษตรกรผลิตกาแฟอินทรีย์ยั่งยืน

ปัญหามอดกาแฟในไร่กาแฟอราบิก้า กำลังจะหมดไป เมื่อวิทยาศาสตร์เข้าไปถึง

วัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรในภาคเหนือขยับขยายพื้นที่ปลูกเมล็ดกาแฟพันธุ์ดี ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะกาแฟอราบิก้า ที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเกิดการระบาดของ “มอดกาแฟ” แมลงศัตรูพืชตัวฉกาจ ที่เข้าเจาะทะลายเมล็ดกาแฟ สร้างความเสียหายให้กับผลผลิต จากการแพร่กระจายของเชื้อราและแบคทีเรีย
ปัญหาดังกล่าวทำให้ปริมาณผลผลิตกาแฟลดลง ถึง 30% อีกทั้งเมล็ดกาแฟที่เก็บเกี่ยวได้ กลายเป็นกาแฟคุณภาพต่ำ เนื่องจากรสชาติเปลี่ยน เมล็ดกาแฟที่ถูกมอดเจาะไม่สามารถนำมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ได้ จึงเป็นที่มาของการวิจัยและพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชที่ระบาดไร่กาแฟอย่างจริงจัง

ชวลิต กอสัมพันธ์ นักวิชาการเกษตร จากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า มอดกาแฟ สร้างปัญหาให้กับไร่กาแฟทั่วโลก ซึ่งในระบบเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศจะใช้วิธีการเก็บผลแห้งค้างต้นออกจากแปลงทั้งหมด เพื่อตัดวงจรการระบาด และใช้เชื้อราฉีดพ่น เสริมกับกับดักที่ใช้ล่อแมลงให้มาติดกับ ซึ่งตัวเขาเองมองว่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ จึงได้เดินหน้าคิดค้นสารล่อแมลง สูตรเฉพาะสำหรับมอดกาแฟขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ

งานวิจัยที่เขาทำ เน้นการสร้างความรู้ตลอดจนเทคโนโลยีในการทำกับดักและสารล่อมอด เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยเน้นไปที่การกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอราบิก้าแบบผสมผสานเพื่อการผลิตกาแฟอินทรีย์ เนื่องจากผลจากการเข้าทำลายของมอดกาแฟ ทำให้เกษตรกรในภาคเหนือหันมาใช้สารเคมีฉีดพ่นเพื่อแก้ปัญหาแทน

“การใช้สารเคมี ถือเป็นการล้มล้างแนวทางการทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่ชาวสวนกาแฟตั้งใจเดินหน้ามาตั้นแต่ช่วงต้น” นักวิจัยกล่าว และย้ำว่า การใช้สารเคมีกำจัดมอดกาแฟ อาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก เพราะนอกจากจะต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากแล้ว ผลของการใช้สารเคมียังไม่สามารถปราบมอดกาแฟได้อย่างถาวร เนื่องจากมอดกาแฟจะเข้าไปอาศัยอยู่ในผลกาแฟ ทำให้การฉีดพ่นสารเคมีใช้ไม่ได้ผลเหมือนกับแมลงศัตรูพืชชนิดอื่น

เขาบอกว่า ความสำเร็จจากการนำสารในกลุ่มแอลกอฮอล์มาผสม และพัฒนาสูตรให้มีกลิ่นหอมของกาแฟ สามารถใช้เป็นสารล่อให้แมลงเข้าไปติดกับ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชได้โดยไม่ต้องอาศัยสารเคมี สนับสนุนแนวทางของการทำเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนจากการใช้ยาฆ่าแมลงเป็นการใช้สารล่อแมลงให้เข้าไปติดในกับดักแทน

ข้อดีคือเทคนิคนี้ เกษตรกรสามารถทำได้เอง โดยใช้ต้นทุนไม่มากนัก โดยนำขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วมาเจาะรูที่ข้างขวด เพื่อให้แมลงบินผ่านเข้าไปได้ โดยก้นขวดได้เติมสารล่อแมลงที่คิดค้นขึ้นผสมกับสารลดแรงตึงผิวทำให้แมลงที่ตกลงไปที่ก้นขวดไม่สามารถบินหนีออกไปได้

“ผลจากการเก็บข้อมูลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า เทคนิคนี้สามารถลดความเสียหายจากการเจาะทำลายของมอดกาแฟให้เหลือเพียง 10% และถ้ามีการใช้อย่างต่อเนื่องจะสามารถลดผลกระทบจากแมลงศัตรูพืชได้มากขึ้น” เขาให้ข้อมูล

ทั้งนี้ เทคนิคดังกล่าวสามารถใช้ร่วมกับการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ อาทิ การใช้ราแมลง หรือสารสกัดจากพืช ฉีดพ่นในแปลง ซึ่งให้ผลในการกำจัดมอดกาแฟได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบของการใช้สารเคมีทางการเกษตร เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกกาแฟส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ซึ่งการปนเปื้อนของสารเคมีจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ ช่วยให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในการปลูกพืชตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ที่สร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยโครงการวิจัยดังกล่าวได้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการทำกับดักและสารล่อมอดให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในหลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดตาก ตลอดจนทำโครงการขยายผลในพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์ดีของประเทศอีกด้วย

รายการอ้างอิง :

เทคนิคพิชิต “มอด” หนุนเกษตรกรผลิตกาแฟอินทรีย์ยั่งยืน. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 1 ธันวาคม 2555.– ( 544 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− three = 5

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>