magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home NSTDA การส่งเสริมงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
formats

การส่งเสริมงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การส่งเสริมงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Boosting R&D to Support Green Growth Policy of Thailand) หัวข้อหนึ่งในงานประชุมวิชาการประจำปี 2557 สวทช. ซึ่งในปีนี้จัดภายใต้หัวข้อ เรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : พลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (S & T : Driving Force for Sustainable Development) ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2557 โดยหัวข้อ ดังกล่าว กำหนดขึ้นในวันพุธที่ 2 เมษายน 2557 ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายท่าน ได้แก่ Dr. Stefanos Fotiou (UNEP Asia-Pacific Regional Office) มาบรรยายในหัวข้อเรื่อง International Policy and Action on “Sustainable Procurement” (in 10 Years) ดร. วิจารย์ สิมาฉายา (รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) บรรยายในหัวข้อ เรื่อง แผนส่งเสริมและการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศ และ ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล (ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) บรรยายถึง สวทช. กับงานวิจัยเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ยังมีวิทยากรท่านอื่นๆ อีก 2 ท่าน คือ คุณ ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ (ที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย) และ คุณพรรรัตน์ เพชรภักดี (ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) และผู้ดำเนินการรายการ  คือ ดร. ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ (ประธานคลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สวทช.)

ในส่วนของ Dr. Stefanos Fotiou พูดถึงงานของ UNEP ที่มีบทบาทหรือส่วนผลักดันในด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (SPP- Suatianable Pubilc Proceurement) เนื่องจากเป็นกระบวนการที่องค์กรจัดหาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองการทำงานและการใช้ประโยชน์ต่างๆ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่่งการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น เกี่ยวกับใน 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ (ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน เช่น การจัดซื้อ การบำรุงรักษา การดำเนินการ การจัดการขยะ เป็นต้น) ปัจจัยทางสังคม (รวมถึง ความยุติธรรม ความเสมอภาค ความปลอดภัย และความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และสภาพการจ้างงาน) และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการปล่อยสู่อากาศ ที่ดิน และน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการขาดแคลนน้ำ) งานของ UNEP จึงผลักดันในเรื่องของ SPP ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ มีโครงการ Sustainable Public Procurement Initiative (SPPI) เพื่อเป็นการรวมตัวของผู้แทนจากภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคเอกชนที่สนใจในการสนับสนุนการใช้และความต้องการของสินค้าอย่างยั่งยืนผ่านการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (SPP)นอกจากนี้ ยังมี ASEAN+3 GPPEL Project และโครงการที่สำคัญอื่นๆ อีกได้แก่ Green Purchasing Network, International Institute on Sustainable Development, Institute of Global Environmental Studies และ SCP 4LCE project

ส่วน ดร. วิจารย์ สิมาฉายา (รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) บรรยายในหัวข้อ เรื่อง แผนส่งเสริมและการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศ สรุปความได้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดจากประชาคมโลก ได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม Rio+20 เมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยให้คำมั่นว่าจะส่งเสริม: การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development : SD)  และแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ขั้นตอนการพัฒนาเศรษฐกิจ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความหมาย การเติบโตสีเขียว (Green Growth) ไว้ว่า “การพัฒนาที่มุ่งไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่กิจกรรมภายใต้แนวทางการพัฒนาดังกล่าวมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และสูญเสียความสมดุลในการที่จะค้ำจุนการดำรงชีพและสนับสนุนวิถีการดำเนินชีวิตของประชากรในทุกสาขาการผลิต” ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผน 11 โดยแท้จริงแล้ว การพัฒนาที่ยั่งยืน เกี่ยวข้องกันในทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ในประเทศไทยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน

จากความหมาย การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในบริบทของประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผนวกับแนวคิด ในเรื่อง
1. แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2555-2559) โดยนำเรื่อง Green Economy/Green Growth มาเป็นแนวทางในการกำหนดกรอบแนวคิดและทิศทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
2. Country Stratey ทั้ง 4 ด้าน ได้แก้ Growth & Competitiveness, Inclusive Growth, Green Growth และ Internal Process
3. การประชุม Rio+20 ใน 2 ประเด็นคือ เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน และ กรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
4. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผน 11 ในด้านการพัฒนาคนและสังคมไทยสู่สังคมคุณภาพ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ทิศทางการเจริญเติบโตในรูปแบบใหม่ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
5. แผนอื่นๆ ได้แก่ แผนจัดการมลพิษ แผนพลังงาน แผน Climate change แผนภัยพิบัติแห่งชาติ ฯลฯ

ได้ออกร่างยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมฯ ประกอบด้วย
1. การส่งเสริมการผลิตและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. การส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. การบริหารจัดการทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. การสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยใช้ กลไกของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2556

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2551 เห็นชอบกับแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐปี 2551-2554 โดย

1. การขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐระดับกรมเข้าร่วมดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ เช่น การจัดสัมมนาและนิทรรศการให้หน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การให้รางวัลหน่วยงานภาครัฐที่มีผลงานดีเด่นในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดทำมุมจำหน่ายสินค้าสีเขียวร่วมกับห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
3. จัดทำเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม จำนวน 5 รายการ ได้แก่ รถยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการรถยนต์ (เปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น) ภายใต้กลไกการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของรัฐ
4. การวิจัยเชิงนโยบายและประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายจัดซื้อสีเขียวของภาครัฐ จากการดำเนินงานตามร่างแผนส่งเสริมการจัดซื้อจ้ดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ปี 2551-2554

ในส่วนของการดำเนินการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ปี พ.ศ. 2556-2559 มีดังนี้

1. การหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- กรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือเวียนถึงหน่วยงานภาครัฐ เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ
- สนับสนุนให้ส่วนราชการภายใต้บังคับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในส่วนของสินค้าฉลากเขียวตามคู่มือการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ
- กรมบัญชีกลาง จะเสนอประเด็นการให้สิทธิทางด้านราคาเข้าคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เพื่อผู้ให้การรับรองฉลากเขียว ได้แก่ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ขอใบรับรองจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงานตามมาตรฐานสากล (National Accereditation Council – NAC) และ ร่างแผนส่งเสริมฯ ปี 2556-2559 ที่ คพ. ดำเนินการได้รับการเห็นชอบจาก ครม. เรียบร้อยแล้ว
2. การดำเนินการวิจัยร่วมกับ สวทช. ร่วมกับฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการตลาดต่อประเทศไทย และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเพิ่มประเภทสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขยายการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม
3. การหารือร่วมกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนส่งเสริมฯ ปี พ.ศ. 2556-2559 ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. จัดทำหนังสือ Eco Product Directory 2013 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ปรับปรุงคู่มือการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ประกอบด้วย 3 เล่ม ได้แก่ เล่มที่ 1 วิธีปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เล่มที่ 2 เกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เล่มที่ 3 รายการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
5. ประสานความร่วมมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคต่างๆ ให้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ

ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ได้นำเสนอบทบาทของ สวทช. กับงานวิจัยเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ สวทช. กับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในองค์กร (Green NSTDA) ใน สวทช. มีคลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 3 โปรแกรมวิจัย ได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ประสิทธิภาพทรัพยากรและพลังงาน และ พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานใหม่

โปรแกรมสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เน้นสนับสนุนงานวิจัย ที่ตอบโจทย์ความท้าทาย 3 ด้านของประเทศ ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน การเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในประเด็นการค้ากับสิ่งแวดล้อม มีการยกตัวอย่างของการศึกษาวิจัย ได้แก่

การใช้ประโยชน์ LCI/LCA เพื่อความยั่งยืนและการเติบโตสีเขียว โดยมีพื้นฐานจากฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัตถุดิบ เพื่อขยายผลในการจัดทำฟุตพริ้นต์ด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และองค์กร การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียว การประเมินความยั่งยืน  ประเด็นเชิงนโยบาย การจัดทำฟุตพริ้นต์ด้านน้ำและฟุตพริ้นต์สิ่งแวดล้อม

ในการทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ มีบริษัทร่วมโครงการ 16 บริษัท และมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง 23 ผลิตภัณฑ์ ในปี พ.ศ. 2552 นับเป็นประเทศแรกในอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย

สำหรับโครงการวิจัยเชิงนโยบายและประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย แบ่งเป็นการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการจัดซื้อจัดจ้าง ปี 51-54 การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ใช้เทคนิค LCA/LCC) การประเมินผลกระทบต่อตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในระดับประเทศ และระดับองค์กร (สวทช.)

ผลิตภัณฑ์ในการประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 14 รายการสินค้า (ได้แก่ ตลับหมึก กระดาษ เครื่องพิมพ์ กระดาษชำระ เครื่องถ่ายเอกสาร แฟ้มเอกสาร ซองบรรจุภัณฑ์ เครื่องเรือนเหล็ก ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด กล่องใส่เอกสาร หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่ปฐมภูมิ สีทาอาคาร และ ปากกาไวด์บอร์ด) และ 3 บริการ  (ได้แก่ บริการทำความสะอาด บริการเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร และ บริการโรงแรม) โดยการเลือกกลุ่มสินค้าและบริการที่อยู่เป้าหมายและแผนการจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากนั้นคำนวณมูลค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ลดลงเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป (ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์)

ในส่วนของ สวทช. นั้น มีกิจกรรม Green NSTDA “ลดภาวะโลกร้อน” มีการจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรม Recycle กระดาษช่วยคนตาบอด  การคัดแยกขยะ  การเก็บรวบรวมขยะอันตราย  การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมารดต้นไม้ โครงการปุ๋ยหมักใบไม้ โครงการใช้บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยใส่อาหารแทนกล่องโฟม โครงการลดการใช้กระดาษในการประชุม เป็นต้น– ( 244 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− one = 1

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>