คลิปวิดีโอย้อนหลัง
คำถาม-คำตอบจากเวทีเสวนา
Q: ปัจจัยใดที่ทำให้ชีวภัณฑ์ตายหรือไม่ได้ประสิทธิภาพ หลังจากฉีดพ่นไปแล้ว
A: อากาศร้อน แสงแดด การใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ที่เป็นชีวภัณฑ์นั้นๆ
Q: จำนวนสปอร์ชีวภัณฑ์แบบผงกับแบบสดแบบไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน
A: สปอร์ในชีวภัณฑ์แบบสดมีประสิทธิภาพจัดการกับศัตรูพืชมากกว่าแบบผงหรือแบบแห้ง แต่จะมีอายุสั้นกว่า ทนกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้น้อยกว่าแบบผง
Q: สารชีวภัณฑ์สามารถเป็นสารกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้หรือไม่
A: อาจจะส่งผลต่อมนุษย์ ถ้าสารชีวภัณฑ์นั้นเป็นสารสกัดหรือสารพิษที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อระบบในร่างกายมนุษย์ด้วย แต่ถ้าเป็นชีวภัณฑ์ของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีชีวิตและผ่านการตรวจสอบพิษวิทยาแล้ว ทั้งหมดไม่มีผลต่อมนุษย์
Q: สารชีวภัณฑ์กลุ่มจุลินทรีย์เป็นอันตรายต่อตัวห้ำ ตัวเบียนและผึ้งหรือไม่
A: การเลือกชนิดและสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์มาเพื่อใช้ในการจัดการศัตรูพืช จะต้องมีการทดสอบมาก่อนแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อ ตัวห้ำ ตัวเบียน ผึ้ง รวมถึงมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Q: เชื้อชีวภัณฑ์เหล่านี้สามารถขยายจำนวนก่อนใช้งานได้หรือไม่
A: หากสามารถขยายจำนวนก่อนใช้งานได้ ผู้ผลิตจะแจ้งไว้ให้ผู้ใช้ทราบ แต่ถ้าไม่แจ้งแสดงว่าไม่สามารถขยายจำนวนได้ ควรใช้ตามอัตราที่แนะนำ
Q: พื้นที่รอบข้างใช้สารเคมีสูง สวนที่ใช้ชีวภัณฑ์จะมีปัญหาหรือไม่
A: อาจจะมีปัญหาถ้าสวนรอบข้างใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ในชีวภัณฑ์นั้นๆ สารเคมีกำจัดแมลงส่วนใหญ่ไม่มีผลต่อเชื้อสาเหตุโรคพืช ในขณะที่สารกำจัดเชื้อสาเหตุโรคพืชหลายชนิดก็ไม่มีผลต่อแมลงศัตรูพืช
Q: มีโอกาสที่ศัตรูพืชหรือโรคพืชจะดื้อต่อชีวภัณฑ์หรือไม่
A: ศัตรูพืชจะไม่ดื้อต่อชีวภัณฑ์ที่เป็นจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิต แต่มีโอกาสดื้อถ้าใช้ชีวภัณฑ์ที่เป็นสารสกัด ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ของสารที่เป็นพิษต่อศัตรูพืชที่มีความจำเพาะเจาะจงสูง
Q: สารชีวภัณฑ์กำจัดโรคพืชสามารถใช้ร่วมกับสารเคมีกำจัดแมลงได้ทุกชนิด หรือสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงสามารถใช้ร่วมกับสารเคมีกำจัดโรคพืชได้ทุกชนิดหรือไม่
A: ใช้ร่วมกันไม่ได้ทุกชนิด ต้องศึกษารายละเอียดก่อนใช้ เนื่องจากจุลินทรีย์กำจัดแมลงบางชนิดอยู่ในกลุ่มเดียวกับจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืช เช่น ไตรโคเดอร์มาและเมธาไรเซียม เป็นเชื้อราที่สามารถถูกกำจัดได้ด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราชนิดเดียวกัน
Q: วิธีสังเกตชีวภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว หรือชีวภัณฑ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ (กรณีที่ไม่มีฉลากติดวันหมดอายุ)
A: มีสี กลิ่น เปลี่ยนไปจากเดิม หรือมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อนให้เห็น
