เปลี่ยนชื่อจาก TIAC เป็น STKS

เปลี่ยนชื่อจากศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (Technical Information Access Center : TIAC) เป็นศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Knowledge Services : STKS)

STKS หน่วยงานระดับฝ่าย สังกัดสำนักงานกลาง สวทช. โดยมีที่ตั้งที่ ชั้น 2 อาคารสำนักงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120

และในปี 2551 เปลี่ยนชื่อจากศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นการสร้างสรรค์และการบริการความรู้แบบเปิด การขยายเครือข่ายจัดการความรู้ดิจิทัล และสารสนเทศวิเคราะห์ แผนที่ความรู้ แผนที่สิทธิบัตร ทั้งนี้ยังคงใช้ชื่อเต็มและชื่อย่อภาษาอังกฤษตามเดิม คือ Science and Technology Knowledge Services (STKS) เป็นหน่วยงานระดับฝ่าย สังกัดสำนักงานกลาง สวทช. ตามเดิม

จัดทำสารสนเทศวิเคราะห์ แผนที่ความรู้ และแผนที่สิทธิบัตร

กิจกรรมสารสนเทศวิเคราะห์เป็นกิจกรรมที่จัดทำเพื่อการติดตาม ตรวจสอบข้อมูลสารสนเทศวิชาการ เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพและแนวโน้มของงานวิจัยระดับนานาชาติ ถือเป็นขั้นตอนแรกสุดของการวิจัย การนำเครื่องมือหรือเทคนิคเหมืองข้อมูล (Data mining) ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงวิชาการเหล่านี้ จะทำให้เห็นภาพรวมด้วยการนำเสนอในรูปแบบของภาพ แผนภูมิ กราฟ หรือแผนที่ ทั้งนี้ STKS ได้ทำเทคนิคดังกล่าวมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอในรูปแบบสารสนเทศใหม่ที่เรียกว่าแผนที่ความรู้ (Knowledge Mapping) และแผนที่สิทธิบัตร (Patent Mapping) เพื่อสนับสนุนข้อมูลในการตัดสินใจแก่เจ้าของทุนวิจัย นักวิจัย ในการวิจัยต่อยอดต่อไป โดยแหล่งข้อมูลในการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากแหล่งฐานข้อมูลวิชาการออนไลน์ต่างประเทศที่ สวทช. บอกรับและให้บริการ

ดำเนินการบอกรับฐานข้อมูลวิชาการออนไลน์ต่างประเทศ

ดำเนินการบอกรับฐานข้อมูลวิชาการออนไลน์ต่างประเทศ เพื่อบริการวิชาการ สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา สวทช.

โดยเป็นฐานข้อมูลออนไลน์เชิงพาณิชย์ และเครื่องมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ Research Publication, Patent Document, Global Market Information และ Analytics Tool รวม 11 ฐานข้อมูล

กลุ่มที่ 1 Research Publication ได้แก่ ฐานข้อมูล ScienceDirect, Sopus, Web of Science, SpringerLink, ACS Publications และ IEEE (Proceedings)

กลุ่มที่ 2 Patent Document ได้แก่ ฐานข้อมูล Orbit Intelligence

กลุ่มที่ 3 Global Market Information ได้แก่ ฐานข้อมูล Orbit Insight, Mintel และ Business Online (BOL)

กลุ่มที่ 4 Analytics Tool ได้แก่ ฐานข้อมูล SciVal

 

 

 

ดำเนินการศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Knowledge Center : STKC)

ดำเนินการศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Knowledge Center : STKC) ซึ่งเป็นเว็บไซต์กลางที่ในระบบ ประกอบด้วย “ห้องสมุดเสมือน” บริการสืบค้นความรู้จากห้องสมุดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกแห่งในเครือข่าย STKC เสมือนสืบค้นจากห้องสมุดเดียวกัน

สืบค้นหนังสือและวารสารทั้งอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ที่ต้องการ จากฐานข้อมูลวิชาการพร้อมบริการเอกสารฉบับเต็ม ที่มีในประเทศและจากทั่วโลก

