“ผลผลิตอินทรีย์” เป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจอาหารการกินมากขึ้น แม้ราคาจำหน่ายจะค่อนข้างสูง แต่เพื่อสุขภาพแล้ว ผู้คนไม่น้อยยินดีที่จะจ่าย เมื่อความต้องการ “ผลผลิตอินทรีย์” มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของฟากผู้ผลิตอย่าง “เกษตรกร” ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของอาชีพเกษตรกรให้ดีขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ “คุณภาพของผลผลิตอินทรีย์” ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคได้เพียงใด

“การทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีอุดมการณ์และมีวิชาการ” ผลึกความคิดที่ตกตะกอนจากการเรียนรู้และมุ่งมั่นกับการทำเกษตรอินทรีย์มากว่า 20 ปีของคุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี และอดีตอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ

“อุดมการณ์ คือ ความมุ่งมั่น มีศรัทธาและความเชื่อมั่นในวิชาชีพเกษตรกรของตัวเอง เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ และส่งต่อความรู้ให้ชุมชนได้ วิชาการ คือ เกษตรกรเป็นนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ แต่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการได้ เกษตรกรต้องเรียนรู้”

คุณปิยะทัศน์ ขยายความสิ่งที่เกษตรกรต้องเรียนรู้ ประกอบด้วย

ดิน เพราะดินคือหัวใจของการทำเกษตร เกษตรกรต้องรู้ว่า

  • ในดินมีอนินทรียวัตถุ 45% น้ำ 25% อากาศ 25% อินทรียวัตถุ 5%
  • โครงสร้างชีวกาพ ในดินต้องมีสิ่งมีชีวิต ถ้าไม่มีต้องเติม “ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ใน 1 ตร.ม. ต้องมีไส้เดือน 320 ตัว” – สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ
  • โครงสร้างเคมี คือ ค่า pH ในดิน (ความเป็นกรดด่าง) ดินที่เหมาะสำหรับปลูกพืชต้องมีค่า pH 5.5-6.5
    o ต้องวัดค่า pH ทุกรอบก่อนปลูก ถ้าดินเป็นกรด pH 3 ใส่โดโลไมท์ 400 ก.ก./ไร่ ถ้า pH 4 ใส่โดโลไมต์ 300 ก.ก./ไร่ การทำสวนผักใส่โดโลไมท์ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง ถ้าใส่บ่อย หน้าดินจะเกาะเป็นแผ่น น้ำซึมลงไม่ได้
  • สูตรผสมดินของคุณปิยะทัศน์
    o ดิน 2 ส่วน ปุ๋ยหมัก 2 ส่วน แกลบเก่า 1 ส่วน (ย่อยสลายมาแล้ว ไม่มีความร้อน) แกลบดำ 1 ส่วน
    o แกลบใหม่ยังไม่ย่อยสลาย เวลาย่อยสลายจะดึงในไตรเจนจากดิน จะเกิดการสันดาปและเกิดความร้อนในดิน
    o ถ้ามีงบประมาณใช้ขุยมะพร้าวด้วยได้ เพื่อให้ดินอุ้มน้ำ แต่ไม่ควรใช้ขุยมะพร้าวใหม่เพราะมีสารแทนนิน เป็นพิษต่อรากพืช ต้องนำไปแช่น้ำอย่างน้อย 1 อาทิตย์ หรือตากฝน 2-3 เดือน

น้ำ ทำเกษตรต้องมีน้ำ และมีอย่างเหมาะสมคือ ไม่กร่อยและไม่กระด้าง

พันธุ์พืช เพื่อกำหนดขายให้ได้ราคา กรณีที่ใช้โรงเรือนปลูกผัก ต้องจัดการให้เป็น ถ้าปลูกพืชทั่วไปต้องไปแข่งราคากับคนอื่น การบริหารพันธุ์พืชเพื่อกำหนดราคาขายให้ได้ราคา ปลูกชนิดพืชที่ตลาดไม่ค่อยปลูก

  • หน้าหนาว ปลูกผักกินใบ ผักเจริญเติบโตได้ดี
  • หน้าร้อน ผักทนร้อน
  • หน้าฝน ปลูกผักที่ทนปริมาณน้ำในดินมาก เช่น บวบ มะระจีน ผักกินใบไม่เหมาะ

โรคและแมลงศัตรูพืช

  • เชื้อราสำคัญที่ทำให้เกิดโรคพืช คือ แอนแทรกโนสและฟิวซาเรียม เชื้อราจะกินที่คอดิน เกิดการระบาดที่คอดิน ทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉาตาย
  • ไส้เดือนฝอยมี 2 ประเภท คือ ไส้เดือนฝอยที่เป็นศัตรูพืช ทำให้เกิดโรครากปม และไส้เดือนฝอยที่เป็นสารชีวภัณฑ์ กำจัดแมลงปีกแข็งปีกอ่อน หรือเพลี้ยได้
  • หนอนหลอดหอมใช้ไวรัสเอ็นพีวีกำจัดได้ แต่ราคาสูง ประยุกต์มาใช้บิวเวอเรีย บีที ไส้เดือนฝอย ฉีดคาบเกี่ยวกันและฉีดพร้อมกัน วงจรแมลงจะอยู่ที่ 21 วัน ให้ฉีดทุก 21 วัน โดยฉีดตัดวงจร 3 ครั้ง

การตลาด มองตลาดให้เป็น คิดนอกกรอบ มีทางออกเสมอ
แม้คุณปิยะทัศน์จะเห็นว่าเกษตรกรจำเป็นต้องมีวิชาการ แต่ต้องไม่ยึดหลักการวิทยาศาสตร์ทั้งหมด เกษตรกรต้องรู้จักมาปรับใช้ในแปลง

การมี “ความรู้คู่คุณธรรม” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อบวกกับ “ลงมือทำ” ทำให้เกิดการเรียนรู้และเกิดประสบการณ์ จึงเป็นปัจจัยความสำเร็จการทำเกษตรอินทรีย์ของคุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม อีกหนึ่งต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย

# # #

สรุปความจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การปลูกผักในระบบโรงเรือนและการบริหารจัดการแบบครบวงจร” ณ ศูนย์เรียนรู้การปลูกผักอินทรีย์โดยการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์บ้านโพธิ์ศรีสำราญ ต.หัวนา อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 จัดโดยฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ศวภ.2)

เคล็ดวิชาเกษตรอินทรีย์