Q: ชีวภัณฑ์สามารถปนเปื้อนเชื้อตัวอื่นได้หรือไม่ ถ้าปนเปื้อนได้ต้องอยู่ในเกณฑ์ระดับไหนถึงเป็นที่ยอมรับได้มากที่สุด
A: ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพต้องไม่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น หรือปนเปื้อนไม่ควรเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ในชีวภัณฑ์นั้น
Q: ส่งตรวจคุณภาพชีวภัณฑ์ได้ที่ไหนบ้าง
A: หน่วยงานบริการวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน
Q: ขอทราบแหล่งที่ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ด้านการจำหน่าย
A: กองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร
Q: ปัจจุบันมีชีวภัณฑ์จำหน่ายทางอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก จะมีวิธีการควบคุมอย่างไรให้ผู้ผลิตเหล่านั้นผลิตของที่มีคุณภาพออกมาขาย มีการกำกับดูแลและบทลงโทษผู้ผลิตที่ไม่ได้คุณภาพอย่างไร
A: เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจังและผู้ตรวจ (สารวัตรเกษตร) ก็ยังมีไม่มากพอ การควบคุมให้ผู้ผลิตผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมาขาย ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะการจะผลิตจุลินทรีย์ให้มีคุณภาพ ต้องมีสถานที่ผลิตที่สะอาด มีมาตรการกำจัดเชื้อปนเปื้อนอื่นๆ มีห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบความมีชีวิตของจุลินทรีย์ และเลือกใช้สายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่ผ่านงานวิจัยที่เชื่อถือได้โดยนักวิชาการ ศึกษาวิธีใช้เพื่อให้มีประสิทธิภาพควบคุมโรค เก็บรักษาได้เป็นเวลานาน โดยยังคงความมีชีวิตของจุลินทรีย์ไว้ หากผู้ผลิตมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับจุลินทรีย์ มีห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม และขึ้นทะเบียนกับกองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร ก็สามารถจะมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมาขายได้ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
Q: เนื่องจากกองวัตถุมีพิษยังไม่มีมาตรฐานตรวจสอบ Mycotoxin มีวิธีการช่วยเหลือหรือแนะนำอย่างไรได้บ้าง
A: ขอทราบข้อมูลหน่วยงานที่กองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร ให้การยอมรับว่ามีมาตรฐานการตรวจสอบที่เชื่อถือได้ แล้วนำผลตรวจไปยืนยันได้
Q: กฏหมายไทยให้ขึ้นทะเบียนได้เฉพาะจุลินทรีย์เดี่ยว แต่ของบริษัทเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ ลงพื้นที่ได้ผลดีมากแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ขอความช่วยเหลือและคำแนะนำเรื่องนี้
A: ต้องทำงานวิจัยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อประกอบการขึ้นทะเบียน โดยต้องมีแผนการทดลองและผลงานในเชิงวิชาการที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การใช้จุลินทรีย์หลายชนิดรวมกันให้ผลดีกว่าการใช้จุลินทรีย์เดี่ยวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
Q: การผลิตชีวภัณฑ์ (แบคทีเรีย, สารสกัดจากพืช) ถ้าต้องการนำไปใช้งานในสภาวะแปลงปลูกจริงต้องทดสอบคุณลักษณะอะไรบ้าง (นอกเหนือจากการทดสอบในห้องแล็บ)