“พิพิธภัณฑ์เสมือน” (Virtual Museum) แหล่งรวบรวมความรู้ในลักษณะของ Virtual Reality อย่างเป็นระบบในประเทศไทย

“คลังความรู้” (S&T Portal) STKC เสนอรูปแบบใหม่สำหรับเข้าถึงสารสนเทศวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีโดยคนไทย จัดหมวดวิชาตามมาตรฐานสากลเพื่อให้เลือกดูได้ตามความสนใจ และสืบค้นด้วยโปรแกรมง่ายๆ ผู้ใช้จะได้รับความรู้เรื่องเต็มจากหน้าเว็บที่คัดเลือกจากผลงานที่สร้างสรรค์ โดยนักวิทยาศาสตร์ไทย ทุกหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“เรียนออนไลน์” (e-Learning) เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในลักษณะของ Virtual Reality อย่างเป็นระบบ

โครงการ JournalLink

บริหารจัดการโครงการ Journal link

Journal Link คือ ฐานข้อมูลชี้แหล่งวารสารที่มีอยู่ในห้องสมุดต่าง ๆ ในประเทศไทย เกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ที่ทำให้มีการตัดลดงบประมาณการจัดซื้อวารสาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย และเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ที่ไม่มีแผนรองรับวิกฤติการณ์นี้มาก่อน ทำให้ขาดฐานข้อมูลร่วมที่เป็นดรรชนีชี้แหล่งวารสารที่เป็นปัจจุบัน (Holdings) ทำให้แต่ละห้องสมุดขาดทิศทางที่จะรักษารายชื่อวารสารอันเป็นส่วนรวมไว้ได้ แม้เมื่อแต่ละห้องสมุดได้ตัดรายการวารสารที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ลดลงแล้ว กลับพบว่ารายชื่อวารสารที่คงไว้ในแต่ละห้องสมุดกลับยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่มาก และเลิกรับบางรายการจนกระทั่งไม่มีในห้องสมุดใดในประเทศไทยบอกรับ

ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2541 จึงได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสานงานกับห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา 31 แห่ง และห้องสมุดสังกัดกระทรวงอีก 2 แห่ง แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้างต้นร่วมกัน และแนวทางนั้นได้นำไปสู่โครงการ Journal Link

ข้อมูลตั้งต้นของ Journal Link คือ ข้อมูลวารสารจากโครงการ Union List of Serials in Thailand (UNIO) ของคณะทำงานรวบรวมรายชื่อวารสารในประเทศไทย ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย (ชื่อในขณะนั้น) และสำนักห้องสมุดและบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ในฐานะศูนย์ประสานงานวารสารสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ได้นำข้อมูลวารสารสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากห้องสมุดสมาชิกของศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เข้าในฐานข้อมูล Journal Link หลังจากนั้นบรรณารักษ์แต่ละห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้สมัครเป็นสมาชิกเข้ามาทาง Internet แล้วร่วมมือกันนำเข้าข้อมูลวารสารของห้องสมุดตนเองเข้าสู่ระบบกลาง ซึ่งผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

ปี พ.ศ. 2543 โครงการ Journal Link ได้รับความสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการวิจัยชื่อ “การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างห้องสมุดภายในประเทศ” เพื่อทดสอบและประเมินระบบสนับสนุนการบริการระหว่างห้องสมุด รวมทั้งการจัดการด้านบัญชีค่าบริการในระดับการปฏิบัติงานจริง (ผ่านบัตร PIN) ในระหว่างโครงการวิจัยนี้ Journal Link ได้มีโอกาสร่วมงานกับบรรณารักษ์จาก 35 ห้องสมุด และศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (ศสท. /TIAC สวทช.) และด้วยความพยายามของคณะทำงานนี้ จึงทำให้การบริการระหว่างห้องสมุดสมาชิกผ่าน Journal Link ปรากฏเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ

