“ถั่วฝักยาว” เป็นหนึ่งในพืชผักต้นๆ ที่ผู้บริโภคกังขาถึงความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ขณะเดียวกันก็เป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่เกษตรกรกุมขมับกับปัญหาของโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรจำนวนไม่น้อยจึงเลือกใช้สารเคมีเพื่อแก้ปัญหา

ภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตรของจังหวัดราชบุรี คณะทำงานโครงการ BCG ปี 25651 ได้เลือก “ถั่วฝักยาว” เป็นพืชผักนำร่องที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตจากระบบเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จึงได้ศึกษาและจัดทำแผนการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช โดยใช้พื้นที่กรณีศึกษาที่ “ฟาร์มฝันแม่ ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี” และ “แปลงผักคุณระเบียบ เพชรแอง ต.ด่านทับตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี”

*ข้อมูลจาก แบบแผนการจัดการศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์แบบผสมผสานของถั่วฝักยาว (Standard Operating Procedure: SOP) ภายใต้โครงการ “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี” คลิกอ่านฉบับเต็ม

1ประกอบด้วย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชำติ (ไบโอเทค) สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี และสำนักงานหอการค้าจังหวัดราชบุรี

“ชีวภัณฑ์” อาวุธคู่ใจทำเกษตรปลอดภัย

“ชีวภัณฑ์” เป็นปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรในระบบการผลิตเกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์นำมาใช้กำจัดหรือควบคุมการระบาดของศัตรูพืช (แมลงศัตรูพืช โรคพืช วัชพืช) เป็นสิ่งมีชีวิตหรือสารสกัดที่ได้จากสิ่งมีชีวิต อาทิ ตัวห้ำ-ตัวเบียน สารจากแมลง สารสกัดจากธรรมชาติ หรือจุลินทรีย์ต่างๆ (เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส) เป็นต้น

ชีวภัณฑ์แต่ละชนิดมีความจำเพาะต่อแมลงเป้าหมายหรือโรคพืชต่างกันและมีกลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม อีกทั้งควรใช้ชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพการจัดการศัตรูพืชและความปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม

ศัตรูพืชใน “ถั่วฝักยาว”

ถั่วฝักยาว เป็นพืชผักที่มีลักษณะเถาเลื้อย อายุสั้น โตเร็ว ปลูกได้ตลอดทั้งปี ดูแลง่าย เก็บฝักได้ตั้งแต่มีอายุ 30-40 วัน และเก็บผลผลิตรอบถัดไปได้อีกทุกๆ 2-4 วัน ต่อเนื่องได้ 20-30 วัน ขึ้นกับสายพันธุ์และการดูแล การปลูกถั่วฝักยาวจะพบโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ตั้งแต่ระยะต้นอ่อน ระยะติดดอก และระยะติดผล

โรคพืชที่พบในถั่วฝักยาว มักเกิดจากเชื้อราและไวรัส มีสาเหตุหลักจากสภาพอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุก ได้แก่ โรคใบไหม้ โรคเน่าเปียก โรคใบจุด โรคราสนิม โรคราเขม่าดำ โรคจากไวรัส โรครากเน่าโคนเน่า ขณะที่แมลงศัตรูพืชที่สำคัญของถั่วฝักยาว ได้แก่ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หนอนชอนใบ หนอนผีเสื้อเจาะฝักถั่ว หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว หนอนม้วนใบ

จากการสำรวจศัตรูพืชของถั่วฝักยาวในจังหวัดราชบุรี ปี พ.ศ. 2565 พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในแต่ละฤดูกาล ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ปฏิทินการระบาดของโรคพืชและแมลงศัตรูพืชของถั่วฝักยาวในปี 2565
ชีวภัณฑ์กับถั่วฝักยาว

ชีวภัณฑ์แต่ละชนิดมีความจำเพาะต่อโรคพืชและแมลงเป้าหมายต่างกัน การใช้ชีวภัณฑ์ในแปลงถั่วฝักยาวจึงต้องใช้แบบผสมผสาน เพื่อจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

• ชีวภัณฑ์สำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ ราบิวเวอเรีย (กำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยชนิดต่างๆ) ราเมตาไรเซียม (จำเพาะกับแมลงกลุ่มไร แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงวันผลไม้และด้วง)