A: ต้องวางแผนการทดลองให้มีทั้งกรรมวิธีที่ใช้และไม่ใช่ชีวภัณฑ์ เปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรเคยใช้อยู่ ในสภาพพื้นที่แปลงปลูกที่มีศัตรูพืชอยู่ (จะไม่มีปลูกเชื้อโรคหรือปล่อยศัตรูพืชเข้าไปในแปลงทดสอบ) ทุกกรรมวิธีต้องมีอย่างน้อย 3 ซ้ำ ทดสอบรูปแบบชีวภัณฑ์ อัตราและความถี่ในการใช้ ตรวจสอบผลหลังการใช้ในเรื่องความรุนแรง ความเสียหายของการเกิดโรคหรือการทำลายของศัตรูพืช แล้วนำไปวิเคราะห์ผลในเชิงสถิติ เพื่อสรุปเป็นคำแนะนำการใช้ที่ได้ผลดี
Q: สามารถใช้ชีวภัณฑ์สลับกับสารเคมีได้หรือไม่
A: ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของระบบการปลูกพืชว่าเป็นระบบ GAP หรืออินทรีย์ และดูชนิดของสารเคมีว่าไม่ทำอันตรายต่อจุลินทรีย์ในชีวภัณฑ์ด้วย
Q: ชีวภัณฑ์ต้องพ่นให้โดนตัวแมลงหรือพ่นดักให้แมลงมาโดนสาร
A: ต้องพ่นให้ชีวภัณฑ์ได้สัมผัสกับตัวแมลงจะโดยทางใดก็ได้
Q: ชีวภัณฑ์ต้องฉีดพ่นตอนเย็น แล้วพอตอนกลางวันของวันรุ่งขึ้น เชื้อจะตายหมดหรือไม่เมื่อโดนแดด
A: เชื้อจุลินทรีย์ส่วนที่โดนแดดจะตายเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในขณะพ่น จำเป็นต้องพ่นเข้าไปในทรงพุ่มหรือพ่นลงดิน เพื่อให้จุลินทรีย์บางส่วนยังคงเหลืออยู่พอที่จะจัดการกับศัตรูพืชได้
Q: การใส่น้ำยาจับใบมีผลต่อเชื้อหรือไม่
A: ถ้าใช้ตามอัตราแนะนำจะไม่มีผลต่อจุลินทรีย์ แต่ถ้าใช้เข้มข้นมากอาจจะมีผลบ้างเล็กน้อย
Q: แนะนำชีวภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราชั้นต่ำ ราดำ ราเขียว ราส้ม ราเมือกที่เข้าทำลายเห็ด
A: เคยมีงานทดลองที่ใช้ไตรโคเดอร์มาพ่นไปที่ดอกเห็ด สามารถลดการเข้าทำลายของเชื้อราเหล่านี้ได้ แต่ห้ามใช้ก่อนเห็ดออกดอก
Q: เชื้อแห้งสามารถเอามาขยายด้วยรำ/กากน้ำตาลได้หรือไม่
A: ขึ้นอยู่กับแนวคิดของแต่ละคน สำหรับกรณีที่ต้องการสปอร์เขียวของไตรโคเดอร์มาเป็นจำนวนมาก ไม่แนะนำให้ใช้วิธีขยายเชื้อในกากน้ำตาล เพราะจะได้สปอร์ของเชื้อปริมาณน้อยและมีแค่ที่ผิวหน้าเท่านั้นเนื่องจากเชื้อต้องการออกซิเจนในการเจริญ สามารถขยายด้วยรำได้แต่ก็ต้องระวังการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ เนื่องจากรำมีธาตุอาหารสูงเหมาะสำหรับเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด
Q: ถ้าผลิตเชื้อสดแล้วมีจุลินทรีย์อื่นปนสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่
A: ถ้าเห็นว่าเชื้อสดมีจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อน เช่น มีสีของสปอร์หรือกลิ่นเปลี่ยนไป ไม่ควรนำไปใช้เลย
Q: การใช้ชีวภัณฑ์มากไปจะส่งผลต่อพืชหรือไม่
A: อาจส่งผลกับพืชในระยะต้นกล้าหรือระยะที่เพิ่งงอกจากเมล็ด ซึ่งเป็นช่วงที่พืชอ่อนแอที่สุด แต่หากพืชสามารถปรับตัวให้เจริญได้แล้ว ชีวภัณฑ์จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อพืช แม้จะใช้ในปริมาณมาก
Q: ถ้าต้องการขยายไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรียจำนวนมากๆ มีวิธีลดต้นทุนแต่ผลิตได้ครั้งละมากๆ ต้องทำอย่างไร