ปี พ.ศ. 2544 – 2546 Journal Link ได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลชี้แหล่งวารสาร และเป็นศูนย์สนับสนุนการให้บริการอย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือของห้องสมุดสมาชิก และศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (ศสท./ TIAC สวทช.) โดยได้รับความสนับสนุนสถานที่ตั้งสำนักงานกลาง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และงบประมาณวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาในโครงการ “การพัฒนาองค์กรและการจัดซื้อทรัพยากรในรูปภาคีความร่วมมือ”

ปี พ.ศ. 2547 – 2553 สวทช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการ Journal Link เป็นงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ สมควรสนับสนุนให้ดำเนินงานต่อไปเพื่อเป็นแหล่งสารสนเทศสำหรับบริการวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยและต่างประเทศ จึงให้ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (ศสท./ TIAC) เป็นผู้ดูแล จนกระทั่งส่งมอบให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการโครงการ Journal Link ต่อตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา

Journal Link ปัจจุบันมีห้องสมุดเข้าร่วมเป็นสมาชิกทั้งหมด จำนวน 239 แห่ง เข้าถึงข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://www.journallink.or.th/home/

ศูนย์ประสานงาน APIN-Unesco Asia-Pacific Information Network

TIAC ได้ดำเนินการเป็นศูนย์ประสานงาน APIN-Unesco Asia-Pacific Information Network ห้องสมุดเสมือน คลังความรู้ จดหมายเหตุดิจิทัล

บริการที่ปรึกษาและจัดทำฐานข้อมูล

บริการที่ปรึกษาและจัดทำฐานข้อมูล (Consulting and Database Development)

ลักษณะการบริการ
บริการให้คำปรึกษาและจัดทำระบบจัดการฐานข้อมูลแก่หน่วยงานภายนอก

กลุ่มเป้าหมาย
หน่วยงานภายนอกจากภาคราชการและภาคเอกชน

ผลงานที่ผ่านมา
1. ฐานข้อมูลรายงานการประชุมโรงพิมพ์ธนบัตรนานาชาติ ศสท.-โรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พัฒนาฐานข้อมูลรายงานการประชุมโดย scanned image จากเอกสารต้นฉบับบันทึกในแผ่นซีดี-รอม พร้อมบรรณานุกรมสำหรับสืบค้นจากโปรแกรมที่ ศสท.พัฒนา
2. ฐานข้อมูลบรรณานุกรมและบทคัดย่อวารสารของโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 2538 พัฒนาฐานข้อมูลบรรณานุกรมพร้อมบทคัดย่อวารสารต่างประเทศสาขาการพิมพ์ เพื่อใช้ในงานวิจัยและพัฒนาภายในงานของโรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย การสืบค้นใช้โปรแกรมที่ ศสท.พัฒนา
3. ฐานข้อมูลวารสารเสรีภาพ ศสท.-สำนักข่าวสารอเมริกัน พัฒนาฐานข้อมูลซีดี-รอม พร้อมบรรณานุกรม บทคัดย่อและเรื่องเต็ม ปี 2530-2540 สำหรับสืบค้นจากภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากโปรแกรมที่ ศสท. พัฒนา
4. ฐานข้อมูลพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ศสท.- สมาคมภริยาทหารเรือ พัฒนาฐานข้อมูลเอกสารฉบับเต็มพร้อมรูปภาพ สำหรับสืบค้นจากโปรแกรมที่ ศสท.พัฒนา
5. ฐานข้อมูลซีดี-รอมสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ฯ พัฒนาจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เผยแพร่ในรูปหนังสือ นำไปบันทึกต้นฉบับในรูปอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วยเนื้อหาครบ 23 เล่ม พร้อมรูปภาพทั้งหมดที่มีในสารานุกรมฉบับพิมพ์ และมีเสียงประกอบ รวมทั้งสารานุกรมฉบับกาญจนาภิเษก โปรแกรมสืบค้นพัฒนาจาก html และใช้ Internet Browsers สามารถเชื่อมโยงสืบค้นข้อมูลจากโครงการเครือข่ายโรงเรียนไทย (SchoolNet) ทั้งนี้ ฐานข้อมูลซีดี-รอมที่ผลิตสำหรับจำหน่ายคณะอนุกรรมการโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯดำเนินการเอง
6. ฐานข้อมูลเอกสารหายาก ศสท.-สำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินโครงการอนุรักษ์เอกสารมีค่าและจัดทำฐานข้อมูลเอกสารหายาก ได้แก่ หนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับแรก พุทธศักราช 2417 เอกสารจดหมายเหตุหมอบรัดเลย์ และเอกสารจดหมายเหตุอัยยการไทย จัดทำฐานข้อมูลบรรณานุกรม ซีดีรอม พร้อมโปรแกรมระบบสืบค้นข้อมูล เป็นแหล่งค้นคว้า อ้างอิง สำหรับนักกฏหมาย นักวิชาการ นักวิจัย นิสิต/นักศึกษา และบุคคลทั่วไป
7. ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศสท.-ห้องสมุดคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลซีดีรอมวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลปี 2517 – 2540
8. ฐานข้อมูลวารสารภาษา ศสท. ร่วมกับสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลวารสารภาษา ซึ่งเป็นวารสารวิชาการของ สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำบรรณานุกรม บันทึกข้อมูลสำหรับสืบค้นแบบ full-text โดยโปรแกรมที่ ศสท พัฒนา
9. โปรแกรมห้องสมุดวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ศสท.พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับงานห้องสมุดขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้แก่ การทำรายการสืบค้นหนังสือตามทฤษฎีบรรณารักษศาสตร์ สำหรับงานจัดหา งานทะเบียน บริการยืม-คืน

