ทำแต่สิ่งเก่าๆ ที่สืบสานกันมาก็ได้แบบเดิม สิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและได้คุณภาพกว่า

“ผลใหญ่ หวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น” คือจุดเด่นของสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่ปลูกกันมากในหมู่ 5 ของต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ภายใต้ “กลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดบ้านสา” ที่มีพื้นที่ปลูกรวม 1,600 ไร่ เป็นพืชที่สร้างรายได้หลักให้ชาวบ้านสาร่วม 80 ครัวเรือน

“พื้นที่ตรงนี้ไม่ค่อยมีน้ำ สภาพแห้งแล้ง สับปะรดจึงเป็นพืชทางเลือกของชาวบ้าน โดยซื้อพันธุ์จากบ้านเสด็จมาลองปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่อยู่เหนือเขื่อนกิ่วลม ทั้งอากาศและลักษณะโครงสร้างดิน ทำให้สับปะรดบ้านสามีรสชาติที่ดีเด่น” ผศ.สันติ ช่างเจรจา สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา บอกเล่าภูมิหลังของสับปะรดบ้านสาที่มีต้นทุนที่ดีจากธรรมชาติ 

สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดลำปาง บ้านสาเป็นแหล่งปลูกใหญ่รองจากบ้านเสด็จ อ.เมือง ผลผลิตสับปะรดส่วนใหญ่ส่งเข้าโรงงานแปรรูปในพื้นที่และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ในช่วงปี พ.ศ.2560 ปริมาณผลผลิตสับปะรดล้นตลาด ราคาผลผลิตตกต่ำ ปรากฏเป็นภาพข่าวชาวบ้านเทสับปะรดกองเกลื่อนถนน

“ปีนั้นสับปะรดออกเยอะมาก โรงงานที่ประจวบฯ เขาก็รับจากในพื้นที่ของเขา เพราะใกล้ ทางนี้ก็ขายไม่ได้ ราคาเหลือ 50 สตางค์/กก.” บุญส่ง แต้มดี ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่สับปะรดบ้านสา เล่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน และนำมาสู่จุดเปลี่ยนการผลิตสับปะรดของพวกเขา เมื่อ สวทช. และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา ได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับราคาสับปะรด ตั้งแต่การผลิตให้ได้คุณภาพไปถึงการเพิ่มมูลค่าผลสด

การควบคุมสับปะรดให้ออกดอกนอกฤดู การผลิตภายใต้มาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP และการแปรรูป จึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรบ้านสาได้ร่วมเรียนรู้และลงมือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2563

วงรอบการปลูกสับปะรด 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อเนื่องได้ 3-4 ปี ผลผลิตในฤดูหรือสับปะรดปีจะออกมากช่วงเดือนมิถุนายน การควบคุมให้สับปะรดออกดอกช่วงนอกฤดูจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดและยังทำให้มีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดปี

“เกษตรกรจะฟันต้นทิ้งหลังเก็บเกี่ยว หน่อจะเจริญและพัฒนาเป็นต้นใหม่ขึ้นมาทดแทน ต้นสับปะรดที่พร้อมสามารถกระตุ้นให้ออกดอกได้โดยหยอดหรือพ่นด้วยสารกลุ่มเอทิลีน (Ethylene) เป็นฮอร์โมนพืชที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับอุตสาหกรรมบ่มกล้วย ไม่มีผลตกค้าง เพราะคุณสมบัติของสารอยู่ในรูปแก๊ส ใช้ในความเข้มข้นต่ำ กระตุ้นเพียงครั้งเดียว หลังหยอดสารแล้วชาวบ้านจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลย ปกติในแปลงหนึ่ง การออกดอกมักจะไม่พร้อมกัน อยู่ที่ความพร้อมของต้นสับปะรด การทดลองคัดหน่อที่มีอายุและขนาดใกล้เคียงกันจะช่วยให้การออกดอกใกล้เคียงกัน และจากที่ชาวบ้านเคยลองคัดและปลูกหน่อแก่ขนาดใหญ่ หลังปลูก 6 เดือน ก็สามารถกระตุ้นให้ต้นสับปะรดออกดอกได้ จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกใช้เวลา 8-12 เดือนจึงจะกระตุ้นดอกได้ ถ้ารวมปลูกจนถึงเก็บผลผลิตใช้เวลาถึง 1.5 ปี”  อาจารย์สันติ อธิบายผลของการจัดการควบคุมให้สับปะรดมีผลผลิตนอกฤดูโดยใช้สารเร่งดอก ทำให้เกษตรกรกระจายการผลิตได้มากกว่า 2 รอบการผลิต มีผลผลิตไว้จำหน่ายทั้งปี และมีรายได้เพิ่มขึ้น 9,000-15,000 บาท/คน/ปี

สับปะรดมีคุณภาพได้รับรองมาตรฐาน GAP เป็นความรู้ใหม่ที่เกษตรกรบ้านสาได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต เชื่อมั่นในผลผลิตสับปะรดที่ปลอดภัย ใส่ใจและปรับใช้การจัดการแปลงที่ละเอียดแบบทำสวน สำรวจดูแปลง  ใช้พลาสติกคลุมดินช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช วางระบบน้ำหยดเพื่อรักษาคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น แม้ปลูกในพื้นที่ไม่มากก็ตาม  