A: เลือกใช้ผงหัวเชื้อที่มีคุณภาพ ขยายเชื้อบนปลายข้าวสารที่หุงสุกด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าหรือนึ่งในซึ้ง บรรจุใส่ในถุงพลาสติกทนร้อนในขณะที่ข้าวยังร้อน เมื่อข้าวเย็น จึงใส่หัวเชื้อ แล้วบ่มไว้ในสภาพห้องที่ ปลอดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่น มีแสงและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับเชื้อที่ต้องการเพาะเลี้ยง ศึกษาวิธีการขยายเชื้อและปฏิบัติตามวิธีการที่มีงานวิจัยสนับสนุนอย่างเคร่งครัด
Q: เคยขยายไตรโคเดอร์มาเอง ใช้หัวเชื้อที่โตบนเมล็ดข้าวฟ่าง แต่พบปัญหาราส้ม ราดำโตชนะไตรโคเดอร์มา จึงสงสัยว่าในเมื่อไตรโคเดอร์มาเป็นราที่ควบคุมราตัวอื่น แต่ทำไมกลายเป็นราตัวอื่นชนะได้
A: เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อราอื่นได้ ก็ต่อเมื่อได้มีโอกาสครอบครองพื้นที่บริเวณใกล้เคียงก่อนเชื้อราชนิดอื่น แล้วจึงใช้กลไกอื่นเข้ามาร่วมด้วย หากเชื้อราไตรโคเดอร์มาไปอยู่บนแหล่งอาหารที่ได้ถูกครอบครองด้วยเชื้อจุลินทรีย์อื่นที่เจริญได้รวดเร็วเช่นกันแล้ว จะไม่สามารถเจริญขึ้นมาให้เห็นได้ เช่นเดียวกับการจะควบคุมโรคพืช ถ้าให้โอกาสเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้ไปครอบครองพื้นที่บริเวณผิวของพืชก่อน ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าทำลายพืชได้
Q: ไตรโคเดอร์มาเชื้อแห้งเอามาขยายกับรำหรือกากน้ำตาล จะถือว่าเป็นเชื้อสดได้หรือไม่
A: ได้ เพราะความหมายของคำว่าเชื้อสด คือการที่เชื้อราไตรโคเดอร์มาสร้างสปอร์สีเขียว
Q: ไมคอร์ไรซ่าที่ขยายรากพืชกับไตรโคเดอร์มา ใช้ร่วมกันได้หรือไม่ ถ้าให้เลือกตัวใดตัวหนึ่ง อะไรจะเป็นประโยชน์กับพืชมากกว่ากัน
A: ใช้ร่วมกันได้ แต่ต้องมีลำดับก่อนหลังในการใช้ โดยใช้ไมคอร์ไรซ่าให้ไปเจริญอยู่ที่ส่วนรากของพืชก่อน แล้วจึงใช้ไตรโคเดอร์มาในบริเวณรอบๆรากพืชในภายหลัง เชื้อราทั้งสองชนิดให้ประโยชน์กับพืชที่แตกต่างกัน ไมคอร์ไรซ่าช่วยให้ธาตุฟอสฟอรัสกับพืช ในขณะที่ไตรโคเดอร์มาช่วยป้องกันระบบรากจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคในดิน
Q: เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถเพิ่มปริมาณในน้ำผสมน้ำตาลได้หรือไม่
A: เพิ่มปริมาณได้ แต่จะสร้างสปอร์ได้ไม่มากพอต่อการนำไปใช้เพื่อควบคุมโรคพืช และอาจมีน้ำตาลเหลือให้เชื้อโรคในแปลงใช้ได้ด้วย
Q: ไตรโคเดอร์มาขยายด้วยวิธีไหนถึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด
A: ไตรโคเดอร์มาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจะอยู่ในรูปของสปอร์สีเขียว สามารถขยายไตรโคเดอร์มาให้สร้างสปอร์สีเขียวได้ด้วยการใส่หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่มีคุณภาพบนเมล็ดธัญพืชที่ทำให้สุกแต่ไม่ร้อน และปราศจากการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น บ่มเชื้อไว้ในสภาพที่มีแสง (ไม่ตากแดด) และอุณหภูมิที่เหมาะสม (ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส) จนกระทั่งเชื้อราไตรโคเดอร์มาสร้างสปอร์สีเขียวที่แข็งแรงสมบูรณ์
Q: ไตรโคเดอร์มามีผลเสียกับพืชชนิดใดบ้างหรือไม่
A: ไม่มีผลเสียกับพืชชนิดใด แต่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตของดอกเห็ด ถ้ามีเชื้อราไตรโคเดอร์มาเข้าไปปนเปื้อนในก้อนเห็ดก่อนที่จะออกดอก เนื่องจากไตรโคเดอร์มาไปแย่งใช้อาหารกับเห็ด
Q: ไตรโคเดอร์มาสามารถใช้ป้องกันเชื้อราดำ ราส้มในก้อนเห็ดได้หรือไม่