โปรแกรมห้องสมุดขนาดกลางและขนาดเล็ก (SML 1.0)

โปรแกรมห้องสมุดขนาดกลางและขนาดเล็ก (SML 1.0)
Library Software for Small-Medium Size Libraries (SML 1.0)

ที่มาและความสำคัญ
ห้องสมุดขนาดกลางและขนาดเล็กมีความจำเป็นและต้องการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการระบบรายการหนังสือ บริการยืม-คืน งานทะเบียนผู้ใช้บริการ เพื่อให้บรรณารักษ์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปรแกรมห้องสมุดที่มีจำหน่ายในตลาดส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมขนาดใหญ่และเป็นของต่างประเทศ

คุณสมบัติ
โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับงานห้องสมุดขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้แก่ การทำรายการสืบค้นหนังสือตามทฤษฎีบรรณารักษศาสตร์ สำหรับงานจัดหา งานทะเบียน บริการยืม-คืน

กลุ่มเป้าหมายและประโยชน์
วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก ได้รับโปรแกรมจัดการระบบห้องสมุดด้วยคอมพิวเตอร์ ที่สามารถพัฒนาฐานข้อมูลหนังสือ/วารสารที่มีอยู่และที่จะจัดหาเพิ่มเติมต่อไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ห้องสมุดขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถจัดซื้อโปรแกรมจัดการระบบห้องสมุดด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ และผลิตภายในประเทศ ราคาประหยัด โปรแกรมนี้สามารถประยุกต์ใช้สำหรับการจัดเอกสารและงานบริการเอกสารสำหรับหน่วยงาน

คณะผู้ร่วมโครงการ
ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (TIAC) ร่วมกับวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก และภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม

ประเภท
บริการด้านเทคนิค

หัวเรื่องภาษาไทย

หัวเรื่องภาษาไทย (Thai Subject Heading)

TIAC ได้จัดพิมพ์หัวเรื่องภาษาไทยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยสามารถกด Link ตามตัวอักษร ก – ฮ เพื่อเปิดไฟล์ pdf เพื่อใช้ภายใน ศสท./สวทช.

ข้อมูลจากต้นฉบับหัวเรื่องหนังสือภาษาไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 จัดทำโดย คณะทำงานกลุ่มวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา 2538