ชีวนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา สร้างคุณค่า “หม้อห้อมโบราณ”

ชีวนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา สร้างคุณค่า “หม้อห้อมโบราณ”

“ชีวนวัตกรรมเป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ช่วยต่อยอดภูมิปัญญาการผลิตห้อมตั้งแต่การปลูก ก่อหม้อ การย้อม และได้ผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง” -รศ.ดร.ณัฐพร จันทร์ฉาย- บ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ เป็นแหล่งผลิต “ผ้าหม้อห้อม” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อีกทั้งยังเป็นผ้าพื้นเมืองของชาวแพร่ที่มีอัตลักษณ์ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัด จากวิถีการย้อมห้อมแบบโบราณที่ใช้กิ่งและใบห้อมหมักในหม้อ ใช้เวลาย้อมหลายวันกว่าสีจะติดทนและสวยงาม เมื่อความนิยมผ้าหม้อห้อมมากขึ้น การผลิตให้ทันตามความต้องการตลาดจึงปรับเปลี่ยนมาใช้สีเคมี ต้นทุนถูกลงและใช้เวลาผลิตรวดเร็วกว่า “เราคนรุ่นเก่าก็หันมาใช้เคมีเหมือนกัน แต่พอทำไปสักระยะก็มาคิดว่าวิธีการย้อมห้อมแบบธรรมชาติตามภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสมมา แทบจะไม่หลงเหลือให้เห็น เราต้องกลับมาเป็นผู้อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ ให้ลูกหลานได้เห็น ได้ภูมิใจ” วิภา จักรบุตร รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าย้อมหม้อห้อมโบราณ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นการกลับมาอนุรักษ์การผลิตผ้าหม้อห้อมโบราณ และเป็นที่มาของการรวมกลุ่มสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2561 ในช่วงแรกกลุ่มฯ ซื้อ “ต้นห้อมสด” เพื่อนำมาทำเปอะสำหรับย้อมจากบ้านนาคูหา ต.สวนเขื่อน อ.เมือง