A: เคยมีงานทดลองที่ใช้ไตรโคเดอร์มาพ่นไปที่ก้อนเห็ดที่มีเส้นใยเห็ดเจริญเต็มก้อนแล้ว สามารถลดการเข้าทำลายของเชื้อราอื่นๆได้ แต่ถ้าจะป้องกันเชื้อราอื่นโดยพ่นไตรโคเดอร์มาป้องกันตั้งแต่แรก เห็ดก็จะไม่สามารถเจริญได้เช่นกัน
Q: ไตรโคเดอร์มาน้ำเก็บได้นานหรือไม่
A: ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ขั้นตอนการผลิตที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ สารที่เติมลงไปในระหว่างการผลิตและอุณหภูมิที่เก็บรักษา
Q: ไตรโคเดอร์มาแบบน้ำ เกษตรกรสามารถผลิตเองได้หรือไม่
A: ไม่แนะนำให้เกษตรกรผลิตไตรโคเดอร์มาแบบน้ำเก็บไว้ใช้เอง ควรเก็บในรูปเชื้อสดไว้ในตู้เย็น เมื่อต้องการใช้จึงนำมาผสมน้ำตามอัตราแนะนำแล้วใช้เลยจะได้ผลดีกว่า เพราะโดยธรรมชาติของสปอร์ของเชื้อราพร้อมจะงอกเป็นเส้นใยเมื่อได้รับความชื้นสูงหรือการแช่อยู่ในน้ำ การนำเส้นใยของเชื้อราไปใช้จะให้ประสิทธิภาพควบคุมโรคค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเส้นใยมีความอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าการใช้สปอร์
Q: ไตรโคเดอร์มาสามารถใช้ป้องกันโรคราดำในลำไยได้หรือไม่
A: ยังไม่เคยทดลอง แต่จากหลักการการควบคุมโรคโดยการป้องกันก็คาดว่าสามารถทำได้
Q: ไตรโคเดอร์มาใช้กับเชื้อรารากเน่าโคนเน่าของพริกไทยได้หรือไม่
A: ได้ ไตรโคเดอร์มาสามารถใช้ควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคทางดินได้ทุกชนิดเป็นอย่างดี
Q: ถ้าใช้ผงที่ไม่ใช้เชื้อสดโดยผสมกับน้ำราดที่ก้นหลุมก่อนลงปลูกได้หรือไม่
A: ถ้าเป็นผงแบบพร้อมใช้ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ก็สามารถทำได้ตามคำแนะนำบนฉลาก แต่ถ้าเป็นผงแบบที่ใช้เป็นหัวเชื้อ ต้องขยายบนเมล็ดธัญพืช และรอให้เชื้อราสร้างสปอร์เป็นเชื้อสดก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ ไม่ควรนำผงหัวเชื้อไปผสมกับน้ำราดที่ก้นหลุมก่อนลงปลูก
Q: การใช้ไตรโคเดอร์มาฉีดพ่น ถ้าไม่ผสมสารจับใบ ใช้น้ำยาล้างจานแทนได้หรือไม่
A: ใช้ได้ ตามอัตราที่แนะนำ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
Q: การคลุกเมล็ดต้องใช้อัตราเท่าไร ถ้าใช้อัตรามากจะมีผลอย่างไร
A: แนะนำให้เตรียมเป็นเชื้อสดในรูปแบบน้ำก่อน ด้วยอัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม (หรือเชื้อน้ำ 1 ลิตร) ต่อน้ำสะอาด 400 ลิตร (ลดปริมาณเชื้อและน้ำลงตามปริมาณของเมล็ดที่จะปลูก) แช่เมล็ดไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนปลูก การใช้อัตราเข้มข้นมากจนเกินไปจะส่งผลต่อการงอก และการเจริญของต้นกล้าที่งอกมาจากเมล็ด ทำให้เมล็ดงอกช้าและต้นโตช้าในระยะแรก
Q: ไตรโคเดอร์มาใช้ผสมร่วมกับน้ำหมักชีวภาพ เช่น น้ำหมักปลาได้หรือไม่
A: ได้ เมื่อผสมร่วมกับน้ำหมักชีวภาพแล้ว ควรนำไปใช้พ่น รด ราด ทันที ไม่ควรหมักต่อหรือแช่รวมกันไว้นานเกินกว่า 3 ชั่วโมง
Q: การใช้ชีวพันธ์ุกลุ่มบาซิลลัสอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสเกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่