“เราก็อยากลองทำตามที่อาจารย์สอน ไม่อยากใช้ยาฆ่าหญ้า มันมีผลต่อสุขภาพ ถ้าคลุมแปลงแล้วจะมีความชื้นในดินด้วย พอลองแล้วได้ผล ต้นทุนเพิ่มบางส่วน แต่สับปะรดงามกว่า และพอดูแลตามที่อาจารย์แนะนำ ลองทำ1 ไร่ มี 4,000 ต้น ได้หัวละกิโลกว่า ปีนั้นราคาขายผลสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ขายได้ 90,000-100,000 บาท” เปียทิพย์ เตรียมแรง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชมแปรรูปสับปะรดบ้านสา เล่าถึงการหันมาใช้พลาสติกคลุมแปลงและการดูแลใส่ใจที่มากขึ้น เช่นเดียวกับ ปรีดา บุญเตี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ที่ได้ทดลองปลูกเปรียบเทียบระหว่างแปลงที่ใช้พลาสติกคลุมดินกับแปลงที่ไม่ใช้ เห็นความต่างชัดเจน แปลงที่ใช้พลาสติกคลุมดิน ต้นโตเร็ว สมบูรณ์ จัดการแปลงง่ายและประหยัดยาฆ่าหญ้า “บางครั้งต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำแต่สิ่งเก่าๆ ที่สืบสานกันมาก็ได้แบบเดิม สิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและได้คุณภาพกว่า”

เมื่อน้ำหนักหัวมีผลต่อรายได้ การขายผลสดที่มีคุณภาพจึงเป็นช่องทางที่จะทำให้มีรายได้มากขึ้น น้ำหนักต่อหัวสูงสุดที่เกษตรกรบ้านสาเคยปลูกได้ถึง 5 กิโลกรัม และด้วยที่ตั้งชุมชนบ้านสาเป็นหน้าด่านของอำเภอแจ้ห่ม มี “ตลาดบ้านสา” ที่ผู้ใช้เส้นทางรู้จักดี ที่นี่จึงกลายเป็นจุดซื้อขายสับปะรดทั้งปลีกและส่ง ผลผลิตจากกลุ่มฯ ส่งขายที่ตลาดวันละประมาณ 1 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยราคาผลสดเฉลี่ยขายส่งกิโลกรัมละ 7 บาท ขายปลีกกิโลกรัมละ 15 บาท แต่ถ้าปอกขายราคา 50 บาท/หัว (ราคาปรับเปลี่ยนตามช่วงเวลาและแหล่งจำหน่าย)

ด้วยแนวทางการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรผลิตในระบบ GAP ไม่เพียงการันตีความปลอดภัยของผลผลิตสด แต่ยังเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้สินค้าแปรรูปของกลุ่มฯ ด้วย ทั้งสับปะรดกวนและผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง (spread) ซึ่งได้รับมาตรฐาน อย. แล้ว และยังเตรียมต่อยอดพัฒนาเป็นน้ำสับปะรดพร้อมดื่ม ไซรัป น้ำส้มสายชูหมัก และสับปะรดฟรีดดรายน์ 

“ถ้าเอาของเหลือมาแปรรูป แล้วจะได้ของดีๆ ให้คนกินได้อย่างไร” เป็นคำตอบจากสมาชิกกลุ่มแปรรูปฯ ดังนั้นผลสดคุณภาพจากแปลงจึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่พวกเขาตั้งใจนำมาใช้ โดยประยุกต์ใช้อาคารแปรรูปสัตว์น้ำที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจากความอนุเคราะห์ของหน่วยงานท้องถิ่น ให้เป็นสถานที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ภายใต้กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน อย. “เอาของดีมาแปรรูป ขายได้ราคาดีกว่าผลสด ทำน้อยแต่ได้มาก” จึงเป็นผลลัพธ์จากความตั้งใจนี้

จากภาพสับปะรดไร้ราคากองเกลื่อนบนถนน มาวันนี้วิถีการผลิตด้วยความรู้และความใส่ใจทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่ได้ทั้งคุณภาพและความปลอดภัย กลายเป็นจุดขายให้สับปะรดบ้านสา ยกระดับราคาสินค้า รายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก “กลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดบ้านสา” นำไปสู่การเกิดขึ้นของ “สถาบันการเรียนรู้สับปะรดบ้านสา” ศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี โดยมีแปลงสาธิตการผลิตสับปะรดมาตรฐาน GAP และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรดที่พร้อมเป็นจุดเรียนรู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดทั้งในและนอกพื้นที่บ้านสา

# # #

สวทช. และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา ร่วมดำเนินโครงการกระบวนการขยายผลความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับราคาสับปะรด ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โดยบูรณาการความร่วมมือกับเทศบาลตำบลบ้านสา สำนักงานเกษตรอำเภอแจ้ห่ม สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง แก้ปัญหาราคาผลผลิตสับปะรดสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของจังหวัดลำปางด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปและการตลาดสับปะรด

กลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดบ้านสา
ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
โทรศัพท์ 093 2202787

(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565)

“สับปะรดบ้านสา” ผลผลิตคุณภาพ-สร้างมูลค่า ด้วยความรู้-ความใส่ใจ