magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home S&T Stories กลิ่นสีขาว (Olfactory white)
formats

กลิ่นสีขาว (Olfactory white)

ระบบสัมผัสของมนุษย์นั้นมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เราเรียกกันว่าสัมผัสทั้งห้า ซึ่งปัจจุบันไม่ว่าการมองเห็น หรือการได้ยิน ล้วนแล้วแต่มีจุดๆ หนึ่งที่เราไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นแสงสีอะไร หรือเป็นเสียงอะไร ซึ่งทางนักวิทยาศาสตร์จะเรียกสิ่งนั้นว่า white ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการมองเห็น สายตาคนเราสามารถมองเห็นสีต่างๆ ได้มากมาย แต่ทำไมเราถึงมองเห็นแสงเป็นสีขาว ไม่ใช่ว่าแสงนั้นเป็นสีขาว แต่เป็นเพราะว่าในแสงนั้นมีสีอยู่มาก (7 สี) แต่สีเหล่านั้นมีความเข้มข้นเท่ากัน ทำให้สมองไม่สามารถประมวลผลได้ว่าเป็นสีอะไร นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกสีนี้ว่า “white light” เช่นเดียวกับการได้ยินเสียง เมื่อเราได้ยินเสียงต่างๆ มากๆ หลายๆ เสียง หลายๆ ความถี่ ในเวลาเดียวกัน ด้วยความดังที่เท่าๆ กัน สมองจะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเสียงอะไร เราก็จะได้ยินเป็นเสียงอื้ออึง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกเสียงนี้ว่า “white noise” จากการที่มี white light และ white noise แล้ว นักวิทยาศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า ในแง่ของการได้กลิ่นก็น่าจะมี olfactory white เช่นเดียวกัน


นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมีความเข้าใจในประสาทสัมผัสต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างดี ยกเว้น สัมผัสทางด้านกลิ่น ซึ่งเราเพิ่งจะเริ่มศึกษา และพัฒนาความเข้าใจพื้นฐานการทำงานของมัน เมื่อไม่นานมานี้เอง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า เราไม่ค่อยเห็นความสำคัญของมัน ทั้งๆ ที่ความสุขในชีวิตของมนุษย์เรา ในเรื่องการรับประทานอาหารนั้น ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ของจมูก เพราะลิ้นที่รับรสนั้นบอกได้แต่เพียง หวาน เปรี้ยว ขม เค็ม เท่านั้น แต่จมูกต่างหากที่บอกว่าข้าวหน้าเป็ด ต่างจากข้าวมันไก่อย่างไร อร่อยหรือว่าไม่ได้เรื่อง สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆนั้น การทำหน้าที่รับกลิ่นของจมูก หรือ ระบบสัมผัสไอโมเลกุล มีความสำคัญต่อการอยู่รอดเผ่าพันธุ์ของมันเลยทีเดียว

การตอบสนองต่อกลิ่นเพียงเล็กน้อยนั้นต้องใช้ตัวรับสัญญาณชีวเคมีนับร้อยๆ ชนิด การที่จมูกของมนุษย์สามารถรับกลิ่นที่แตกต่างกันได้เป็นพันๆ ชนิด แต่ไม่สามารถแยกว่าในกลิ่นเหล่านั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบอะไรได้ Noam Sobel นักประสาทวิทยาจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เบซมานน์ อิสราเอล จึงคิดว่าน่าจะเกิดเป็นกรณีเดียวกับการได้ยินเสียงคือ ถ้าคุณเล่นเสียงที่มีความถี่ต่างๆ กันในเวลาเดียวกัน เสียงเหล่านั้นจะรวมกันเป็นเสียงที่เป็นกลางเพียงเสียงเดียว เรียกว่า “white noise” ในทางเดียวกัน ดังนั้น ถ้าเราสร้างกลิ่นที่เลียนแบบเหมือนกับกลิ่นตามธรรมชาติขึ้นมาในสภาวะที่เหมาะสมก็น่าจะเกิดปรากฎการณ์ olfactory white หรือกลิ่นสีขาว เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะพบในธรรมชาติได้ยาก ซึ่งถ้าสามารถพิสูจน์ได้ก็น่าจะมีประโยชน์ต่องานวิจัยในอนาคต

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยได้เลือกโมเลกุลมาทั้งหมด 86 ชนิด ทีมีความหลากหลายของคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างโมเลกุล น้ำหนักโมเลกุล หรือความสามารถในการระเหยที่ต่างกัน ซึ่งครอบคลุมต่อการกระตุ้นระบบประสาทรับกลิ่น สารเหล่านี้จะถูกประเมินจากความสามารถในการรับรู้ เช่น ความพึงพอใจ ว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” หรือ “กินได้” “มีพิษ” โดยนักวิจัยจะทำการเจือจางสารเคมีเหล่านั้นเสียก่อนเพื่อให้สารทั้ง 86 ชนิด มีความรุนแรงของกลิ่นเท่าเทียมกัน หลังจากนั้นนักวิจัยก็จะสร้างกลิ่นขึ้นมาใหม่โดยการหยดแต่ละกลิ่นแยกกันบนแผ่นดูดซับที่อยู่ในโถ การใช้เทคนิคนี้เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกลิ่นจนกลายเป็นกลิ่นใหม่นั่นเอง กลิ่นที่ผสมกันนี้จะมีตั้งแต่ 1 ชนิด จนถึง 43 ชนิด

การทดลองนี้จึงสนับสนุนทฤษฎีการทำงานของระบบการรับรู้กลิ่นของมนุษย์ว่าเป็นความจริงอย่างที่เราเข้าใจกัน กล่าวคือ ถ้าคุณกระตุ้นประสาทการรับกลิ่นด้วยกลิ่นที่มีความเข้มข้นของกลิ่นเท่ากันหมด และโดยกลิ่นเหล่านั้นครอบคลุมการกระตุ้นระบบประสาทรับกลิ่นเป็นวงกว้าง สมองจะไม่สามารถระบุลักษณะหรือระบุชนิดของกลิ่นนั้นได้ว่าเป็นกลิ่นอะไร แต่ถ้าในกลิ่นดังกล่าวมีกลิ่นใดกลิ่นหนึ่งที่มีความเข้มข้นมากเป็นพิเศษ สมองถึงจะสามารถระบุชนิดของกลิ่นนั้นๆ ได้

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://news.sciencemag.org/sciencenow/2012/11/it-just-smells.html?ref=hp

อ้างอิงจาก :

 Hippofat. ยืนยันแล้ว!!!!! กลิ่นสีขาว (Olfactory white) มีจริง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.vcharkarn.com/varticle/44228. (วันที่ค้นข้อมูล 4 ธันวาคม 2555).

 – ( 131 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


seven − = 3

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>