A: เนื่องจากบาซิลลัส มีกลไกการยับยั้งเชื้อสาเหตุโรคในหลายกลไก ทั้งการผลิตสารต้านจุลชีพหลายชนิด เอนไซม์ย่อยสลาย การเจริญแข่งขันกับเชื้อโรค ซึ่งไม่ใช้กลไกแบบเฉพาะเจาะจง ดังนั้นโอกาสในการเกิดเชื้อดื้อยาจึงน้อยมากหรือไม่มีเลย (ต่างจากการใช้สารเคมีหรือสารสกัดชีวภาพที่มีฤทธิ์เฉพาะเจาะจง) แต่หากกระบวนการผลิตชีวภัณฑ์ไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้แบคทีเรียบาซิลลัสมีประสิทธิภาพที่ด้อยลงหรือสูญเสียคุณภาพ จึงต้องเลือกใช้ชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หรือเก็บรักษาชีวภัณฑ์ในสภาพที่เหมาะสม
Q: BA สามารถเจริญเติบโตในน้ำได้หรือไม่ และใช้ร่วมกับไตโครเดอร์มาได้หรือไม่ (กรณีปลูกผักไฮโดรโพนิก)
A: BA (Bacillus amyloliquefaciens) สามารถคงสภาพในน้ำได้ แต่การเจริญและเพิ่มปริมาณได้นั้นจะต้องมีแหล่งสารอาหารที่เหมาะสม
ไม่แนะนำการใช้ร่วมกับไตรโคเดอร์มาในลักษณะการให้เชื้อเจริญร่วมกันในระยะเวลานาน เพราะแบคทีเรียบาซิลลัสจะผลิตสารยับยั้งและฆ่าไตรโคเดอร์มา (สามารถใช้ผสมในถังร่วมกันและรีบพ่นลงต้นพืชได้)
กรณีไฮโดรโปรนิกส์แนะนำให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหากต้องการใช้ป้องกันและควบคุมโรคเชื้อราที่ระบบราก แต่หากต้องการป้องกันหรือควบคุมโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น เหี่ยวเขียว (พริก มะเขือเทศ ที่ปลูกในวัสดุปลูกและให้น้ำและสารละลายปุ๋ยทางระบบน้ำหยด) ให้ใช้บาซิลลัส ส่วนการพ่นเพื่อควบคุมโรคทางใบสามารถแยกใช้หรือใช้ผสมและพ่นทางใบโดยเร็ว
Q: พ่น BA ไปแล้ว ป้องกันเชื้อโรคได้กี่วัน ต้องพ่นซ้ำห่างกันกี่วัน
A: โดยทั่วไปชีวภัณฑ์รวมทั้ง BA (Bacillus amyloliquefaciens) เมื่อพ่นทางใบแล้วจะมีรอบการใช้ทุก 5-7 วัน (ใช้แบบป้องกัน) หากพบการระบาดของโรคจะเพิ่มความถี่เป็นทุก 3 วัน ติดต่อกัน 3-5 ครั้ง แล้วค่อยเว้นระยะปกติหรือจนกว่าจะควบคุมการระบาดได้ การพ่นควรพ่นในช่วงหลังบ่ายที่มีแสงแดดอ่อนแล้วประมาณ 15.00 น. เป็นต้นไป และไม่ควรพ่นในช่วงหลังพระอาทิตย์ตกเพราะจะทำให้ความชื้นในทรงพุ่มสูงเสี่ยงต่อการพัฒนาการและการระบาดของโรค นอกจากนี้ต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมในการใช้ด้วย หากเป็นฤดูฝนควรพ่นหลังฝนหยุดตกและต้องไม่มีฝนตกลงมาหลังพ่นภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง
Q: BA BT BS สามารถใช้ร่วมกับฮอร์โมนไข่ หรือฮอร์โมนนมสดได้หรือไม่
A: ใช้ได้ ซึ่งในที่นี้หมายถึงใช้ผสมและพ่นไปพร้อมกัน
Q: พ่น BA ในใบหม่อนแล้ว เมื่อหนอนไหมกินใบหม่อน หนอนไหมจะตายหรือไม่
A: BA (Bacillus amyloliquefaciens) เป็นแบคทีเรียที่ไม่ผลิตโปรตีนพิษเหมือนบีที และไม่มีกลไกการทำลายหนอน จึงไม่มีผลกระทบต่อหนอนต่างๆ รวมทั้งหนอนไหมด้วย
Q: จะทำอย่างไรให้ BA BT BS อยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานขึ้น หรือต้องใช้ถี่แค่ไหน
A: โดยปกติแล้วแบคทีเรีย BA BT BS จากหน่วยงานที่มีมาตรฐานจะคัดแยกมาจากสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกัน และนำมาคัดเลือก ทดสอบประสิทธิภาพ เพิ่มปริมาณและพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์และทดสอบก่อนนำไปใช้ในสภาพแปลง การที่จะคงความมีชีวิตรอดของแบคทีเรียได้นานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และจะต้องจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การใช้ที่เหมาะสม (ความเข้มข้น ระยะเวลาในการพ่น) แนวทางการใช้ทางใบควรพ่นทั้งด้านบนและใต้ใบ สูตรผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้องส่งเสริมให้แบคทีเรียมีชีวิตบนใบพืชและเพิ่มปริมาณได้ในธรรมชาติโดยเฉพาะการใช้ทางดิน ดังนั้นการใช้ชีวภัณฑ์จึงควรเลือกใช้ที่มาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและใช้ตามคำแนะนำจะทำให้คงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน
Q: ถ้าพืชเป็นราสนิม สามารถใช้ BA ได้หรือไม่
A: ยังไม่มีการวิจัยที่เป็นทางการสำหรับ BA ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากราสนิม แต่มีข้อมูลจากการทดสอบในแปลงถั่วเหลือง ถั่วฝักยาวและข้าวโพด โดยประเมินผลการควบคุมโรคต่างๆ ในภาพรวม พบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคราสนิมได้เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ได้ใช้ BA ซึ่งมีแนวโน้มจากกลไกการชักนำความต้านทาน ทั้งนี้เนื่องจากราสนิมจะมีโครงสร้างการผลิตสปอร์ฝังในเนื้อเยื่อพืช (fruiting body) ที่เป็นข้อจำกัดของการใช้ BA ที่เซลล์และสารออกฤทธิ์ชีวภาพของ BA จะทำลายโครงสร้างของเชื้อราได้โดยตรง แนวทางการจัดการโรคราสนิมในพืชต่างๆ สามารถศึกษาได้จากคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร
Q: บิวเวอเรียกับเมตาไรเซียม แมลงจะดื้อยาเหมือนเคมีหรือไม่
A: ไม่ดื้อ จากการลงพื้นที่ทำแปลงทดสอบในพืชหลายชนิด หลังจากการใช้ชีวภัณฑ์กลุ่มราแมลงคือราบิวเวอเรียและเมตาไรเซียมต่อเนื่อง ไม่พบปัญหาการดื้อยาของแมลง แต่กลับกันยังพบข้อดีคือเมื่อมีการใช้ราบิวเวอเรียและเมตาไรเซียมต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ในแปลงไม้ผลที่อุณหภูมิและความชื้นสูงเหมาะสม จะพบการสะสมของราแมลงเหล่านี้ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถลดปริมาณและความถี่การฉีดพ่นชีวภัณฑ์เหล่านี้ลงได้
Q: ถ้ากรณีใช้กำจัดเชื้อราในดอกกัญชาจะมีผลต่อสารในดอกหรือไม่
A: ราบิวเวอเรียและราเมตาไรเซียมเป็นราที่ใช้กำจัดแมลง ไม่สามารถใช้กำจัดราได้ หากหมายถึงรากำจัดเชื้อราน่าจะหมายถึงราไตรโคเดอร์มา ซึ่งยังไม่พบรายงานว่าการใช้ราไตรโคเดอร์มามีผลต่อสารในดอกกัญชา
Q: เมตาไรเซียมใช้กับไรแดงในกัญชาได้หรือไม่
A: ใช้ได้ โดยราเมตาไรเซียมสายพันธุ์ BCC 4849 ของ สวทช. ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการใช้ควบคุมกำจัดไรแดงในกัญชง/กัญชา พบว่ามีประสิทธิภาพควบคุมไรแดงได้ดี อีกทั้งยังสามารถใช้ร่วมกับสารเคมีกำจัดไร Fenpyroximate ที่เจือจางความเข้มข้นลงจากปกติ 4 เท่า พบว่าช่วยเสริมฤทธิ์ทำให้ไรแดงตายได้เร็วขึ้น
Q: บิวเวอเรียกับเมตาไรเซียม เป็นราทำลายแมลงเหมือนกัน จะใช้ตัวไหนดีกว่ากัน
A: ขึ้นกับชนิดของแมลงศัตรูพืชที่พบ ราบิวเวอเรียใช้ได้ดีกับแมลงปากดูดเช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ฯลฯ ส่วนราเมตาไรเซียมใช้ได้ดีกับไรแดง แมลงปีกแข็ง เช่น ด้วงงวงชนิดต่างๆ รวมถึงแมลงปากดูดบางชนิด ทั้งนี้เกษตรกรควรมีความรู้จำแนกชนิดแมลงเบื้องต้น เพื่อเลือกใช้ชนิดชีวภัณฑ์ให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้หากพบปัญหาการเข้าทำลายจากแมลงศัตรูพืชหลายชนิดในคราวเดียว สามารถใช้ราบิวเวอเรียและเมตาไรเซียมโดยผสมร่วมกันเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ในวงกว้างขึ้น