• ชีวภัณฑ์สำหรับกำจัดโรคพืช ได้แก่ ราไตรโคเดอร์มา (ควบคุมและทำลายโรคพืช เช่น โรคเหี่ยว ใบจุด ใบไหม้ แอนแทรคโนส รากเน่าโคนเน่า) แบคทีเรียบีเอ (BA) (ควบคุมแบคทีเรียและเชื้อราสาเหตุของโรคพืช เช่น โรคเหี่ยว โรคเน่ำ โรคทางใบ)

• ชีวภัณฑ์กำจัดหนอนศัตรูพืช ได้แก่ แบคทีเรียบีที (BT) (กำจัดหนอนของแมลงศัตรูพืช) ไวรัสเอ็นพีวี (จำเพาะกับหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอมและหนอนเจาะสมอฝ้าย)

จากการทดสอบแผนการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชของถั่วฝักยาวในพื้นที่กรณีศึกษาจังหวัดราชบุรี สามารถสรุปคำแนะนำการใช้ชีวภัณฑ์ได้ดังภาพที่ 2 ทั้งนี้กรณีใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี ต้องสลับวันฉีด เพื่อป้องกันสารเคมียับยั้งการเจริญของชีวภัณฑ์

ภาพที่ 2 คำแนะนำการใช้ชีวภัณฑ์สำหรับถั่วฝักยาว

การจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืชในถั่วฝักยาวโดยใช้ชีวภัณฑ์สามารถเริ่มได้ตั้งแต่การเตรียมดิน โดยใช้ไตรโคเดอร์มาคลุกกับดิน เพื่อป้องกันและกำจัดโรคในดิน และใช้ในแต่ละระยะการเจริญของต้นถั่วตามปฏิทินการใช้ชีวภัณฑ์ ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ปฏิทินการใช้ชีวภัณฑ์ในแปลงถั่วฝักยาว

วันที่อายุ/ระยะการเจริญของต้นถั่วขั้นตอนการดำเนินงาน
1-7เตรียมหน้าดิน1. ไถหน้าดิน หลังจากนั้นปล่อยหน้าดินทิ้งไว้ 1 สัปดาห์
2. ปรับโครงสร้างดินด้วยปุ๋ยคอก เพิ่มความสมบูรณ์และความร่วนซุย
3. โรยไตรโคเดอร์มาบนหน้าดินแล้วคลุกให้เข้ากับหน้าดิน
8-9ยกร่องและปูวัสดุป้องกันวัชพืช

1. ไถยกร่องปลูก
2. คลุมหน้าดิน
3. ขึ้นค้างถั่ว

10เตรียมหลุมปลูกและหยอดเมล็ด

1. ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมครึ่งช้อนแกง/หลุม และไตรโครเดอร์มา 1 ช้อนแกง/หลุม
2. หยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด รดน้ำให้ชุ่มพอเหมาะ

17ระยะต้นอ่อน 7 วัน

-เมื่อต้นอ่อนมีใบจริง เลือกต้นที่สมบูรณ์ 1-2 ต้น/หลุม ที่เหลือถอนทิ้ง
-เริ่มสังเกตโรค แมลงและวัชพืชที่อาจเกิดขึ้น

25ต้นถั่วอายุ 7 วัน

ฉีดพ่นราบิวเวอเรียและราเมตาไรเซียม หากพบหนอนในแปลงให้ฉีดพ่นชีวภัณฑ์กำจัดหนอนร่วมด้วย

28ต้นถั่วอายุ 18 วัน ระยะทำต้น

-ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบีเอ
-ให้ปุ๋ย

31ต้นถั่วอายุ 21 วัน

ฉีดพ่นราบิวเวอเรียและราเมตาไรเซียม หากพบหนอนในแปลงให้ฉีดพ่นชีวภัณฑ์กำจัดหนอนร่วมด้วย

34ต้นถั่วอายุ 24 วัน

-ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบีเอ
-สังเกตโรค แมลงและวัชพืชที่เกิดขึ้น เพื่อกำจัดออกจากแปลง

37ต้นถั่วอายุ 27 วัน ระยะทำดอก

ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม และให้ฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอก

40ต้นถั่วอายุ 30 วัน ระยะทำดอก

-ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบีเอ
-ให้ปุ๋ย

43ต้นถั่วอายุ 33 วัน ระยะทำดอก

ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม และให้ฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอก

46ต้นถั่วอายุ 36 วัน ระยะติดฝัก

ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม และให้ฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอก

49ต้นถั่วอายุ 39 วัน ระยะติดฝัก

ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม

52ต้นถั่วอายุ 42 วัน เริ่มเก็บผลผลิต

ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบีเอ

55ต้นถั่วอายุ 45 วัน เริ่มเก็บผลผลิต

ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม และให้ฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอก

58ต้นถั่วอายุ 48 วัน เริ่มเก็บผลผลิต

ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียบีเอ ให้ปุ๋ยและฮอร์โมนบำรุงต้นและดอก

61ต้นถั่วอายุ 51 วัน เก็บผลผลิต

ฉีดพ่นราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม

64ต้นถั่วอายุ 54 วัน เก็บผลผลิต

ฉีดพ่นราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียบีเอ ให้ปุ๋ยและฮอร์โมนบำรุงต้นและดอก

ทยอยเก็บผลผลิตทุก 2-4 วัน ไม่ปล่อยให้ฝักแก่คาต้น เก็บผลผลิตได้อีก 10-20 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการดูแล

หมายเหตุ

  • กรณีพบโรคพืชและแมลงศัตรูพืชระบาดรุนแรง ควรปรับการฉีดพ่นจาก 3-5 วัน เป็นวันเว้นวัน จนกว่าการระบาดจะกลับสู่ภาวะปกติ
  • ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต อาจลดความถี่การฉีดชีวภัณฑ์ เน้นให้ปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อบำรุงต้นและดอกทุก 7-10 วัน จนต้นถั่วฝักยาวไม่สามารถให้ผลผลิตได้แล้ว
  • แปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี สามารถจัดวันฉีดสารเคมีได้ โดยงดฉีดพ่นสารเคมีในวันที่ฉีดพ่นชีวภัณฑ์และก่อนการเก็บเกี่ยว
เสียงสะท้อนจากเกษตรกร

“คนเป็นมะเร็งเยอะ เราปลูกผัก เราก็อยากกินของที่ปลอดภัย” คุณระเบียบ เพชรแอง เกษตรกร ต.ด่านทับตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี บอกถึงความตั้งใจผลิตพืชผักปลอดภัย โดยเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด

ด้วยความชอบเรียนรู้และทดลอง ทำให้แปลงผักของคุณระเบียบเป็นพื้นที่ศึกษาของหน่วยงานหลายแห่ง  เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ได้เข้าร่วมทดลองแผนการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชสำหรับถั่วฝักยาวของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานกับการปลูกถั่วฝักยาว

“ฉีดชีวภัณฑ์ทุก 3 วัน เห็นผลนะ หนอนลดลง ใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ผล ต้องไม่ให้เจอแสงแดด เพราะเชื้อจะตาย ต้องฉีดช่วงกลางคืน มีความชื้น”

ชีวภัณฑ์อาจใช้ทั้งปริมาณและความถี่ที่มากกว่าสารเคมี แต่เมื่อแลกกับ “ความปลอดภัย” คุณระเบียบยังพร้อมที่จะลงทุนกับชีวภัณฑ์ “ต้นทุนอาจจะเยอะ แต่แลกกับความปลอดภัย ก็ยอม คนงานที่ฉีดปลอดภัย คนกินก็ปลอดภัย”

ขณะที่คุณสมบูรณ์ เพชรแอง สามีคุณระเบียบ เสริมว่า ชีวภัณฑ์ฉีดบ่อย แต่ไม่เป็นอันตราย และถ้าให้ผ่านระบบการให้น้ำ เช่น น้ำหยด สเปรย์หมอก ช่วยลดต้นทุนค่าแรงฉีดพ่นได้ นอกจากนี้การจัดการแปลงมีส่วนสำคัญต่อการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น การใช้พลาสติกคลุมแปลงช่วยป้องกันวัชพืช ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัด ลงทุนครั้งเดียวแต่ใช้ได้หลายรอบ

หลังจากร่วมทดลองแผนการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชสำหรับถั่วฝักยาวแล้ว คุณระเบียบ-คุณสมบูรณ์ ยังคงปฏิบัติตามปฏิทินการใช้ชีวภัณฑ์ในแปลงถั่วฝักยาว และต่อยอดทดลองใช้กับพืชผักชนิดอื่น เช่น ผักชีล้อม กะหล่ำปลี ด้วยเป้าหมาย “สร้างความปลอดภัยต่อทั้งคนปลูกและคนกินผัก”

# # #

จัดการศัตรูพืชใน “ถั่วฝักยาว” ด้วยชีวภัณฑ์แบบผสมผสาน*