Q: ชีวภัณฑ์ตัวไหนที่สามารถกำจัดบั่วกล้วยไม้
A: ราบิวเวอเรียและราเมตาไรเซียมสามารถใช้กำจัดบั่วกล้วยไม้ได้ดี
Q: ชีวภัณฑ์ตัวไหนใช้กำจัดเพลี้ยไฟและมีวิธีใช้อย่างไร
A: ชีวภัณฑ์ในกลุ่มราแมลง เช่น ราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม สามารถใช้ฉีดพ่นเพื่อควบคุมเพลี้ยไฟได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่าควบคุมได้ไม่ดีนัก สามารถใช้ราแมลงอีกตัว คือ ราแพซิโลมัยซิส (Paecilomyces lilacinus หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Purpureocillium lilacinum) ฉีดพ่นเพื่อควบคุมได้
Q: ชีวภัณฑ์กำจัดมดมีหรือไม่
A: ณ ขณะนี้ หน่วยวิจัยต่างๆยังไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดมด อย่างไรก็ตามในเชิงวิจัย มีราแมลงที่มีความจำเพาะต่อมดโดยตรง แต่เพาะเลี้ยงในระดับขยายขนาดได้ยาก จึงยังไม่พร้อมที่จะถ่ายทอดสำหรับการควบคุมกลุ่มมด
Q: ผักที่ปลูกพบปัญหาเพลี้ยแป้ง ถ้าผู้บริโภครับประทานผักนี้จะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่
A: โดยหลัก ควรทำความสะอาดผักโดยล้างน้ำให้ทั่ว เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและแมลงที่ติดอยู่ออก การทำผักให้สุกก็เป็นการทำลายตัวแมลงรวมทั้งจุลินทรีย์ที่อยู่ในตัวแมลงได้อีกด้วย ปกติเพลี้ยแป้งไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่รับประทานผักที่มีเพลี้ยแป้งเข้าไป ข้อมูลจากม. เกษตรศาสตร์ (https://thaifarmer.lib.ku.ac.th/question/6037f2e8dfcd7d2b53dd52a4#answer1) แนะนำว่า หากเกิดอาการแพ้ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
Q: ขอคำแนะนำการเลือกใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวเขียว (แบคทีเรีย) ในมะเขือเทศ
A: เชื้อก่อโรคเหี่ยวเขียวเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่ชื่อว่า Ralstonia solanacearum ป้องกันได้ดีโดยใช้แบคทีเรีย BA, BT, BS, Streptomyces หรือแบคทีรีโอฟาจ ซึ่งมีกลไกในการป้องกันหรือทำลายเชื้อก่อโรคนี้หลายประการเช่น การครอบครองพื้นที่แย่งสารอาหาร ผลิตสารปฏิชีวนะหรือเอนไซม์ กระตุ้นให้พืชต้านทานต่อเชื้อก่อโรค และเข้าอาศัยหรือทำลายเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้โดยตรง
Q: ถ้าใช้ชีวภัณฑ์กับมะพร้าวควรฉีดพ่นทางไหน
A: มะพร้าวมีแมลงศัตรูพืชหลายชนิด ดังนั้นการใช้ชีวภัณฑ์จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิด เช่น
– หากเป็นแมลงที่อยู่บนต้นมะพร้าว เช่น หนอนหัวดำมะพร้าว ใช้ชีวภัณฑ์ราบิวเวอเรียและบีที (Bacillus thuringiensis) ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม
– สำหรับแมลงพวกด้วง ที่มีระยะหนอนและดักแด้ในดิน เช่น ด้วงแรดมะพร้าว สามารถใช้กับดักแมลง โดยผสมราเมตาเซียมใส่ไว้ในกองปุ๋ย ดิน หรือท่อนมะพร้าว ที่มีหนอนด้วงอยู่ รดน้ำให้ชุ่มคลุมด้วยใบมะพร้าว เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นและป้องกันแสงแดด
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to DearFlip WordPress Flipbook Plugin Help documentation.